แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าคำฟ้องของโจทก์สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
คำฟ้องของโจทก์มีสารสำคัญแต่เพียงว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย หลังจากเช็คถึงกำหนดผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร และธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้นโจทก์มิได้กล่าวถึงการกระทำอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3 อนุมาตรา (1) ถึง (5) แต่ประการใด ถือได้ว่าโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 901/2522)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาท่ายาง 3 ฉบับ คือ ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2521 ลงวันที่ 25สิงหาคม 2521 และลงวันที่ 25 กันยายน 2521 สั่งจ่ายเงินฉบับละ47,000 บาท ชำระหนี้ให้แก่บริษัทบางจากมอร์เตอร์ส จำกัด วันที่ 27พฤศจิกายน 2521 นายวิชัย สุรพงษ์วนิชกุล ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทดังกล่าวให้นำเช็คทั้ง 3 ฉบับไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาท่ายาง แต่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับในวันเดียวกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกกรรมละ 4 เดือน รวม 3 กรรม จำคุก 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า คำฟ้องของโจทก์สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหานี้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497ต้องเป็นการกระทำดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 อนุมาตรา (1) ถึง (5)ซึ่งแต่ละอนุมาตรามีองค์ประกอบความผิดอยู่ในตัว แต่คำฟ้องของโจทก์มีสารสำคัญแต่เพียงว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้แก่ผู้เสียหายหลังจากเช็คถึงกำหนดนายวิชัยผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้น โจทก์มิได้กล่าวถึงการกระทำอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 3 อนุมาตรา (1) ถึง (5) แต่ประการใด ถือได้ว่าโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 901/2522)
พิพากษายืน