คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6163/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่2เป็นผู้จัดการนำเรือฉลอมไปขนถ่ายสินค้าช่วงจากเกาะสีชังไปยังท่าเรือกรุงเทพเพื่อนำสินค้ามอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ปลายทางเมื่อจำเลยที่2จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทมีวัตถุประสงค์ทางการค้าเกี่ยวกับกิจการขนส่งลำเลียงหรือขนถ่ายสินค้าและหากเรือเดินทะเลที่ขนส่งสินค้ามาจากต่างประเทศมีระวางว่างจำเลยที่2สามารถรับของระวางและเรียกเก็บค่าระวางได้ทันทีจำเลยที่2จึงเป็นบุคคลรับขนส่งของเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติการที่จำเลยที่2ขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเลที่เกาะสีชังไปยังจุดหมายปลายทางที่กรุงเทพมหานครเป็นการทำหน้าที่ขนส่งทอดหนึ่งในเส้นทางขนส่งทั้งหมดจำเลยที่2จึงเป็นผู้ขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเลแม้สินค้านั้นจะสูญหายและบุบสลายในเรือเดินทะเลผู้ขนส่งหลายทอดทุกคนจะต้องรับผิดร่วมกันจำเลยที่2ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ เรือเดินทะเลเข้าเทียบที่เกาะสีชังเมื่อวันที่21พฤศจิกายน2534หลังจากตรวจสอบสินค้าแล้วต้องลำเลียงไปที่กรุงเทพมหานครทำพิธีการศุลกากรและท่าเรือต้องได้รับอนุญาตปล่อยสินค้าจึงจะรับได้โดยได้สั่งปล่อยสินค้าเมื่อวันที่29พฤศจิกายน2534ถือว่าวันสั่งปล่อยสินค้าเป็นวันส่งมอบโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่23พฤศจิกายน2535ยังไม่พ้นกำหนด1ปีนับแต่ส่งมอบฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการรับประกันภัยทุกประเภทจำเลยทั้งสองประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทางทะเล ร่วมกันรับขนของทางทะเลโดยใช้เรืออเล็กซานเดอร์ส ยูนิตี้ เมื่อวันที่ 30 กันยายน2534 โจทก์รับประกันภัยกระดาษพิมพ์หนังสือพิมพ์ 1,555 ม้วนที่บริษัท ท. ศีวนาสณฑ์ จำกัด ผู้เอาประกันภัยสั่งซื้อจากบริษัทซิลเวเนีย รีซอสเซส อิงค์ จำกัด และผู้ขายได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าจากเมืองควรเบค ประเทศแคนาดา มายังประเทศไทย โดยเรือเดินทะเลชื่ออเล็กซานเดอร์ส ยูนิตี้ นายเรือรับสินค้าแล้วออกใบตราส่งให้แก่ผู้ขาย ผู้ขายได้โอนกรรมสิทธิ์ในสินค้ากระดาษหนังสือพิมพ์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อวันที่21 พฤศจิกายน 2534 เรืออเล็กซานเดอร์ส ยูนิตี้ เดินทางถึงท่าเรือเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี จำเลยที่ 2 จัดหาเรือฉลอมขนถ่ายสินค้าและส่งมอบแก่ผู้เอาประกันภัยที่กรุงเทพมหานครตามใบตราส่งแต่กระดาษหนังสือพิมพ์สูญหายไป 8 ม้วน น้ำหนัก 6,198.96 กิโลกรัมและเปียกน้ำฉีกขาดอีก 43,085.06 กิโลกรัม รวมเสียหายทั้งสิ้น 49,284.02 กิโลกรัม เป็นเงิน 541,891.11 บาท ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างอยู่ในความครอบครองดูแลและขนส่งของจำเลยทั้งสองซึ่งร่วมกันรับจ้างขนส่ง จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้เอาประกันภัย โจทก์ได้ใช้ค่าเสียหาย 541,981.11 บาทแก่ผู้เอาประกันภัยแล้วเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2535 โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยและทวงถามให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน572,983.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 541,891.11 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งทางทะเล มีหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ขนส่งเกี่ยวกับพิธีการเข้าเมืองพิธีการศุลกากร การนำร่อง การเข้าท่าและออกจากท่า การบรรทุกขนถ่ายของขึ้นเรือและลงเรือ หรือการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่ง มิได้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าเป็นปกติธุระ และไม่เป็นผู้ร่วมขนส่งทางทะเลกับจำเลยที่ 1ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน572,983.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน541,891.11 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าบริษัทท.ศรีวนาสณฑ์ จำกัด ได้สั่งซื้อกระดาษหนังสือพิมพ์จำนวน1,555 ม้วน จากบริษัทซิลเวเนีย รีซอสเซส อิงค์ จำกัดประเทศแคนาดา เมื่อตกลงซื้อขายแล้วบริษัทซิลเวนีย รีซอสเซส อิงค์ จำกัด ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1เป็นผู้ขนส่งสินค้าให้แก่บริษัท ท.ศรีวนาสณฑ์ จำกัดที่กรุงเทพมหานคร โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลในการขนส่งสินค้าจากบริษัท ท.ศรีวนาสณฑ์ จำกัด เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน2534 เรืออเล็กซานเดอร์ส ยูนิตี้ บรรทุกสินค้าไปถึงเกาะสีชังเนื่องจากเป็นเรือขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าเรือกรุงเทพไม่ได้ต้องใช้เรือฉลอมขนถ่ายสินค้าจากเรืออเล็กซานเดอร์ส ยูนิตี้ที่เกาะสีชังลงเรือฉลอมไปยังท่าเรือกรุงเทพ ระหว่างการขนถ่ายสินค้านั้น โจทก์ได้มอบหมายให้บริษัทยูไนเต็ดเซอร์เวย์เยอร์แอนด์แอดจัสเตอร์สจำกัด เป็นผู้ตรวจสอบสภาพของสินค้าที่มาถึง ผลการตรวจสอบพบว่าสินค้าที่อยู่ในระวางเรืออเล็กซานเดอร์ส ยูนิตี้ ขาดหายไป 8 ม้วนเปียกน้ำและฉีกขาดอีก 139 ม้วน รวมค่าเสียหายเป็นเงิน541,891.11 บาท โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนนี้ให้แก่บริษัทท.ศรีวนาสณฑ์ จำกัด ผู้รับตราส่งแล้ว ขอรับช่วงสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนที่ใช้ไปจากจำเลยทั้งสอง
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกมีว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมขนส่งและร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การขนส่งสินค้ารายนี้เริ่มจากต้นทางที่ประเทศแคนาดาสิ้นสุดปลายทางที่กรุงเทพมหานคร แม้เรืออเล็กซานเดอร์ส ยูนิตี้ เดินทางไปถึงเกาะสีชังมีการตรวจพบสินค้าสูญหายและบุบสลายอยู่ในเรืออเล็กซานเดอร์ส ยูนิตี้ก็ตาม แต่เส้นทางขนส่งยังไม่สิ้นสุด จะบรรลุผลต่อเมื่อสินค้าไปถึงมือผู้ตราส่งที่ท่าเรือกรุงเทพ โดยขนส่งทางเรือฉลอมอีกทอดหนึ่งได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างผู้ควบคุมการขนถ่ายสินค้าเมื่อขนถ่ายสินค้าเสร็จแล้วเจ้าของเรือฉลอมจะออกใบเสร็จรับเงินค่าจนถ่ายสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการนำเรือฉลอมไปขนถ่ายสินค้าช่วงจากเกาะสีชังไปยังท่าเรือกรุงเทพ เพื่อนำสินค้ามอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ปลายทาง เมื่อจำเลยที่ 2 จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทมีวัตถุประสงค์ทางการค้าเกี่ยวกับกิจการขนส่ง ลำเลียงหรือขนถ่ายสินค้าและได้ความต่อไปว่าหากเรืออเล็กซานเดอร์ส ยูนิตี้ มีระวางว่าง จำเลยที่ 2สามารถรับจองระวางและเรียกเก็บค่าระวางได้ทันที จำเลยที่ 2จึงเป็นบุคคลรับขนส่งของเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ การที่จำเลยที่ 2 ขนถ่ายสินค้าจากเกาะสีชังไปยังจุดหมายปลายทางที่กรุงเทพมหานคร เป็นการทำหน้าที่ขนส่งทอดหนึ่งในเส้นทางขนส่งทั้งหมดจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเล แม้สินค้านั้นจะสูญหายและบุบสลายในเรืออเล็กซานเดิร์ส ยูนิตี้ ผู้ขนส่งหลายทอดทุกคนจะต้องรับผิดร่วมกันจำเลยที่ 2 ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อหลังมีว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ได้ความว่าเรืออเล็กซานเดอร์ส ยูนิตี้ เข้าเทียบที่เกาะสีชังเมื่อวันที่21 พฤศจิกายน 2534 หลังจากตรวจสอบสินค้าแล้ว ต้องลำเลียงไปที่กรุงเทพมหานคร ทำพิธีการศุลกากรและท่าเรือ ต้องได้รับอนุญาตปล่อยสินค้าจึงจะรับได้ ปรากฏตามใบปล่อยสินค้าท่าเรือเอกสารหมาย จ.16 ว่า ได้สั่งปล่อยสินค้าเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน2534 ถือว่าวันสั่งปล่อยสินค้าเป็นวันส่งมอบ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2535 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่ส่งมอบฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share