แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เงื่อนไขในสัมปทานทำไม้หวงห้ามกำหนดให้โจทก์ผู้รับสัมปทานต้องปลูกป่าและบำรุงป่าที่ได้รับสัมปทานทำไม้ด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์โดยโจทก์จะต้องนำเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าและบำรุงป่าในอัตราที่ทางราชการกำหนดไปฝากไว้ที่ธนาคารแล้วนำสมุดฝากเงินไปมอบให้ป่าไม้จังหวัดจำเลยที่4ยึดถือไว้ส่วนการขอรับสมุดฝากเงินทุกครั้งโจทก์ต้องเสนอแผนการปฏิบัติงานปลูกป่าให้ป่าไม้เขตจำเลยที่3ทราบเมื่อได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่3แล้วจึงจะมีสิทธิขอรับสมุดเงินฝากไปเบิกเงินจากธนาคารเพื่อนำไปใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทนตามแผนงานที่เสนอไว้และภายหลังจากเบิกเงินแล้วโจทก์ยังต้องนำสมุดฝากเงินไปมอบให้จำเลยที่4เก็บรักษาไว้ตามเดิมอีกการฝากเงินของโจทก์จึงเป็นการฝากเพื่อนำไปใช้จ่ายปลูกป่าและบำรุงป่าทดแทนป่าที่โจทก์ได้ทำไม้ไปแล้วและโจทก์จะถอนเงินไปได้เฉพาะเพื่อเอาไปปลูกป่าและบำรุงป่าตามที่จำเลยที่3เห็นชอบเท่านั้นตราบใดที่โจทก์ยังมีภาระหน้าที่จะต้องปลูกป่าและบำรุงป่าทดแทนให้กรมป่าไม้จำเลยที่3จำเลยที่4ย่อมมีสิทธิที่จะรักษาสมุดฝากเงินของโจทก์ไว้ตามเงื่อนไขดังกล่าวแม้ในระหว่างอายุสัมปทานทำไม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ได้มีคำสั่งให้สัมปทานการทำไม้หวงห้ามทุกชนิดสิ้นสุดลงก็มีผลเพียงทำให้สิทธิที่โจทก์จะทำไม้ต่อไปภายในอายุสัมปทานสิ้นสุดลงเท่านั้นแต่โจทก์ยังมีภาระหน้าที่จะต้องปลูกป่าและบำรุงป่าทดแทนในส่วนที่โจทก์ได้ทำไม้ไปแล้วก่อนเวลาสัมปทานจะสิ้นสุดลงโดยเบิกค่าใช้จ่ายเงินในส่วนที่โจทก์ฝากธนาคารไว้เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัมปทานให้ครบถ้วนจำเลยที่4จึงมีสิทธิที่จะเก็บรักษาสมุดฝากเงินของโจทก์ไว้ตามเงื่อนไขดังกล่าวจำเลยที่1ไม่ต้องคืนสมุดฝากเงินให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานี และจำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดระนองโจทก์ได้รับสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สัก ซึ่งรัฐบาลออกให้โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในนามของรัฐบาลเป็นผู้ให้สัมปทาน และลงนามเป็นคู่สัญญากับโจทก์ รวม6 สัมปทาน เป็นการทำไม้ในเขตจังหวัดระนองทั้งหมดและถูกเลิกไป1 สัมปทาน เมื่อ พ.ศ. 2524 คงเหลืออยู่ 5 สัมปทาน คือสัมปทานฉบับที่ 177/2516, 178/2516, 147/2516, 148/2516และ 149/2516 ทุกสัมปทานมีกำหนดระยะเวลา 30 ปี สิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 30 กันยายน 2546 ตามข้อกำหนดในสัมปทานแต่ละฉบับนอกจากจะได้สิทธิในการทำไม้แล้ว ตลอดระยะเวลาในสัมปทานโจทก์ยังต้องมีหน้าที่ปลูกต้นไม้ บำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกและที่ขึ้นอยู่แล้วในป่าสัมปทาน และบำรุงรักษาป่าสัมปทานด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์เอง ตามวิธีการที่จำเลยที่ 1 กำหนดโดยการนำเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ในนามของโจทก์ ส่วนสมุดเงินฝากของธนาคารนั้นเก็บรักษาไว้ที่จำเลยที่ 4 โจทก์นำเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์รวม 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขาระนอง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาระนอง และธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาระนอง โดยเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ในนามของโจทก์ การฝากและถอนเงินจากบัญชีทุกครั้งโจทก์จะนำสมุดเงินฝากซึ่งเก็บรักษาอยู่ที่จำเลยที่ 4 ทั้งหมดไปดำเนินการเมื่อเสร็จแล้วจะคืนกลับให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้เก็บรักษาไว้ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2531 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งทางวิทยุในนามของจำเลยที่ 1 แจ้งไปยังจำเลยที่ 3 สั่งให้โจทก์หยุดการทำไม้ในป่าสัมปทานที่เหลืออยู่ทั้งหมดเป็นการชั่วคราว และต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2531 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 1/2531 สั่งให้ผู้รับสัมปทานทำไม้หวงห้ามทุกชนิด (ยกเว้นสัมปทานป่าชายเลน) ในเขตจังหวัดภาคใต้หยุดการทำไม้ จากคำสั่งดังกล่าวเป็นผลให้โจทก์ต้องหยุดการทำไม้ในป่าสัมปทานที่เหลืออยู่ทั้งหมด สัมปทานดังกล่าวผู้ให้สัมปทานคือรัฐบาล โจทก์ถือว่าผู้ให้สัมปทานซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา จึงมีหนังสือบอกเลิกสัมปทานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามหนังสือของโจทก์ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2531จากนั้นโจทก์ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปลูกและบำรุงป่าโดยใช้ค่าใช้จ่ายของโจทก์ตามเงื่อนไขในสัมปทานอีกต่อไป เงินที่โจทก์ฝากไว้กับธนาคารเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โจทก์มีสิทธิที่จะเบิกเงินดังกล่าวทั้งหมดไปใช้จ่ายเพื่อดำเนินธุรกิจประเภทอื่นตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ต่อไป เมื่อวันที่10 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้โจทก์มอบเงินในบัญชีดังกล่าวทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่แล้วว่าเงินฝากดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 จงใจกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 สั่งให้โจทก์มอบเงินผ่านจำเลยที่ 3 โจทก์จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4โต้แย้งสิทธิของโจทก์และปฏิเสธที่จะส่งมอบเงินดังกล่าวกับขอให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาสมุดเงินฝากของโจทก์ คืนสมุดเงินฝากดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับหนังสือจากโจทก์แล้ว แต่ไม่ยอมส่งมอบคืนให้ และจำเลยทั้งหมดเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ทำให้โจทก์ไม่สามารถเบิกเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จากธนาคารได้ ยอดเงินฝากในธนาคารทั้งสามแห่งของโจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 46,564,852.60 บาท ขอให้สั่งห้ามมิให้จำเลยทั้งหมดสอดเข้ามาเกี่ยวข้องกับเงินฝากในธนาคารตามฟ้องของโจทก์ และบังคับให้จำเลยส่งมอบสมุดเงินฝากจำนวน 5 เล่ม(5 บัญชี) คืนโจทก์ ให้จำเลยร่วมกันหรือแทนกันเสียค่าดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 46,564,852.60 บาทแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะได้รับเงินคืน
จำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า การปฏิบัติเกี่ยวกับเงินฝากของโจทก์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าและบำรุงป่าตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องนั้น มีรายละเอียดในการปฏิบัติอยู่ในบันทึกต่อท้ายสัมปทานของโจทก์ทุกฉบับซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัมปทานด้วย การปลูกป่าและบำรุงป่าดังกล่าวเป็นหน้าที่ของโจทก์ซึ่งระบุไว้ในสัมปทาน นับตั้งแต่โจทก์ได้รับสัมปทานการทำไม้ดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังมิได้ปลูกป่าและบำรุงป่าให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขในสัมปทาน จึงเป็นหน้าที่โจทก์ที่จะต้องปลูกป่าและบำรุงป่าต่อไปอีกให้ครบถ้วน แม้ว่าสัมปทานจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตามค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าและบำรุงป่าที่โจทก์ฝากไว้ โจทก์จะนำไปใช้ได้เฉพาะเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าและบำรุงป่าตามเงื่อนไขในสัมปทานเท่านั้น จะนำไปใช้จ่ายผิดจากวัตถุประสงค์ดังกล่าวโดยพลการไม่ได้ เงินดังกล่าวจึงมิใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยไม่ต้องส่งมอบสมุดเงินฝากคืนให้โจทก์ การลงชื่อในสัมปทานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นเป็นการกระทำในนามของรัฐบาลโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484ส่วนโจทก์ลงนามในฐานะผู้รับสัมปทานมิใช่คู่สัญญา สัมปทานการทำไม้ดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาทางแพ่ง การที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้โจทก์หยุดการทำไมในป่าสัมปทานเป็นการชั่วคราว และต่อมามีคำสั่งนายกรัฐมนตรีสั่งให้ผู้รับสัมปทานหยุดการทำไม้ในเขตจังหวัดภาคใต้นั้น ก็เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอันมีสาเหตุจากการตัดไม้ทำลายป่าและเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในภาคใต้ เป็นอำนาจของรัฐบาลในฐานะผู้ให้สัมปทานที่จะสั่งได้โดยชอบ ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อาศัยอำนาจตามกฎหมายมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2532 ให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามทุกชนิด(ยกเว้นสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน) สิ้นสุดลง ซึ่งเป็นคำสั่งโดยชอบการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ตามฟ้องไม่มีผลแต่อย่างใด เมื่อสัมปทานของโจทก์สิ้นสุดลงและโจทก์ไม่ได้ปลูกป่าและบำรุงป่าตามเงื่อนไขในสัมปทานอีกต่อไป โจทก์มีหน้าที่ต้องออกค่าใช้จ่ายเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปลูกป่าและบำรุงป่าแทน เงินฝากของโจทก์ดังกล่าวจึงต้องนำมาเก็บและรักษาไว้เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการแทนให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขในสัมปทาน การที่จำเลยที่ 2มีคำสั่งให้โจทก์มอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ผ่านจำเลยที่ 3 การที่จำเลยที 4 ไม่ยอมส่งสมุดเงินฝากคืนให้โจทก์ จึงเป็นการปฏิบัติโดยชอบ เงินฝากทั้งหมดเมื่อยังไม่ได้ถอนออก ธนาคารย่อมคิดดอกเบี้ยให้ จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดเสียค่าดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่โจทก์อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการให้โจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากตามคำฟ้องของโจทก์เฉพาะในส่วนที่เกินจากจำนวน32,518,650.40 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4
โจทก์ และ จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ได้รับสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สักในเขตพื้นที่จังหวัดระนองรวม 5 สัมปทาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ออกสัมปทานให้ในนามของรัฐบาล ทุกสัมปทานมีกำหนดระยะเวลา30 ปี และสิ้นอายุสัมปทานในวันที่ 30 กันยายน 2546 ต่อมาวันที่17 มกราคม 2532 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจแห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พ.ศ. 2532 มีคำสั่งให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามทุกชนิด (ยกเว้นสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน)ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ทุกสัมปทานสิ้นสุดทั้งแปลงคำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้สิทธิในการทำไม้ทั้งห้าสัมปทานของโจทก์สิ้นสุดลง ในระหว่างอายุสัมปทาน โจทก์ได้ฝากเงินในนามของโจทก์ไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ในจังหวัดระนอง 3 แห่ง รวม 5 บัญชีแล้วนำสมุดฝากเงินทั้งหมดไปให้จำเลยที่ 4 เก็บรักษาไว้ภายหลังจากที่สัมปทานทำไม้ของโจทก์สิ้นสุดลงดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1ไม่ยอมคืนสมุดฝากเงินซึ่งมียอดเงินฝากรวม 46,564,852.60 บาทแก่โจทก์ตามที่โจทก์เรียกร้อง ปัญหาตามที่โจทก์ฎีกามีว่าจำเลยที่ 1 ต้องคืนสมุดเงินฝากเงินรวม 5 เล่ม ให้โจทก์หรือไม่ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเป็นอันยุติไปแล้ว เห็นว่า ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกเหนือจากไม้สักทั้ง 5 ฉบับข้อ 17 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “ตลอดระยะเวลาสัมปทานนี้ ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ปลูกต้นไม้ บำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกและที่ขึ้นอยู่แล้วในป่าสัมปทาน และบำรุงรักษาป่าสัมปทานด้วยค่าใช้จ่ายของผู้รับสัมปทาน ทั้งนี้ ตามวิธีการที่กรมป่าไม้กำหนด รวมทั้งชนิดของต้นไม้ที่กำหนดให้ปลูกด้วย” และตามบันทึกต่อท้ายสัมปทานแต่ละฉบับระบุว่า “ข้อ 2. การปฏิบัติตามเงื่อนไขสัมปทานข้อ 17(สัมปทานแบบใหม่) หรือเงื่อนไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัมปทาน(สัมปทานแบบเก่า) เกี่ยวกับการปลูกบำรุงป่า และการดูแลรักษาป่าผู้รับสัมปทานตกลงยินยอมนำเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าและค่าปลูกเสริมบำรุงป่าตามอัตราที่ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ต้องทำการปลูกป่าชดเชย ( 2 เท่าค่าภาคหลวงสำหรับทำไม้สักและ 1 เท่าค่าภาคหลวงสำหรับการทำไม้กระยาเลย) ไปฝากธนาคารในท้องถิ่นที่จะทำการปลูกป่า ในวันที่ชำระเงินค่าภาคหลวงไม้แต่ละคราวแล้วนำบัญชีหรือสมุดฝากเงินที่สามารถนำไปถอนเงินได้มอบให้ป่าไม้เขตหรือป่าไม้จังหวัดแห่งท้องที่ป่าสัมปทานนั้นเก็บรักษาไว้ภายในวันเดียวกัน
ข้อ 3. ในการขอรับบัญชีหรือสมุดฝากเงินจากป่าไม้เขตทุกครั้งที่ผู้รับสัมปทานจะเสนอแผนการปฏิบัติงานโดยย่อให้ป่าไม้เขตท้องที่ทราบ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากป่าไม้เขตแล้วจึงขอรับบัญชีหรือสมุดฝากเงินนำไปเบิกเงินจากธนาคาร เงินที่เบิกจ่ายผู้รับสัมปทานจะนำไปใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทนตามเงื่อนไขสัมปทานและตามแผนงานเท่านั้น จะไม่นำไปใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์หรือผิดไปจากแผนการโดยพลการ เมื่อผู้รับสัมปทานได้เบิกเงินตามจำนวนป่าไม้เขตเห็นชอบในการปลูกป่าแต่ละคราวแล้ว ผู้รับสัมปทานจะส่งมอบบัญชีหรือสมุดฝากเงินคืนป่าไม้เขตหรือป่าไม้จังหวัดแล้วแต่กรณีทันทีเพื่อเก็บรักษาไว้ตามเดิม” ข้อความในสัมปทานและบันทึกต่อท้ายสัมปทานดังกล่าวได้วางข้อกำหนดให้โจทก์ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ต้องปลูกป่าและบำรุงป่าที่ได้รับสัมปทานทำไม้ด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์ โดยโจทก์จะต้องนำเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าและบำรุงป่าในอัตราที่ทางราชการกำหนดไปฝากไว้ที่ธนาคาร แล้วนำสมุดฝากเงินไปมอบให้จำเลยที่ 4 ยึดถือไว้ส่วนการขอรับสมุดฝากเงินทุกครั้งโจทก์ต้องเสนอแผนการปฏิบัติงานปลูกป่าโดยย่อให้จำเลยที่ 3 ทราบ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 3 แล้วจึงจะมีสิทธิขอรับสมุดเงินฝากไปเบิกเงินจากธนาคารเพื่อนำไปใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทนตามแผนงานที่เสนอไว้และภายหลังจากเบิกเงินแล้วโจทก์ยังต้องนำสมุดฝากเงินไปมอบให้จำเลยที่ 4 เก็บรักษาไว้ตามเดิมอีก การฝากเงินที่ธนาคารของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการฝากเพื่อนำไปใช้จ่ายปลูกป่าและบำรุงป่าทดแทนป่าที่โจทก์ได้ทำไม้ไปแล้ว และโจทก์จะถอนเงินไปได้เฉพาะเพื่อเอาไปปลูกป่าและบำรุงป่าตามที่จำเลยที่ 3 เห็นชอบเท่านั้นดังนั้น ตราบใดที่โจทก์ยังมีภาระหน้าที่จะต้องปลูกป่าและบำรุงป่าทดแทนให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 ย่อมมีสิทธิที่จะรักษาสมุดฝากเงินของโจทก์ไว้ตามบันทึกต่อท้ายสัมปทานข้อ 3 แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2532 ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุสัมปทานทำไม้ของโจทก์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้สัมปทานการทำไม้หวงห้ามทุกชนิด(ยกเว้นสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน) สิ้นสุดลงทั้งแปลง คำสั่งดังกล่าวคงมีผลเพียงทำให้สิทธิที่โจทก์จะทำไม้ได้ต่อไปภายในอายุสัมปทานสิ้นสุดลงเท่านั้น แต่โจทก์ยังมีภาระหน้าที่จะต้องปลูกป่าและบำรุงป่าทดแทนในส่วนที่โจทก์ได้ทำไม้ไปแล้วก่อนเวลาสัมปทานจะสิ้นสุดลงโดยเบิกค่าใช้จ่ายในส่วนที่โจทก์ฝากธนาคารไว้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า ก่อนที่จะมีคำสั่งให้โจทก์หยุดการทำไม้ในเขตสัมปทานโจทก์ยังค้างการปลูกป่าเป็นเนื้อที่จำนวน 10,569.44 ไร่ คิดเป็นค่าใช้จ่าย 29,805,847.32 บาทและต้องบำรุงป่าต่อไปคิดเป็นเงิน 2,712,803.08 บาท ถือว่าโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัมปทานให้ครบถ้วนจำเลยที่ 4 มีสิทธิที่จะเก็บรักษาสมุดฝากเงินของโจทก์ไว้ตามบันทึกต่อท้ายสัมปทานข้อ 3 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องคืนสมุดฝากเงินทั้งหมดให้โจทก์ตามที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงสมุดฝากเงินของโจทก์ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน