แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อ. ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้ถูกกลฉ้อฉลหรือถูกหลอกลวงแต่ประการใด และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์หาใช่ครอบครองแทนบุคคลอื่นไม่ ที่ดินตามฟ้องจึงไม่เป็นทรัพย์มรดกของ อ. ที่จะตกได้แก่ทายาท เมื่อที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจแบ่งแยก โอนขายหรือให้บุคคลใดเข้ามาถือกรรมสิทธิ์รวมหรือจะทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินของตนได้ เมื่อที่ดินพิพาทไม่เป็นทรัพย์มรดกของ อ. โจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 1 รวมทั้งไม่อาจฟ้องบังคับให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวมในที่ดินด้วย และเมื่อจำเลยที่ 1 บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 ระหว่างนางอิ่ม ผู้ขายกับจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อเป็นโมฆะ และบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดและจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 9596, 10001, 10002 และ 10003 จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 9594, 9595, 9596, 9597, 9874, 9999, 10000, 10001, 10002 และ 10003 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 9586 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ทั้งสองและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 9596, 10001, 10002 และ 10003 และบ้านเลขที่ 2 หมู่ที่ 1 ของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทั้งสองชำระค่าเสียหาย 170,000 บาท และค่าเสียหายปีละ 90,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสองและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตาย นายอัศวิน ทายาทของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ และบังคับตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างนอกจากบ้านเลขที่ 2 หมู่ที่ 1 พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 9596, 10001, 10002 และ 10003 และบ้านเลขที่ 2 หมู่ที่ 1 ของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 82,500 บาท และให้ชำระค่าเสียหายปีละ 90,000 บาท นับถัดจากวันยื่นฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 23 กันยายน 2557) เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 1 จะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและบ้านของจำเลยที่ 1 กับให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องแย้งแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 สำหรับโจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 ให้เป็นพับ โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองเป็นบุตรของนางอิ่ม กับนายแส้เพ็ง นางอิ่มถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2541 เดิมนางอิ่มเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 134 ซึ่งมีบ้านเลขที่ 2 ปลูกสร้างอยู่บนที่ดิน เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 นางอิ่มจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ขอเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 134 เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 711 ตามการแบ่งเขตการปกครองใหม่ และดำเนินการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยอีกหลายครั้งหลายแปลง รวมทั้งขอออกเป็นโฉนดที่ดินและจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินบางส่วน โดยที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 9594, 9595, 9596, 9597, 9874, 9999, 10000, 10001, 10002 และ 10003 เป็นที่ดินแบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงดังกล่าวโจทก์ที่ 1 พักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 2 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 10001 และ10002 จำเลยที่ 1 บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ออกไปจากที่ดินดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์ที่ 1 เพิกเฉย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางอิ่มหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนางอิ่มกับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ได้เกิดจากการแสดงเจตนาอันแท้จริงของนางอิ่ม แต่เกิดจากการหลอกลวงฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 ดังนั้น สัญญาซื้อขายที่ดิน เป็นโมฆะ ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของนางอิ่ม เมื่อนางอิ่มถึงแก่ความตายจึงเป็นทรัพย์มรดกตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาท จำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินแทนทายาทคนอื่น ๆ หาใช่จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางอิ่ม จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีอำนาจแบ่งแยกโอนขายหรือให้บุคคลใดเข้าถือกรรมสิทธิ์รวม หรือจะทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนางอิ่ม การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกในที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนางอิ่มกับจำเลยที่ 1 รวมทั้งมีอำนาจฟ้องบังคับให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวมในที่ดินด้วย ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 บังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสอง และขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 สำหรับโจทก์ที่ 1 เสีย เห็นว่า จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยที่ 1 มีเอกสารสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนางอิ่มกับจำเลยที่ 1 มาแสดง ซึ่งเป็นเอกสารที่ได้มีการกระทำต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดินและจดทะเบียนซื้อขายที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งก่อนจดทะเบียนซื้อขายที่ดินนั้นก็ได้มีการยื่นคำขอและมีการประกาศเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านภายใน 30 วัน เมื่อครบกำหนดและไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงดำเนินการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินได้ โดยมีนางปาริชาติ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินผู้ไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใดมาเบิกความเป็นพยานตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า นางอิ่มไปทำสัญญาขายที่ดินด้วยตนเอง ต่อมาได้มีประกาศให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคัดค้านก่อน โดยในการขายที่ดินนั้น พยานได้สอบปากคำหรือสอบข้อเท็จจริงจากผู้ซื้อและผู้ขายก่อนแล้ว ซึ่งหากเห็นว่าผู้ซื้อหรือผู้ขายมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ในขณะสอบข้อเท็จจริงก็จะไม่รับทำนิติกรรมให้ ซึ่งนางอิ่มยืนยันที่จะขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 และหากเงื่อนไขในการซื้อขายไม่ตรงตามระเบียบของสำนักงานที่ดินก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ปรากฏอยู่ด้านหลังของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และนายวิโรจน์ มาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า พยานเป็นบุตรเขยของนางอิ่มและได้เดินทางไปสำนักงานที่ดินเกาะลันตาพร้อมกับจำเลยที่ 1 และนางอิ่ม นางอิ่มมีสุขภาพร่างกายจิตใจและสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ โดยยืนยันที่จะขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งในสัญญาขายที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวก็ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 ถือครองที่ดินแทนบุคคลอื่น ส่วนโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่านิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะเพราะนางอิ่มถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงและมีภาระการพิสูจน์ในเรื่องนี้นำสืบได้ความแต่เพียงว่า เดิมนางอิ่มได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 134 ให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตเก็บรักษาไว้ แต่ก่อนนางอิ่มถึงแก่ความตายไปประมาณ 1 ปี นางอิ่มได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวจากโจทก์ที่ 1 ไปมอบให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือครองเท่านั้น โจทก์ทั้งสองนำสืบไม่ได้ว่ามีการหลอกลวงเช่นไรและมีพยานหลักฐานใด ๆ มาสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวของฝ่ายตน แต่กลับได้ความจากนางปาริชาติซึ่งเป็นผู้สอบสวนสิทธิซึ่งได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานและผู้เขียนในสัญญาซื้อขายที่ดิน เบิกความเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และนายวิโรจน์ว่านางอิ่มมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และมีเจตนาขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักให้รับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านางอิ่มได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้ถูกกลฉ้อฉลหรือถูกหลอกลวงแต่ประการใด และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์หาใช่ครอบครองแทนบุคคลอื่นไม่ ที่ดินตามฟ้องจึงไม่เป็นทรัพย์มรดกของนางอิ่มที่จะตกได้แก่ทายาท เมื่อที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจแบ่งแยก โอนขายหรือให้บุคคลใดเข้ามาถือกรรมสิทธิ์รวมหรือจะทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินของตนก็ได้ เมื่อที่ดินพิพาทไม่เป็นทรัพย์มรดกของนางอิ่มโจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินระหว่างนางอิ่มกับจำเลยที่ 1 รวมทั้งไม่อาจฟ้องบังคับให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวมในที่ดินด้วย และเมื่อจำเลยที่ 1 บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้วโจทก์ที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและฟ้องแย้งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ