คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6148/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้คัดค้านได้ใช้โทรศัพท์มือถือและวิทยุติดตามตัวของตนในการติดต่อประสานงานเพื่อให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โทรศัพท์มือถือและวิทยุติดตามตัวดังกล่าวจึงเป็นอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิดต้องริบตามมาตรา 30แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2538 เวลากลางวัน นายดาบตำรวจสมชาย บุญช่วยชู เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 และเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้ร่วมกันจับกุมผู้คัดค้าน (จำเลยที่ 1)นายปราโมทย์ สำราญวงษ์หรือสำราญวงศ์ (จำเลยที่ 2)นายสุชาติหรือเล็ก ล้อมมหาดไทย (จำเลยที่ 3) และนายมนัสหรือนัส คำวัฒนะ (จำเลยที่ 4) ซึ่งจำเลยทั้งหมดดังกล่าวเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5199/2538ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 จำนวน 19,470 เม็ด น้ำหนักรวม 1,405 กรัมคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 264 กรัม และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อวอลโว่ หมายเลขทะเบียน 5 ค-4043 กรุงเทพมหานครจำนวน 1 คัน โทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรล่า หมายเลขโทรศัพท์01-9014358 จำนวน 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือยี่ห้อโตชิบาหมายเลขโทรศัพท์ 01-4877450 จำนวน 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกีย ซิตี้แมน 190 หมายเลขโทรศัพท์ 01-9186854จำนวน 1 เครื่อง วิทยุติดตามตัว ยี่ห้อฮัทชิสันหมายเลขเครื่อง 123087 และวิทยุติดตามตัวยี่ห้อโฟนลิงค์หมายเลขเครื่อง 250294 (ที่ถูกเป็น 250298) จำนวนอย่างละ 1 เครื่อง เป็นของกลางเพื่อดำเนินคดีในข้อหาร่วมกัน มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (เมทแอมเฟตามีน) เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเพื่อขายและขายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต่อมาผู้ร้องยื่นฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2538 ฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (เมทแอมเฟตามีน) เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเพื่อขายและขายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ปรากฏว่าของกลางที่ยึดได้คือรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่เป็นพาหนะที่ผู้คัดค้านกับพวกร่วมกันใช้บรรทุกและซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนของกลางส่วนโทรศัพท์มือถือจำนวน 3 เครื่อง และวิทยุติดตามตัวจำนวน2 เครื่อง ใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดโดยใช้โทรศัพท์มือถือของกลางเป็นเครื่องมือในการติดต่อสั่งการและประสานงานกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดส่วนวิทยุติดตามตัวของกลางใช้เป็นเครื่องมือในการส่งและฝากข้อความในการติดต่อสั่งการและประสานงานเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ของกลางดังกล่าวจึงเป็นบรรดาเครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30ขอให้ริบของกลางดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 30 และ 31
ศาลชั้นต้นได้ประกาศนัดไต่สวนคำร้องตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า โทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรล่าหมายเลขโทรศัพท์ 01-9014358 และวิทยุติดตามตัวยี่ห้อฮัทชิสันหมายเลขเครื่อง 123087 เป็นของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านมิได้ใช้เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและมิได้มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามที่ผู้ร้องอ้างขอให้ยกคำร้องและมีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ริบรถยนต์นั่งยี่ห้อวอลโว่หมายเลขทะเบียน 5 ค-4043 กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์มือถือจำนวน 3 เครื่อง ยี่ห้อโมโตโรล่า หมายเลขโทรศัพท์ 01-9014358ยี่ห้อโตชิบ้า หมายเลขโทรศัพท์ 01-4877450และยี่ห้อโนเกีย ซิตี้แมน 190 หมายเลขโทรศัพท์ 01-9186854กับวิทยุติดตามตัวจำนวน 2 เครื่อง ยี่ห้อฮัทชิสันหมายเลขเครื่อง 123087 และยี่ห้อโฟนลิงค์หมายเลขเครื่อง 250294 (ที่ถูกเป็น 250298) ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุพันตำรวจโทไพโรจน์ แสงภักดี จ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ จันทรมณีนายดาบตำรวจสมชาย บุญช่วยชู เจ้าพนักงานตำรวจประจำศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 กับพวกและนายวโรดม ปรีชาวณิชเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) กับพวกได้ร่วมกันจับกุมผู้คัดค้าน (จำเลยที่ 1)นายปราโมทย์ สำราญวงษ์หรือสำราญวงศ์ (จำเลยที่ 2)นายสุชาติหรือเล็ก ล้อมมหาดไทย (จำเลยที่ 3)และนายมนัสหรือนัส คำวัฒนะ (จำเลยที่ 4) ซึ่งจำเลยทั้งหมดดังกล่าวเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5194/2538ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้พร้อมด้วยของกลางคือรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่สีเขียว หมายเลขทะเบียน 5 ค-4043 กรุงเทพมหานครเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 19,484 เม็ดน้ำหนัก 1,405 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 264 กรัมโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรล่า หมายเลขโทรศัพท์ 01-9014358และวิทยุติดตามยี่ห้อฮัทชิสัน หมายเลขเครื่อง 123087ของผู้คัดค้าน โทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกีย ซิตี้แมน 190หมายเลขโทรศัพท์ 01-9186854 ของจำเลยที่ 2 โทรศัพท์มือถือยี่ห้อโตชิบา หมายเลขโทรศัพท์ 01-4877450 และวิทยุติดตามตัวยี่ห้อโฟนลิงค์ หมายเลขเครื่อง 250298 และวิทยุติดตามตัวยี่ห้อโฟนลิงค์ หมายเลขเครื่อง 250298 ของจำเลยที่ 3ตามบัญชีของกลางเอกสารหมาย ร.8 หรือ จ.8
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่าโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรล่า หมายเลขโทรศัพท์ 01-9014358และวิทยุติดตามตัวยี่ห้อฮัทชิสัน หมายเลขเครื่อง 123087ของผู้คัดค้านเป็นทรัพย์สินที่ต้องริบตามคำร้องของผู้ร้องหรือไม่โดยผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องมิได้นำสืบว่าผู้คัดค้านได้ใช้โทรศัพท์มือถือและวิทยุติดตามตัวของผู้คัดค้านเป็นเครื่องมือในการติดต่อและประสานงานเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดศาลไม่มีอำนาจสั่งริบนั้น เห็นว่า ผู้ร้องมีพันตำรวจโทไพโรจน์ แสงภักดี จ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ จันทรมณีและนายวโรดม ปรีชาวนิช ผู้จับกุมผู้คัดค้านกับพวกเป็นพยานเบิกความต้องกันว่า ได้ร่วมกันวางแผนจับกุมจำเลยที่ 4โดยให้จ่าสิบตำรวจสมศักดิ์และนายดาบตำรวจสมชายปลอมตัวไปกับสายลับดำเนินการล่อซื้อส่วนพันตำรวจโทไพโรจน์นายวโรดมกับพวกเป็นชุดคุ้มกันและจับกุม จำเลยที่ 4นัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่จ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 4 ได้มาพบตามนัดพร้อมกับผู้คัดค้านและจำเลยที่ 3 ทั้งยังแนะนำผู้คัดค้านและจำเลยที่ 3 ว่าเป็นเจ้าของเมทแอมเฟตามีนที่ตกลงขายให้แก่จ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ เมื่อจ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ให้นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบที่รถยนต์ที่จ่าสิบตำรวจสมศักดิ์กับพวกที่จอดไว้ที่ลานวัดบางนาใน ผู้คัดค้าน จำเลยที่ 3และที่ 4 เดินตามจ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ไปที่รถยนต์คันดังกล่าวต่อมาจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่สีเขียวหมายเลขทะเบียน 5 ค-4043 กรุงเทพมหานคร มาที่ที่เกิดเหตุจำเลยที่ 3 เปิดประตูรถยนต์คันดังกล่าวและหยิบถุงซึ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางยื่นให้จำเลยที่ 4 แล้วจำเลยที่ 4มอบต่อแก่จ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ นายดาบตำรวจสมชายส่งกระเป๋าที่บรรจุเงินที่ใช้ล่อซื้อแก่ผู้คัดค้านและให้สัญญาณให้พันตำรวจโทไพโรจน์ นายวโรดมกับพวกเข้าจับกุมผู้คัดค้านจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกพร้อมยึดโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรล่าหมายเลขโทรศัพท์ 01-9014358 และวิทยุติดตามตัวยี่ห้อฮัทชิสันหมายเลขเครื่อง 123087 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้คัดค้านโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโตชิบา หมายเลขโทรศัพท์ 01-4877450วิทยุติดตามตัวยี่ห้อโฟนลิงค์ หมายเลขประจำเครื่อง 250298ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 3 โทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกีย ซิตี้แมน 190 หมายเลขโทรศัพท์ 01-9186854ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 เมทแอมเฟตามีนของกลางและทรัพย์สินอื่น ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1เป็นของกลาง ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.9 มีใจความในสาระสำคัญว่าก่อนเกิดเหตุเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 4ได้มาติดต่อจำเลยที่ 3 ให้จัดหาเมทแอมเฟตามีนมาให้จำเลยที่ 4 บอกว่ามีคนมาติดต่อขอซื้อจำนวนประมาณ 100ถึง 150 ถุง ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้ใช้โทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ 3หมายเลขโทรศัพท์ 01-4877450 ติดต่อกับผู้คัดค้านทางโฟนลิงค์ 162รหัส 023087 ฝากข้อความให้ผู้คัดค้านโทรศัพท์กลับมาหาจำเลยที่ 3ต่อมาประมาณ 5 นาที ผู้คัดค้านก็ได้โทรศัพท์มาที่โทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ 3 ตามหมายเลขโทรศัพท์ 01-4877450 และจำเลยที่ 3ถามผู้คัดค้านว่ามีเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ มีลูกค้ามาติดต่อซื้อจำนวนประมาณ 100 ถึง 150 ถุง ผู้คัดค้านบอกว่าให้รอก่อนจะติดต่อสอบถามให้ ได้ผลอย่างไรจะโทรศัพท์กลับมาแจ้งให้ทราบต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม 2538 เวลาประมาณ 8 นาฬิกาผู้คัดค้านได้โทรศัพท์มาหาจำเลยที่ 3 ทาง โทรศัพท์มือถือหมายเลขโทรศัพท์ 01-4877450 บอกว่าจะให้เพื่อนนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 150 ถุง มาส่งให้ที่ลานจอดรถวัดบางนาในนอกจากนี้ผู้ร้องมีร้อยตำรวจเอกพีระพล ฉันทโสภีพนักงานสอบสวนมาเบิกความเป็นพยานยืนยันประกอบ เห็นว่าพยานผู้ร้องทั้งสี่ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุกับผู้คัดค้านมาก่อนจึงเชื่อว่าพยานผู้ร้องทั้งสี่เบิกความไปตามความจริงโดยมิได้ปรักปรำผู้คัดค้าน และเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ให้การในชั้นสอบสวนไปตามความจริง คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 ที่จำเลยที่ 3 ให้การซัดทอดถึงผู้คัดค้านว่าผู้คัดค้านได้ร่วมจัดหาเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจำหน่ายให้แก่ลูกค้า โดยจำเลยที่ 3 ได้เจรจาติดต่อกับผู้คัดค้านทาง โทรศัพท์และทางวิทยุติดตามตัวโฟนลิงค์ รหัส 123087ของผู้คัดค้านและผู้คัดค้านได้โทรศัพท์มาที่โทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ 3 รับฟังเป็นพยานประกอบพยานหลักฐานอื่นของผู้ร้องได้และถือว่าผู้ร้องได้นำสืบถึงข้อที่ว่าผู้คัดค้านได้ใช้โทรศัพท์มือถือและวิทยุติดตามตัวของผู้คัดค้านเป็นเครื่องมือในการติดต่อและประสานงานเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้วผู้คัดค้านอ้างว่ามิได้ใช้โทรศัพท์มือถือและวิทยุติดตามตัวของผู้คัดค้านเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดผู้คัดค้านมิได้มาเบิกความเป็นพยานสนับสนุนข้ออ้างของตน ที่จำเลยที่ 3 พยานผู้คัดค้านเบิกความว่าจำเลยที่ 3 ได้โทรศัพท์ติดต่อกับผู้คัดค้านเกี่ยวกับเรื่องบัตรประจำตัวประชาชนของผู้คัดค้านที่ลืมไว้ที่จำเลยที่ 3ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 3 ในชั้นสอบสวนไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของผู้ร้องได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้คัดค้านได้ใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรล่าหมายเลขโทรศัพท์ 01-9014358 และวิทยุติดตามตัวยี่ห้อฮัทชิสันหมายเลขเครื่อง 123087 ของผู้คัดค้านเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 30 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share