แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขเป็นการสละข้อต่อสู้เดิมที่ปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญาค้ำประกัน แล้วยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ยอมรับว่าทำสัญญาค้ำประกันแต่ไม่ต้องรับผิดเนื่องจากคดีขาดอายุความ เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทราบอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เนื่องจากไม่มีการชี้สองสถานและกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ทั้งข้อความที่ขอแก้ไขว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้นไม่ใช่เป็นปัญหาในเรื่องอำนาจฟ้อง จึงมิใช่เป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่อำนาจฟ้อง จึงมิใช่เป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังที่โจทก์ได้สืบพยานไปบางส่วนแล้วจึงเป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 180
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีเดินสะพัดและหนี้แพคกิ้งเครดิต โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 8 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจำนองเป็นประกัน ขอให้จำเลยทั้งเก้าร่วมกันชำระหนี้ต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 41,795,051.29 บาท หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งเก้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ไม่เคยทำสัญญากู้และไม่เคยทำสัญญาประเภทหนี้แพคกิ้งเครดิตกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ถึงที่ 9 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันและจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างศาลชั้นต้นสืบพนายโจทก์ไปบางส่วนแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 6 และที่ 7 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำร้องขอแก้ไขคำให้การยื่นพ้นระยะเวลาตามกฎหมาย และไม่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 6 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 6 และที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 6 และที่ 7 ว่า คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 6 และที่ 7 เป็นการแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลชอบที่จะรับไว้พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความรับกันว่า หลังจากโจทก์ได้สืบพยานไปบางส่วนแล้ว จำเลยที่ 6 และที่ 7 ขอแก้ไขคำให้การเดิมจากที่ให้การปฏิเสธว่า จำเลยที่ 6 และที่ 7 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นว่า จำเลยที่ 6 และที่ 7 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 กับโจทก์จริง แต่ต่อมาได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 ขณะนั้นจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เพียงเก้าแสนบาทเศษ โจทก์ไม่ฟ้องให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 รับผิดภายในอายุความตามกฎหมาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ข้อความที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 ขอแก้ไขเป็นการสละข้อต่อสู้เดิมที่ปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันแล้วยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ยอมรับว่าทำสัญญาค้ำประกันแต่ไม่ต้องรับผิดเนื่องจากคดีขาดอายุความ เช่นนี้ข้อความที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 ขอแก้ไขเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 ทราบอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เนื่องจากคดีนี้ไม่มีการชี้สองสถาน และกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ทั้งข้อความที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 ขอแก้ไขว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุนั้นไม่ใช่เป็นปัญหาในเรื่องอำนาจฟ้อง ดังที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 อ้างมาในคำร้องขอแก้ไขคำให้การ จึงหาใช่เป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังที่โจทก์ได้สืบพยานไปบางส่วนแล้วเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 แก้ไขคำให้การนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ