แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ใบตราส่ง ตามความหมายใน พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง หมายถึง ใบตราส่งซึ่งออกโดยผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของซึ่งเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งได้ออกใบตราส่งให้แก่บริษัท อ. ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้า ถือเป็นใบตราส่งตามความหมายของบทบัญญัติมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ขนส่งอื่น มิใช่คู่สัญญากับผู้ส่งของโดยตรง แต่ได้รับว่าจ้างจากบริษัท น. ผู้ขนส่งอื่นให้ขนส่งสินค้าพิพาทนี้อีกทอดหนึ่ง ดังนั้นใบตราส่งที่จำเลยที่ 3 ออกให้แก่บริษัท น. จึงไม่ถือเป็นใบตราส่งตามความหมายแห่งบทบัญญัตินี้ จำเลยที่ 3 จึงไม่สามารถยกข้อความตามใบตราส่งดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อผู้ส่งของได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงินจำนวน ๑๙๘,๖๓๖.๕๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินจำนวน ๑๙๓,๗๙๒.๕๒ บาท นับถักจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต และให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๒ ออกจากสารบบความ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๔,๘๔๔ บาท ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑,๕๐๐ บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๔ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีจำนวนทุนทรัพย์ ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามคู่ความมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔๑ จำเลยที่ ๓ จึงอุทธรณ์ได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องถือ ข้อเท็จจริงตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฟังมา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศกลางฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเปิ้ล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้สั่งซื้อสินค้าเคมีภัณฑ์สำหรับผลิตแชมพู จำนวน ๒ รายการ จากบริษัทโอลิน พีทีอี จำกัด ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ผู้ขายได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ขนส่งสินค้าดังกล่าวจากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ส่งให้แก่บริษัทพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิ้ล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ที่กรุงเทพมหานคร โดยจำเลยที่ ๑ ได้ออกใบตราส่ง ตามเอกสารหมาย จ.๙ และ จ.๑๐ ให้แก่ผู้ขายไว้ ส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับขนสินค้าทั้ง ๒ รายการจากจำเลยที่ ๑ หรือตัวแทนจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๓ ได้ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย ล.๒ และ ล.๓ ไว้ สินค้าแต่ละรายการได้ถูกบรรจุลงในตู้สินค้ารายการละหนึ่งตู้ ปรากฏว่าสินค้ารายการแรกตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๙ หรือ ล.๒ จำนวน ๓ ถัง ได้รับความเสียหาย ความเสียหาย ดังกล่าวเกิดขึ้นขณะสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๓ ที่จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ขนส่งอื่น จะต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งที่เกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๓ เท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงฟัง ไม่ได้ว่าสินค้าที่ขนส่งเกิด ความเสียหายในระหว่างที่สินค้าดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่าตามใบตราส่ง เอกสารหมาย ล.๒ มีข้อความบันทึกเป็นข้อสงวนไว้ว่า SAID TO CONTAIN ซึ่งแปลว่าแจ้งบรรจุ มีความหมายว่าผู้ส่งของเป็นผู้แจ้งว่ามีสินค้าบรรจุในตู้สินค้าโดยที่จำเลยที่ ๓ ไม่ทราบถึงสภาพ จำนวน และลักษณะของสินค้าภายในตู้สินค้า ทั้งใบตราส่ง ตามเอกสารหมาย ล. ๒ ยังมิได้มีการโอนไปยังบุคคลภายนอก จำเลยที่ ๓ จึงสามารถยกเอาข้อความในใบตราส่งขึ้นกล่าวอ้างได้ ซึ่งตามใบตราส่ง เอกสารหมาย ล.๒ ระบุไว้เพียงว่าสินค้าพิพาทบรรจุอยู่ในตู้สินค้าจำนวน ๑ ตู้ จึงต้องถือเป็น ๑ หน่วยการขนส่ง ไม่ใช่ถังสินค้าเป็นหน่วย การขนส่งนั้น เห็นว่า หลักเกณฑ์ในการคำนวณจำนวนเงินค่าเสียหายตามมาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ การรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ กรณีแรกได้บัญญัติไว้ใน มาตรา ๕๙ (๑) ว่า ในกรณีที่มีการรวมของหลายหน่วย การขนส่งเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกันไม่ว่าจะมีการใช้ภาชนะขนส่งบรรจุหรือรองรับหรือไม่ก็ตาม ถ้าระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันไว้ในใบตราส่ง ให้ถือว่าของตามใบตราส่งนั้น มีจำนวนหน่วยการขนส่งตามที่ระบุไว้นั้น แต่ถ้ามิได้ระบุ ให้ถือว่าของทั้งหมดที่รวมเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกันนั้นเป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง ใบตราส่งตามความหมายในบทบัญญัติดังกล่าวนั้นหมายถึงใบตราส่งซึ่งออกโดยผู้ขนส่ง ออกให้แก่ผู้ส่งของซึ่งเป็น คู่สัญญารับขนของทางทะเล เพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญาดังกล่าว สำหรับคดีนี้คือ ใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๙ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ผู้ขนส่งออกให้แก่บริษัทโอลิน พีทีอี จำกัด ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้ขนส่งสินค้า จึงถือเป็นใบตราส่งตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๙ มีข้อความระบุจำนวนและลักษณะของการบรรจุสินค้าว่า สินค้าเป็นเคมีภัณฑ์สำหรับแชมพู จำนวน ๑๔ แพลเล็ท หรือ ๖๗ ถัง น้ำหนักถังละ ๑๒๐ กิโลกรัม รวม ๘,๐๔๐ กิโลกรัม ส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นเพียงผู้ขนส่งอื่น มิใช่คู่สัญญากับผู้ส่งของโดยตรง แต่ได้รับว่าจ้างจาก บริษัทนอร์เอเชีย (เอชเค) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นให้ขนส่งสินค้าพิพาทนี้อีกทอดหนึ่ง ดังนั้น ใบตราส่งตาม เอกสารหมาย ล.๒ ที่จำเลยที่ ๓ ออกให้แก่บริษัทนอร์เอเซีย (เอชเค) จำกัด จึงไม่ถือเป็นใบตราส่งตามความหมายแห่ง บทบัญญัตินี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๙ มาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าถังสินค้า คือ หน่วยการขนส่งสินค้าเสียหาย ๓ ถัง ความรับผิดของผู้ขนส่งจึงต้องจำกัดเพียง ๓๐,๐๐๐ บาท และให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในจำนวนดังกล่าวด้วยนั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน