แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บทบัญญัติมาตรา 25 วรรคหนึ่งและมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 เป็นการกำหนดขั้นตอนในการตรวจสอบการกำหนดเงินค่าทดแทนเพื่อให้ประชาชนที่ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันราคาลดลงและค่าเช่าอาคารที่ลดลง ซึ่งเกินไปจากวงเงินที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาก่อนแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมอาคารส่วนที่เหลืออันราคาลดลง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 40,324,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มจำนวน 2,960,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 พฤศจิกายน 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจำนวน 960,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 29464 ตำบลบางระมาด (ตลิ่งชัน) อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 งาน 56 ตารางวา พร้อมอาคารสำนักงาน 3 ชั้น จำนวน 2 หลัง เลขที่ 77/1 และ 77/2 ถนนบรมราชชนนี แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนบางส่วนเนื้อที่ 24 ตารางวา อันเนื่องจากการดำเนินการของจำเลยทั้งสองตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2542 เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์ และถนนเชื่อมต่อสายติวานนท์-เพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์ ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2542 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 60,000 บาท เนื้อที่ 18 ตารางวา เป็นเงิน 1,080,000 บาท เงินค่าทดแทนรั้วคอนกรีตจำนวน 354,547 บาท และเงินค่าทดแทนขนย้ายทรัพย์สินจำนวน 23,718 บาท รวมเป็นเงิน 1,458,265 บาท โจทก์กับฝ่ายจำเลยทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2542 ตามสำเนาสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เอกสารหมาย จ.9 โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวแล้วแต่โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ได้รับจึงยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ต่อมาเมื่อรังวัดแบ่งแยกที่ดินปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนทั้งหมดเนื้อที่ 24 ตารางวา เพิ่มขึ้นจากที่จำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แล้วอีก 6 ตารางวาศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 85,000 บาท และกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนกับอาคารและค่าเช่าจากการนำอาคารออกให้ลดลงเป็นเงิน 2,000,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 85,000 บาท เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้อีกตารางวาละ 25,000 บาท เนื้อที่ 18 ตารางวา เป็นเงิน 450,000 บาท และที่ดินเนื้อที่ 6 ตารางวา ที่ยังไม่ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 510,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นจำนวน 960,000 บาท นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว จึงไม่เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนนี้อีกส่วนเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนกับอาคารและเงินค่าทดแทนสำหรับค่าเช่าอาคารลดลงนั้น วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้อุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือพร้อมอาคารอันราคาลดลงต่อจำเลยที่ 2 ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ โจทก์ฎีกา
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมอาคารส่วนที่เหลืออันราคาลดลงหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาสรุปได้ว่า โจทก์เข้าใจโดยสุจริตว่า ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเพียง 18 ตารางวา ทำให้จอดรถยนต์น้อยลงกว่าเดิมเพียง 7 คัน โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 ตามหนังสืออุทธรณ์การกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ฯ ฉบับลงวันที่ 27 ตุลาคม 2542 เอกสารหมาย จ.10 ขอเงินค่าทดแทนการสูญเสียการใช้ประโยชน์พื้นที่ 18 ตารางวา ซึ่งเป็นผลให้มูลค่าที่ดินส่วนที่เหลือมีราคาลดลงตามมาตรา 21 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 อย่างไรก็ตามโจทก์ทราบจากเจ้าพนักงานที่ดินว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนรวมเนื้อที่ 24 ตารางวา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 อันเป็นเวลาภายหลังจากโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 เกินกว่า 1 ปีแล้ว การที่โจทก์เพิ่งทราบว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเพิ่มอีก 6 ตารางวา โจทก์จึงไม่อาจยื่นอุทธรณ์ค่าทดแทนในส่วนนี้ต่อจำเลยที่ 2 ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 ผู้ใดไม่พอใจในราคาอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 มาตรา 10 ทวิ มาตรา 23 หรือมาตรา 28 วรรคสาม มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6…” และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 …ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปี…” ตามบทกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดขั้นตอนในการตรวจสอบการกำหนดเงินค่าทดแทนเพื่อให้ประชาชนที่ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมายโดยให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ยังไม่พอใจในราคาอสังหาริมทรัพย์ หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาได้ และในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในราคาอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดและได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนตามจำนวนที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอุทธรณ์และรัฐมนตรีวินิจฉัย ไม่เป็นไปตามที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนขอในอุทธรณ์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้เพื่อให้ได้รับเงินค่าทดแทนตามจำนวนที่ได้อุทธรณ์ แต่กรณีของโจทก์ปรากฏตามหนังสืออุทธรณ์การกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ฯ เอกสารหมาย จ.10 ว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 ขอให้พิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์รวม 3 รายการ คือ 1. ค่าที่ดิน 18 ตารางวา ตารางวาละ 200,000 บาท คิดเป็นเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น 2,520,000 บาท 2. ค่าทดแทนรื้อถอนคอนกรีตและอื่นๆ เป็นเงิน 538,265 บาท 3. ค่าทดแทนการสูญเสียการใช้ประโยชน์ภายในที่ว่างเป็นเงิน 2,500,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้น 5,180,000 บาท แต่โจทก์กลับมาฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันราคาลดลง 18,000,000 บาท และค่าเช่าอาคารที่ลดลงเดือนละ 77,520 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน 18,604,800 บาท ซึ่งเกินไปจากวงเงินที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 หลายเท่าตัวโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2 มาก่อนแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมอาคารส่วนที่เหลืออันราคาลดลง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ