แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดข้อหามียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายกับข้อหามีแสตมป์ยาสูบปลอมเพื่อขายหรือเพื่อ นำออกใช้ จำเลยกับพวกร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ยาสูบปลอมก็เพื่อนำออกใช้กับยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายนั่นเอง ดังนั้น ความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวจึงเป็นความผิดกรรมเดียว และเป็นกรรมเดียวกับข้อหามียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายไว้ในครอบครองเกินกว่า 500 กรัม สำหรับความผิดข้อหาเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม แม้โจทก์บรรยายฟ้องแยกกันมา แต่ได้ความว่าจำเลย มีเจตนาอันเดียวคือต้องการขายบุหรี่ของกลางซึ่งเป็นบุหรี่ที่บรรจุในซองที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมาย และที่มีเครื่องหมายการค้ากับแสตมป์ยาสูบปลอมในซองเดียวกัน ความผิดทั้งสามข้อหาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นความผิด กรรมเดียวกับความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (1) ประกอบด้วยมาตรา 108 ซึ่งเป็น บทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ผู้เสียหายประกอบการค้าผลิตและจำหน่ายบุหรี่ซิกาแรต ยี่ห้อ กรองทิพย์ ๙๐ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๒ เวลากลางวัน จำเลยกับนายสุเทพ รัตนศิริจิตร และนายสุริยะ อำพันเพ็ญโรจน์ ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว กับพวกซึ่งเป็นเยาวชนอีก ๑ คน ซึ่งแยกดำเนินคดี มิได้เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบได้ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตชนิดซองอ่อนที่มีตราเครื่องหมายกรองทิพย์ ๙๐ ขนาดบรรจุซองละ ๒๐ มวน จำนวน ๔๑,๒๑๐ ซอง น้ำหนัก ๗๘๒,๙๙๐ กรัม อันเป็นยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ ตามกฎหมาย และไม่ใช่ยาเส้นที่ทำจากใบยาพันธุ์พื้นเมือง อีกทั้งยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตดังกล่าวเป็นยาสูบที่มี เครื่องหมายอย่างอื่นที่ใช้แทนแสตมป์ยาสูบกำกับอยู่อันเป็นแสตมป์ยาสูบปลอมโดยจำเลยกับพวกรู้ว่าเป็นแสตมป์ยาสูบปลอม ทั้งนี้ยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตดังกล่าวต้องปิดแสตมป์ยาสูบในอัตราร้อยละ ๗๐ ของมูลค่ายาสูบ บุหรี่ซิกาแรต ดังกล่าวทั้งหมดต้องปิดแสตมป์ยาสูบซองละ ๑๔ บาท รวมเป็นแสตมป์ยาสูบทั้งสิ้นเป็นเงิน ๕๗๖,๙๔๐ บาท จำเลยกับพวกได้ร่วมกันเสนอ จำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่มีตราเครื่องหมาย “กรองทิพย์ ๙๐” อันเป็นเครื่องหมายการค้าปลอมที่มีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของโรงงานยาสูบกระทรวงการคลัง ผู้เสียหาย โดยจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีการปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์โดยชอบแล้ว ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔, ๑๐๘, ๑๑๐, ๑๑๕, ๑๑๗ พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๔, ๕, ๑๙, ๒๓, ๒๔, ๔๑, ๔๓, ๔๔, ๔๙, ๕๐, ๕๓ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๐ ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดราคายาสูบเพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าปรับ ลงวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๘๓, ๙๐, ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาโดยอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องเจ้าพนักงานสรรพสามิตจับกุมจำเลยกับพวกพร้อมยึดได้ยาสูบบุหรี่ซิกาแรตชนิดซองอ่อนที่มีตราเครื่องหมายการค้ากรองทิพย์ ๙๐ อันเป็นเครื่องหมายการค้าปลอมที่มีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้า ที่แท้จริงของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ผู้เสียหาย และมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมาย ทั้งมีเครื่องหมายอย่างอื่น ที่ใช้แทนแสตมป์ยาสูบกำกับอยู่อันเป็นแสตมป์ยาสูบปลอมจำนวน ๔๑,๒๑๐ ซอง น้ำหนัก ๗๘๒,๙๙๐ กรัม เป็นของกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายฉัตรชัย พรหมศร และนายวิโรจน์ ศรีวารี นายตรวจสรรพสามิตเป็นพยานเบิกความ ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุเกิดเวลากลางวัน นายฉัตรชัยซุ่มดูอยู่ที่ร้านอาหารฝั่งตรงข้ามในระยะห่างประมาณ ๓๐ เมตร มีโอกาสเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน นายฉัตรชัยและนายวิโรจน์พยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิตที่ปฏิบัติการไปตามหน้าที่ ไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจึงไม่มีเหตุที่พยานทั้งสองจะเบิกความกลั่นแกล้งจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานด้วยกัน ทั้งพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันโดยตลอด เริ่มตั้งแต่การให้สายลับไปซื้อบุหรี่จากร้านแต้ฮะเส็งส่งไปให้ผู้เสียหายตรวจพิสูจน์พบว่าเป็นบุหรี่ปลอม การสืบทราบจากสายลับว่าจะมีการนำบุหรี่ปลอม มาส่งที่ร้านแต้ฮะเส็ง การวางแผนจับกุมขั้นตอนและสถานที่ที่ไปดักซุ่มดูจนกระทั่งการเข้าไปตรวจค้นจับกุมจำเลย กับพวกและยึดได้บุหรี่ปลอมเป็นของกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นายฉัตรชัยเบิกความว่า จำเลยนั่งรถยนต์ปิกอัพสีดำ มากับนายสุเทพและได้เข้าไปในร้านแต้ฮะเส็งกับนายสุเทพประมาณ ๕ นาที ก็กลับออกมาด้วยกันโดยมีนายอานนท์เดินออกมาด้วยนั้น นายวิโรจน์ก็เบิกความได้สอดคล้องว่านายฉัตรชัยแจ้งนายวิโรจน์ทางวิทยุสื่อสารว่ามีรถยนต์ คันหนึ่งสีดำมาจอดที่หน้าร้านแต้ฮะเส็งแล้วมีชาย ๒ คน เดินเข้าไปในร้าน สักครู่หนึ่งชาย ๒ คน ดังกล่าวพร้อมชาย อีกคนหนึ่งก็เดินออกมา เชื่อได้ว่าพยานโจทก์ทั้งสองได้เบิกความไปตามความจริงที่เกิดขึ้น ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยนั่งรถยนต์แท็กซี่ไปหานายสุเทพในที่เกิดเหตุเพื่อขอยืมรถยนต์ไปใช้ เมื่อไปถึงพบนายสุเทพกำลังขนลังสินค้าบุหรี่กรองทิพย์จากรถยนต์คันหนึ่งเข้าไปในร้านและบอกให้จำเลยช่วยขน จำเลยไม่ทราบว่าเป็นบุหรี่ปลอมจึงช่วยขน ได้ประมาณ ๒ ถึง ๓ ลังก็มีเจ้าพนักงานสรรพสามิตเข้าไปจับกุมนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นชี้แจงต่อเจ้าพนักงานสรรพสามิตที่เข้าจับกุมแต่ประการใด ทั้งหากจำเลยไปอยู่ในที่เกิดเหตุเพื่อขอยืมรถยนต์ของนายสุเทพ ก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะต้องไปร่วมขนลังบุหรี่ด้วยเพราะมีคนขนกันอยู่แล้วถึง ๕ คน พยานจำเลยที่เบิกความอ้างว่า จำเลยเพิ่งมายังที่เกิดเหตุในภายหลังขณะกำลังขนบุหรี่กัน คงมีนายสุเทพ นายสุริยะและนายอานนท์ซึ่งเป็นผู้ต้องหา ว่าร่วมกระทำความผิดกับจำเลย โดยเฉพาะนายสุเทพกับนายสุริยะได้ถูกศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว น่าเชื่อว่า เบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยมิให้ต้องรับโทษ ข้อนำสืบของจำเลยขัดต่อเหตุผลไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พฤติการณ์ ที่จำเลยนั่งรถยนต์ปิกอัพสีดำมากับนายสุเทพและมาจอดที่หน้าร้านแต้ฮะเส็ง จากนั้นจำเลยกับนายสุเทพลงจากรถยนต์เข้าไปในร้านดังกล่าวสักครู่หนึ่งก็พากันออกมาจากร้าน นายสุเทพไปขับรถยนต์ปิกอัพสีดำเคลื่อนไปข้างหน้า จำเลยช่วยเข็นรถยนต์เก๋งเข้าไปแทนที่ ต่อมาประมาณ ๑๐ นาที ก็มีรถยนต์ปิกอัพสีแดงบรรทุกบุหรี่ของกลางแล่นมาจอดแทนที่ รถยนต์เก๋ง แล้วจำเลยกับพวกช่วยกันขนบุหรี่ของกลางจากรถยนต์ปิกอัพสีแดงเข้าไปในตึกแถวซึ่งเป็นที่เก็บสินค้า ของร้านแต้ฮะเส็ง เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมในการนำบุหรี่ของกลางมาจำหน่ายให้แก่ร้านแต้ฮะเส็งและย่อม ต้องรู้ดีว่าบุหรี่ของกลางเป็นบุหรี่ที่มิได้ผลิตจากโรงงานยาสูบอันเป็นบุหรี่ปลอมที่มีตราเครื่องหมายการค้ากรองทิพย์ ๙๐ ปลอม และมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมาย แต่มีเครื่องหมายอย่างอื่นที่ใช้แทนแสตมป์ยาสูบกำกับอยู่อันเป็นแสตมป์ยาสูบปลอม พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลย ร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง
อย่างไรก็ดี ความผิดข้อหามียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายกับข้อหามีแสตมป์ยาสูบปลอมเพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้ เห็นว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ยาสูบปลอมก็เพื่อนำออกใช้กับยาสูบ ที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายนั่นเอง ดังนั้น ความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวจึงเป็นความผิดกรรมเดียวและ เป็นกรรมเดียวกับข้อหามียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายไว้ในครอบครองเกินกว่า ๕๐๐ กรัม สำหรับความผิด ข้อหาเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมนั้น แม้โจทก์บรรยายฟ้องแยกมา ในข้อ ๒ ข. แต่ได้ความว่าจำเลยมีเจตนาอันเดียวคือต้องการขายบุหรี่ของกลางซึ่งเป็นบุหรี่ที่บรรจุในซองที่มิได้ปิดแสตมป์ ยาสูบตามกฎหมาย และที่มีเครื่องหมายการค้ากับแสตมป์ยาสูบปลอมในซองเดียวกัน ความผิดทั้งสามข้อหาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดข้อหาในฟ้องข้อ ๒ ข. ดังกล่าว
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบด้วยมาตรา ๑๐๘ พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง, ๒๔ วรรคหนึ่ง, ๔๓, ๔๙, ๕๐, ๕๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบด้วยมาตรา ๑๐๘ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุก ๑ ปี และปรับ ๔๐๐,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษ จำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีโดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐.