คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6119/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญากู้เงินมีข้อความระบุในข้อ 2ว่า จำเลยจะชำระต้นเงินจำนวน 15,000,000 บาท ให้โจทก์ไม่เกินกว่าวันที่ 31 มีนาคม 2538 โดยจำเลยมอบเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์ด้วย แต่ในข้อ 2.1 กลับมีข้อตกลงขยายความในกรณีชำระต้นเงินคืนเป็นว่า ถ้าไม่ได้จ่ายเงินคืนแก่โจทก์ในวันที่ 31 มีนาคม 2538 หรือไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทได้ จำเลยยินยอมที่จะส่งมอบโฉนดที่ดิน 2 ฉบับคืนโจทก์รวมทั้งหนังสือมอบอำนาจที่ลงชื่อจำเลยซึ่งโจทก์จะใช้สิทธิในโฉนดที่ดินได้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยตกลงให้ถือเอาการขายที่ดินหรือไม่เป็นเงื่อนไขของการที่จะชำระหนี้กันตามสัญญากู้ ซึ่งเห็นได้จากข้อตกลงในข้อ 2.2 ระบุต่อไปว่าหากจำเลยได้มอบโฉนดที่ดิน 2 ฉบับ ดังกล่าวให้แก่โจทก์และชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระครบถ้วนแล้ว สัญญากู้เงินจะต้องยกเลิกและโจทก์จะส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย ดังนี้ย่อมชี้ให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยในเบื้องต้นว่ามิได้ ประสงค์ให้สัญญากู้เงินมีผลบังคับในทันที ตราบใดที่จำเลย ยังขายที่ดิน 2 โฉนดดังกล่าวไม่ได้ สัญญากู้เงินย่อมไม่มี ผลบังคับ หากจำเลยขายที่ดินได้แล้วจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระ ต้นเงินตามเช็คพิพาทรวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ส่วนกรณีที่จำเลยไม่อาจขายที่ดินได้จำเลยก็มีหน้าที่ต้องคืนโฉนดที่ดิน 2 แปลงพร้อมทั้งทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ไปใช้สิทธิในที่ดินเท่านั้น จึงเท่ากับว่าหากจำเลยไม่สามารถขายที่ดินได้โจทก์ก็รับเอาที่ดิน 2 แปลงไปเป็นกรรมสิทธิ์โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามเช็คพิพาท ฉะนั้นในขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาทจึงมีเจตนาเพียงมุ่งหมายให้เป็นประกันการชำระหนี้ ตามสัญญากู้เงินและข้อตกลงแนบท้ายสัญญากู้เงินเท่านั้นจำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจาก การใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 ให้จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยร่วมกันประกอบธุรกิจก่อสร้างอาคารชุดขายมีชื่อว่าคาซ่า เอสปันย่า 2 โจทก์ลงทุน 10,000,000 บาทเงินจำนวนดังกล่าวจำเลยนำไปซื้อที่ดิน 2 แปลง ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ส่วนจำเลยจะรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารชุด แต่ปรากฏว่าภาวะเศรษฐกิจไม่ดี จึงระงับไม่มีการก่อสร้างตามโครงการ ต่อมาวันที่ 2ธันวาคม 2536 โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินกันโดยจำเลยตกลงจะชำระเงินคืนแก่โจทก์ 15,000,000 บาท แบ่งชำระเป็น2 งวด โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัดสาขาพัทยากลาง ให้โจทก์จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 31มกราคม 2537 จำนวนเงิน 7,500,000 บาท และสั่งจ่ายวันที่28 กุมภาพันธ์ 2537 จำนวน 7,500,000 บาท ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 หรือ จ.8 เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงินจำเลยนำเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขานครราชสีมา จำนวน2 ฉบับ สั่งจ่ายฉบับละ 7,500,000 บาท ไปแลกกับโจทก์ ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2538 โจทก์และจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 แนบท้ายสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 2ธันวาคม 2536 เอกสารหมาย จ.4 หรือ จ.8 ดังกล่าว ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.5 มีข้อสาระสำคัญตกลงกันว่า จำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันที่ 31 มกราคม 2538 เป็นจำนวนเงิน17,120,962.50 บาท และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คมอบให้แก่โจทก์1 ฉบับ เป็นเช็คธนาคารมหานคร จำกัด สาขาพระโขนง จำนวนเงิน15,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.9 อันเป็นเช็คพิพาทคดีนี้ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2538 โจทก์นำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารมหานคร จำกัด สาขาพระโขนง เพื่อให้เรียกเก็บเงินตามเช็คแต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่าเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่าย ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.10 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ตามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 มีข้อความระบุในข้อ 2 ว่า จำเลยจะชำระต้นเงินจำนวน 15,000,000 บาท ให้โจทก์ไม่เกินกว่าวันที่ 31 มีนาคม 2538 โดยจำเลยมอบเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์ด้วย แต่ในข้อ 2.1 กลับมีข้อตกลงขยายความในกรณีชำระต้นเงินคืนเป็นว่า ถ้าไม่ได้จ่ายเงินคืนแก่โจทก์ในวันที่ 31 มีนาคม 2538 หรือไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทได้ จำเลยยินยอมที่จะส่งมอบโฉนดที่ดิน 2 ฉบับคืนโจทก์รวมทั้งหนังสือมอบอำนาจที่ลงชื่อจำเลยซึ่งโจทก์จะใช้สิทธิในโฉนดที่ดินได้ เห็นว่า การที่โจทก์จำเลยมีข้อตกลงเช่นนั้นแสดงว่าโจทก์และจำเลยตกลงให้ถือเอาการขายที่ดินหรือไม่เป็นเงื่อนไขของการที่จะชำระหนี้กันตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 2 ธันวาคม 2536 เอกสารหมาย จ.4 หรือ จ.8 ทั้งนี้จะเห็นได้จากข้อตกลงในข้อ 2.2 ระบุต่อไปว่า หากจำเลยได้มอบโฉนดที่ดิน 2 ฉบับดังกล่าวให้แก่โจทก์และชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามข้อตกลงในข้อ 1 ครบถ้วนแล้วสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.4 หรือ จ.8 จะต้องยกเลิก และโจทก์จะส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 368891 ให้แก่จำเลย ดังนี้ ย่อมชี้ให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยในเบื้องต้นว่ามิได้ประสงค์ให้สัญญากู้เงินมีผลบังคับในทันที ตราบใดที่จำเลยยังขายที่ดิน 2 โฉนดดังกล่าวไม่ได้สัญญากู้เงินย่อมไม่มีผลบังคับ หากจำเลยขายที่ดินได้แล้วจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระต้นเงินตามเช็คพิพาทรวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ ส่วนกรณีที่จำเลยไม่อาจขายที่ดินได้จำเลยก็มีหน้าที่ต้องคืนโฉนดที่ดิน 2 แปลงตามเอกสารหมาย ล.1และ ล.2 พร้อมทั้งทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ไปใช้สิทธิในที่ดินเท่านั้น จึงเท่ากับว่าหากจำเลยไม่สามารถขายที่ดินได้โจทก์ก็รับเอาที่ดิน 2 แปลงไปเป็นกรรมสิทธิ์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามเช็คพิพาท จึงเห็นว่าในขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาทเพียงมุ่งหมายให้เป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและข้อตกลงแนบท้ายสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 หรือ จ.8 และ จ.5 เท่านั้น จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share