แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บทบัญญัติตาม ป.อ. มาตรา 91(3) หมายความว่ากรณีที่จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี เว้นแต่กรณีศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และคำว่า”เว้นแต่กรณีศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต” นั้น หมายความว่า หากความผิดกระทงใดกระทงหนึ่งมีโทษที่จะลงแก่จำเลยจริง ๆ เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วเมื่อนำเอาโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลาในกระทงอื่นมารวมศาลคงลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น คดีนี้สำหรับความผิดกระทงแรกของจำเลยที่ 2 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้น ศาลได้วางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต แต่เมื่อมีการลดโทษให้จำเลยที่ 2 แล้วคงเหลือโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เพียง 40 ปี จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะนำเอาโทษในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มารวมลงโทษแก่จำเลยที่ 2เป็นจำคุกทั้งสิ้น 41 ปี 7 เดือน 6 วัน ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี,289, 80, 83, 371, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฎิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 สั่งริบอาวุธปืน กระสุนปืน และลูกกระสุนปืนของกลาง และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 40,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ และมาตรา 289, 80 เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 340 วรรคสี่ บทหนักให้จำคุกคนละตลอดชีวิต จำเลยต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงวางโทษจำเลยหนักว่าอีกกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 340 ตรี ไม่ได้ เฉพาะจำเลยที่ 2มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72 วรรคสาม, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 อีกโสดหนึ่งด้วย ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 72 ทวิ อันเป็นบทหนักให้จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 อันเป็นบทหนัก ให้จำคุก 1 ปี เมื่อรวมทุกกระทงแล้วคงให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 คงให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 40 ปี ริบอาวุธปืน กระสุนปืนและลูกกระสุนปืนของกลางและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน 40,000 บาท คืนแก่ผู้เสียหาย
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่, 340 ตรี, 289, 80 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ด้วย ฐานปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าผู้อื่นลงโทษจำเลยทั้งสามตามมาตรา 289, 80 อันเป็นบทหนักให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในห้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยคนละ 40 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสาม ให้จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง อันเป็นบทหนักให้จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด1 ปี 7 เดือน 6 วัน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 41 ปี 7 เดือน6 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาเกี่ยวกับการลงโทษว่า เมื่อศาลลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิตกระทงหนึ่งแล้วก็ไม่ควรนำเอาโทษจำคุกกระทงอื่นมารวมด้วยอีก ข้อนี้เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตามเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้
(3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต”
ตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ หมายความว่ากรณีที่จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปแต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปีเว้นแต่กรณีศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตและคำว่า “เว้นแต่กรณีศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต” นั้น หมายความว่า หากความผิดกระทงใดกระทงหนึ่งมีโทษที่จะลงแก่จำเลยจริง ๆ เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว เมื่อนำเอาโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลาในกระทงอื่นมารวม ศาลคงลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น คดีนี้ สำหรับความผิดกระทงแรกของจำเลยที่ 2 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้น ศาลได้วางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต แต่เมื่อมีการลดโทษให้จำเลยที่ 2 แล้วคงเหลือโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เพียง 40 ปี จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะนำเอาโทษในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มารวมลงโทษแก่จำเลยที่ 2 เป็นจำคุกทั้งสิ้น 41 ปี 7 เดือน 6 วัน ได้ เพราะรวมทุกกระทงแล้วโทษจำคุกไม่เกิน 50 ปี สำหรับฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ลดโทษให้หนึ่งในสามนั้นเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจในการลดโทษเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข…”
พิพากษายืน.