คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 611/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยมิได้มอบอำนาจให้ ส. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ บริษัทจำเลย ทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์แทนบริษัทจำเลย ทั้งไม่มี พยานหลักฐานและพฤติการณ์ที่แสดงว่าบริษัทจำเลยเชิด ส. เป็นตัวแทนของบริษัทจำเลย หรือรู้แล้วยอมให้ ส. เชิดตนเองแสดงออกเป็น ตัวแทนของบริษัทจำเลย ดังนี้บริษัทจำเลยไม่ต้องรับผิดตาม สัญญาซื้อขายนั้นและข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขาย ที่ว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นจะต้องเสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการก็ ไม่ผูกพันจำเลยเช่นกัน ฉะนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคำชี้ขาดของ อนุญาโตตุลาการมาฟ้องบังคับจำเลย โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนอกศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 221 แม้จะบรรยายฟ้องถึงการผิดสัญญาซื้อขาย มาด้วยแต่มิได้ขอบังคับตามสัญญาซื้อขาย โจทก์คงต้องเสียค่าขึ้นศาล ตามตาราง 1 ข้อ (1)(ข) ท้าย ป.วิ.พ. ซึ่งกำหนดให้เรียกโดย อัตราหนึ่งบาทต่อทุกหนึ่งร้อยบาท ตามจำนวนที่อนุญาโตตุลาการกำหนด ไว้ในคำชี้ขาด แต่ไม่ให้เกินแปดหมื่นบาท ศาลชั้นต้นเรียก ค่าขึ้นศาลเกินมาจึงต้องคืนให้โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ได้ควบแอลเล็นเบอร์กเข้าด้วยกันกับโจทก์ จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายฝ้ายดิบกับแอลเล็นเบอร์กรวม 7 ฉบับ ต่อมาถึงกำหนดส่งสินค้าแต่จำเลยมิได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่แอลเล็นเบอร์ก แอลเล็นเบอร์กจึงเสนอกรณีพิพาทตามสัญญาทั้ง 7 ฉบับ ต่ออนุญาโตตุลาการ อนุญาโตตุลาการมีคำตัดสินชี้ขาดว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งค่าธรรมเนียม ค่าทำคำชี้ขาด และค่าใช้จ่ายของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งแอลเล็นเบอร์กได้จ่ายให้แก่อนุญาโตตุลาการไปแล้ว ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 12,002,865.37 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญาซื้อฝ้ายดิบรวม 7 ฉบับ ตามฟ้องกับแอลเล็นเบอร์ก เอกสารท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอมและเท็จลายมือชื่อและตราประทับในเอกสารแต่ละฉบับมิได้เป็นลายมือชื่อของผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย ทั้งตราประทับก็มิใช่ตราประทับของจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า โจทก์จำเลยและแอลเล็นเบอร์กเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดโดยโจทก์และแอลเล็นเบอร์กตั้งขึ้นตามกฎหมายของรัฐนิวยอร์คและรัฐเทนเนสซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกาตามลำดับเมื่อเดือนมกราคม ถึงเดือนกรกฎาคม 2527 แอลเล็นเบอร์กได้ทำสัญญาขายฝ้ายดิบให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทยโดยมีนายสุรศักดิ์ ภิญญาวัธน์ ลงนามในสัญญาเป็นชื่อภาษาอังกฤษ อ่านว่า เอส ภิญญาวัธน์ และประทับตราว่าบริษัทพิพัฒนกิจเท็กซ์ไทล์ จำกัด ซึ่งเป็นชื่อของจำเลยรวม 7 ฉบับ ต่อมาผู้ซื้อมิได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่แอลเล็นเบอร์กตามสัญญาจนเลยกำหนดการส่งสินค้าไปแล้วแอลเล็นเบอร์กได้มีหนังสือเตือนมายังผู้ซื้อแต่ผู้ซื้อไม่ติดต่อกับแอลเล็นเบอร์ก แอลเล็นเบอร์กจึงเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ ณ เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษวินิจฉัยชี้ขาดข้อตกลงของสัญญาซื้อขายดังกล่าว ต่อมาอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้ซื้อชดใช้ค่าเสียหายและค่าธรรมเนียมกับค่าใช้จ่ายของอนุญาโตตุลาการให้แก่แอลเล็นเบอร์ก แอลเล็นเบอร์กได้ทดรองจ่ายค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของอนุญาโตตุลาการไปแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2529 โจทก์ได้ควบแอลเล็นเบอร์กมาเป็นของโจทก์และดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นคดีนี้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า นายสุรศักดิ์ทำสัญญาซื้อขายทั้ง 7 ฉบับกับแอลเล็นเบอร์กแทนจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาไม่มีหลักฐานใดเลยที่แสดงว่า จำเลยได้มอบอำนาจให้นายสุรศักดิ์ทำสัญญาทั้ง 7 ฉบับ แทนจำเลย เมื่อนายสุรศักดิ์ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนจำเลย ส่วนตราประทับในสัญญาซื้อขายนั้นนางกฤษณา นาสิมมา นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครก็เบิกความว่ามิใช่ตราประทับของจำเลยที่จดทะเบียนเป็นหลักฐานไว้ที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร จึงฟังข้อเท็จจริงไม่ได้ว่านายสุรศักดิ์ทำสัญญาซื้อขายทั้ง 7 ฉบับแทนจำเลยส่วนในปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า นายสุรศักดิ์เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยโดยโจทก์อ้างว่า นายสุรศักดิ์เป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทจำเลยทั้งยังเป็นบุคคลในสกุลภิญญาวัธน์และมีภูมิลำเนาเดียวกับนายบุญชัยภิญญาวัธน์ และนายประทีป ภิญญาวัธน์ กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนจำเลยที่บ้านเลขที่ 45-45/1 ถนนสุขุมวิท 53 แขวงพระโขนง เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร ปรากฏตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย ล.2แผ่นที่ 21 และ 23 การทำสัญญาซื้อขายของนายสุรศักดิ์ก็อยู่ในวัตถุประสงค์ของจำเลย นอกจากนี้ยังมีพฤติการณ์อีกว่า ก่อนมีกรณีพิพาทคดีนี้ จำเลยได้ให้นายสุรศักดิ์ทำสัญญาซื้อฝ้ายดิบจากแอลเล็นเบอร์กมาก่อนตามเอกสารหมาย จ.20 ในการซื้อขายครั้งนี้จำเลยได้ขอให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้จำเลยดังปรากฏตามหนังสือของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นโทรพิมพ์แจ้งไปยังธนาคารบอสตันเนชั่นแนลเซ้าท์ ตามเอกสารหมาย จ.22 และธนาคารดังกล่าวนี้ได้โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารคอมเมิร์สยูเนียน เมมฟิส ไปแล้วตามเอกสารหมาย จ.23 หากจำเลยไม่ขอให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แล้วแอลเล็นเบอร์กจะไม่ทำสัญญาซื้อขายทั้ง 7 ฉบับอีกนั้น เห็นว่าตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยตามเอกสารหมาย ล.2แผ่นที่ 21 และ 23 ปรากฏแต่เพียงว่านายบุญชัยและนายประทีปมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 45/1 ด้วยกันเท่านั้น ส่วนนายสุรศักดิ์มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 3783 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองสานเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ที่เดียวกันดังที่โจทก์อ้าง ส่วนการที่นายสุรศักดิ์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยและอยู่ในสกุลเดียวกันกับนายบุญชัยและนายประทีปซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยก็หาได้เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าการกระทำของบุคคลใดหากเกี่ยวข้องกับจำเลยแล้วบุคคลทั้งสามจะต้องร่วมกันรู้เห็นทุกเรื่องไป กรณีอาจจะเป็นได้ว่านายสุรศักดิ์ได้แอบอ้างเอาชื่อของจำเลยไปใช้ในทางหนึ่งทางใดโดยไม่บอกให้นายบุญชัยและนายประทีปทราบก็ได้ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบพยานหลักฐานมาให้ได้ความจริงว่า นายบุญชัยและนายประทีปได้รู้ถึงการกระทำของนายสุรศักดิ์ที่แอบอ้างเอาชื่อของจำเลยไปใช้โดยนายบุญชัยและนายประทีปทราบแล้วยอมให้นายสุรศักดิ์กระทำการไปโดยไม่มีการทักท้วงขัดขวาง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบพยานหลักฐานถึงความข้อนี้จึงฟังไม่ได้ว่า นายบุญชัยและนายประทีปรู้เห็นยินยอมให้นายสุรศักดิ์เชิดตนเองแสดงออกเป็นตัวแทนของจำเลย ส่วนที่โจทก์อ้างว่ามีพฤติการณ์ของจำเลยมาก่อนว่า จำเลยได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่แอลเล็นเบอร์กตามสัญญาซื้อขายที่นายสุรศักดิ์ทำกับแอลเล็นเบอร์กเอกสารหมาย จ.20 โดยโจทก์อ้างโทรพิมพ์ตามเอกสารหมาย จ.22 ซึ่งมีข้อความว่า บริษัทจำเลยเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แอลเล็นเบอร์กมานั้น เห็นว่า สัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.20มีแต่นายสุรศักดิ์ผู้เดียวลงนาม สำหรับเอกสารหมาย จ.22 ซึ่งเป็นโทรพิมพ์นั้นก็เป็นเอกสารที่ถ่ายมาจากต้นฉบับ โจทก์ไม่มีพยานบุคคลใดที่เกี่ยวข้องในการทำเอกสารดังกล่าวมาสืบประกอบเลยว่า ข้อความในเอกสารดังกล่าวนั้นทำขึ้นมาอย่างไร เมื่อจำเลยไม่รับรองเอกสารดังกล่าวทั้งยังนำสืบปฏิเสธว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ขอให้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตตามเอกสารนั้น จึงไม่อาจจะเชื่อถือข้อความในเอกสารดังกล่าวว่าเป็นความจริงได้พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่เพียงพอที่จะรับฟังพฤติการณ์ของจำเลยได้ว่า จำเลยได้เชิดให้นายสุรศักดิ์เป็นตัวแทนของจำเลย หรือรู้แล้วยอมให้นายสุรศักดิ์เชิดตนเองแสดงออกเป็นตัวแทนของจำเลย จำเลยจึงหาจำต้องรับผิดตามสัญญาซื้อขายทั้ง 7 ฉบับแต่อย่างใดไม่ ดังนั้นเมื่อข้อตกลงที่ว่าหากมีกรณีพิพาทตามสัญญาเกิดขึ้นจะต้องเสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการตามระเบียบและกฎข้อบังคับของเดอะ ริเวอร์พูล คอตต้อน แอสโซซิเอชั่นลิมิเตต เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายดังกล่าว จึงหาผูกพันจำเลยไม่เช่นกัน โจทก์จึงไม่อาจนำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมาฟ้องบังคับให้จำเลยต้องปฏิบัติตามได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาตามฎีกาของโจทก์เป็นประการสุดท้ายคงเหลืออยู่ว่า ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลจากโจทก์จำนวน 200,000บาท เป็นการเรียกค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและที่ศาลอุทธรณ์ไม่คืนส่วนที่เกินให้แก่โจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องโจทก์มีคำขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนอกศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 221 แม้โจทก์จะระบุฐานความผิดในฟ้องว่าผิดสัญญาทางแพ่งและบรรยายฟ้องเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายมาด้วย แต่โจทก์ก็มิได้ขอให้บังคับจำเลยตามสัญญาซื้อขาย ดังนี้โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ข้อ (1) (ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งกำหนดว่า คำฟ้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 221 ให้เรียกโดยอัตราหนึ่งบาทต่อทุกหนึ่งร้อยบาท ตามจำนวนที่อนุญาโตตุลาการกำหนดไว้ในคำชี้ขาดด้วยแต่ไม่ให้เกินแปดหมื่นบาท ศาลชั้นต้นจึงเรียกค่าขึ้นศาลจากโจทก์เกินมาจำนวน 120,000 บาท เงินค่าขึ้นศาลที่เกินมาดังกล่าวนี้จึงต้องคืนให้แก่โจทก์…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจำนวน 120,000บาท แก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share