คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6107/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้การโอนกิจการของธนาคาร ม. ให้แก่เจ้าหนี้ที่จะมีผลบังคับตามพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ (ฉบับที่ 4)ฯมาตรา 38 จัตวา วรรคสอง(3) โดยเฉพาะในส่วนที่จำเป็นต้องดำเนินการที่เกี่ยวข้องในมาตรา 94(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ให้ได้รับยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มีเจตนารมณ์เพียงมิให้นำมาตรา 94(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาใช้บังคับแก่เจ้าหนี้ที่รับโอนกิจการสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดจากธนาคาร ม. โดยมิให้อ้างว่าเป็นการยอมให้ธนาคาร ม. กระทำโอนขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ธนาคารผู้โอนดังกล่าวมีหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ได้เท่านั้น มิได้มุ่งหมายไปถึงหนี้ที่เกิดจากธนาคาร ม. ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อได้รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งเจ้าหนี้รับโอนมาแล้วจะมีสิทธินำมาขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่อย่างใด หนี้ของเจ้าหนี้ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ(ฉบับที่ 4)ฯ มาตรา 38 จัตวา วรรคสอง(3)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดสมุทรปราการรวม 6 คดีจำนวน47,050,734.61 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นสมควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 2138/2541 และ 2583/2541 จำนวน 16,511,572.95 บาท ตามมาตรา 130(7) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 442/2541, 883/2541, 1350/2541 และ 1021/2541น่าเชื่อว่าเจ้าหนี้ยอมให้มีการก่อนหนี้ขึ้นโดยรู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระได้ตามมาตรา 94(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว เห็นสมควรให้ยกเสียทั้งสิ้นตามมาตรา 107(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

เจ้าหนี้อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “…ในการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเจ้าหนี้ทั้งหลายจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 และในการตรวจคำขอรับชำระหนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสอบสวนในเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้นั้น และหนี้ดังกล่าวไม่ต้องห้ามขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายหรือไม่ แล้วทำความเห็นเสนอศาลตามมาตรา 105 และศาลมีอำนาจพิจารณาสั่งตามมาตรา 106, 107 และ 108 ซึ่งเห็นได้ว่าแม้หนี้ที่ขอรับชำระจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาและไม่มีเจ้าหนี้รายอื่นหรือผู้ใดโต้แย้งก็หาได้ผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลให้จำต้องถือตามไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สอบสวนแล้วเห็นว่า หนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 442/2541, 883/2541, 1350/2541 และ 1021/2541 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(2) และรายงานสรุปความเห็นต่อศาล เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบแล้ว ฎีกาของเจ้าหนี้ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่เจ้าหนี้ฎีกาข้อต่อไปว่า หนี้ที่ขอรับชำระหนี้ดังกล่าวเดิมธนาคารมหานครจำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้ได้รับโอนกิจการโดยรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดของธนาคารดังกล่าวมาตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 และประกาศของกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ความเห็นชอบในการโอนกิจการโดยโอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) เจ้าหนี้ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงเป็นการโอนกิจการโดยผลของกฎหมาย เจ้าหนี้ย่อมได้รับการคุ้มครองตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 มาตรา 38 จัตวาวรรคสอง (3) ที่บัญญัติยกเว้นมิให้นำมาตรา 94(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาใช้บังคับ เจ้าหนี้จึงชอบจะได้รับชำระหนี้ดังกล่าวนั้น เห็นว่า แม้การโอนกิจการของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ให้แก่เจ้าหนี้จะมีผลบังคับตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2541 มาตรา 38 จัตวา วรรคสอง(3) โดยเฉพาะในส่วนที่จำเป็นต้องดำเนินการที่เกี่ยวข้องในมาตรา 94(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ให้ได้รับยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มีเจตนารมณ์เพียงมิให้นำมาตรา 94(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาใช้บังคับแก่เจ้าหนี้ที่รับโอนกิจการสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดจากธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) โดยมิให้อ้างว่าเป็นการยอมให้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหานคร) กระทำโอนขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ธนาคารผู้โอนดังกล่าวมีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ได้เท่านั้น มิได้มุ่งหมายไปถึงหนี้ที่เกิดจากธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อได้รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งเจ้าหนี้รับโอนมาแล้วจะมีสิทธินำมาขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่อย่างใดหนี้ของเจ้าหนี้ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 มาตรา 38 จัตวา วรรคสอง (3) ฎีกาของเจ้าหนี้ข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share