คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6107/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีความโกรธแค้น ล. และผูกใจเจ็บ เมื่อมาพบ ล. นอนอยู่ไม่ทันรู้ตัวก็ถือโอกาสเข้าทำร้าย พ. จะเข้าไปห้ามก็ถูกจำเลยชกต่อย แสดงว่าจำเลยเพิ่งมีเจตนาเกิดขึ้นในภายหลังต่างเจตนากันจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ล. ถูกชกและเตะที่บริเวณใบหน้า ดั้งจมูกหักและบวมต้องใช้เวลารักษาประมาณ 1 เดือน ทั้งหลังเกิดเหตุประมาณ 9 เดือน ก็ยังต้องหายใจด้วยรูจมูกข้างเดียว เมื่อทำงานหนักจะมีอาการปวดศีรษะหัวคิ้วและขมับ ถือได้ว่าป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันเป็นอันตรายแก่กายถึงสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายกรรม กล่าวคือจำเลยได้ใช้กำลังกายชกต่อยนายลำพวน รังศิโยหรือรังษิโย ผู้เสียหายหลายครั้ง ถูกบริเวณใบหน้า เป็นเหตุให้ดั้งจมูกหักและบวม มีบาดแผลที่หางตา ได้รับอันตรายแก่กายป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน และหลังจากจำเลยได้กระทำผิดดังกล่าวแล้วจำเลยได้ใช้กำลังชกต่อยนายเพ็ญ จั่นเพชร์ผู้เสียหายหลายครั้ง ถูกบริเวณศีรษะ มีบาดแผลที่ขมับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑, ๒๙๕, ๒๙๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ให้จำคุก ๔ เดือน ปรับ ๑,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๒๙๗ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ โดยให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสอีกกระทงหนึ่ง จำคุก ๑ ปี ๖ เดือน รวมกับที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยมีกำหนด ๔ เดือน และปรับ๑,๐๐๐ บาท อีกกระทงหนึ่ง เป็นจำคุก ๑ ปี ๑๐ เดือน ปรับ ๑,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อแรกว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยต้องการไปพบนายลำพวนเพื่อสอบถามถึงการที่นายลำพวนได้เอาเรื่องที่จำเลยยินยอมไม่ ดำเนินคดีแก่นายลำพวนกับพวกซึ่งร่วมกันทำร้ายร่างกายจำเลยไปพูดกับชาวบ้านทั่วไปในทำนองเย้ยหยันว่า ตีศีรษะจำเลยแล้วเสียเงินค่าปรับหนึ่งพันบาทก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไร จำเลยมีความโกรธแค้นมาก เมื่อจำเลยไปพบนายลำพวนกำลังนอนพักผ่อนที่ศาลาที่พักริมทาง จำเลยเดินเข้าชกต่อยนายลำพวนในขณะที่นายลำพวนนอนเอาหมวกปิดหน้า ไม่มีการโต้เถียงทะเลาะกัน และนายลำพวนมิได้พูดเย้ยหยันจำเลย หลังจากที่ทำร้ายนายลำพวนแล้ว นายเพ็ญจะเข้าไปห้ามก็ถูกจำเลยชกที่ศีรษะ ๑ ที จนศีรษะแตก ตามพฤติการณ์แห่งคดีชี้ให้เห็นว่า จำเลยมีความโกรธแค้นนายลำพวนผู้เสียหายและผูกใจเจ็บอยากแก้แค้น แต่ยังไม่มีโอกาส เมื่อมาพบนายลำพวนผู้เสียหายนอนอยู่ไม่ทันรู้ตัวก็ถือโอกาสเข้าทำร้ายเพื่อระบายความแค้นที่เก็บไว้อันมีสาเหตุมาจากการกระทำของนายลำพวนผู้เสียหาย ส่วนการที่จำเลยชกต่อยนายเพ็ญผู้เสียหายหลังจากทำร้ายนายลำพวนแล้วนั้น จำเลยเพิ่งมีเจตนาเกิดขึ้นในภายหลังต่างเจตนากัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่ความผิดกรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า นายลำพวนผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัสหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายลำพวนผู้เสียหายถูกทำร้ายจนกระทั่งดั้งจมูกหักและบวมต้องใช้เวลารักษาประมาณ ๑ เดือนนายแพทย์สุนทร ชินประสาทศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้ตรวจบาดแผลของผู้เสียหายรายนี้เบิกความว่า บาดแผลดังกล่าวอาจจะทำให้เสียโฉมได้ และแนะนำให้ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลซึ่งมีเครื่องมือสำหรับดันดั้งจมูกออกและได้ความจากคำเบิกความของนายลำพวนผู้เสียหายว่า ถึงแม้ในขณะที่มาเบิกความต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นเวลาหลังเกิดเหตุประมาณ ๙ เดือน ก็ยังต้องหายใจด้วยรูจมูกข้างเดียวเมื่อทำงานหนักจะมีอาการปวดศีรษะ หัวคิ้วและขมับ จึงถือได้ว่าป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน เป็นอันตรายแก่กายถึงสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗(๘)
พิพากษายืน.

Share