แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กรณีที่จะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม ป.รัษฎากร(ฉบับที่ 14) มาตรา 30 นั้น ผู้เสียภาษีจะต้องยื่นคำขอเสียภาษีอากรและได้ชำระภาษีอากรตามจำนวนที่จะต้องเสียภายในระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดโจทก์ยื่นคำขอเสียภาษีอากรแล้ว โจทก์ผ่อนชำระภาษีเป็นรายเดือนตามแบบผ่อนชำระภาษีอากร แต่โจทก์มิได้ผ่อนชำระงวดแรกในกำหนด จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ชำระภาษีอากรตามเงื่อนไขและภายในเวลาที่กำหนดไว้ต้องถือว่าโจทก์มิได้ชำระภาษีอากรภายในเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด ดังนี้โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ตามมาตรา 30 โจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการประเมินทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แม้โจทก์ยกขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้งการประเมินของเจ้าพนักงานตามคำอุทธรณ์เฉพาะในเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีการพิจารณาถึงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรสด้วย แสดงว่าภาษีสองประเภทนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มาแล้วตามมาตรา 30 แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย โจทก์ยอมรับว่ามิได้มีการหักภาษีเงินได้เมื่อจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ และโจทก์จึงยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษี หัก ณ ที่จ่าย เป็นการเหมาพร้อมเงินเพิ่มและโจทก์ก็มิได้โต้แย้งจำนวนเงินค่าจ้างแรงงานที่เจ้าพนักงานตรวจพบ ดังนั้น การประเมินจึงมิใช่การประเมินที่มิชอบด้วยกฎหมาย ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส นั้น เมื่อโจทก์รับซื้อข้าวโพดและข้าวซึ่งเป็นพืชผลในทางการเกษตร โจทก์จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าทางการเกษตรโจทก์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องหักภาษี ณที่จ่าย เพื่อนำส่งเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อโจทก์มิได้หักภาษีณ ที่จ่าย และนำส่ง ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินภาษีจากเงินจำนวนที่ตรวจพบ จึงเป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งตามกฎหมาย แต่โจทก์ไม่หักไว้และนำส่ง โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินเพิ่มจนกว่าโจทก์จะชำระภาษีในส่วนนี้เสร็จ แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่จะต้องเสียหรือนำส่งตามมาตรา 27 มิใช่ชำระเงินเพิ่มเพียงวันที่มีผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการ ค่าโทรศัพท์ และค่ากระแสไฟฟ้า เป็นกรณีที่จะต้องมีเอกสารหลักฐานเก็บไว้แต่โจทก์ไม่มีมาแสดงและจำเลยก็ยังโต้แย้งอยู่ตลอดจนค่าดำเนินการตามพิธีศุลกากร และอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่โจทก์สั่งเข้ามา ไม่ปรากฏหลักฐานว่า โจทก์จ่ายให้ใคร อย่างไรเมื่อใด จึงเป็นรายจ่ายซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ต้องห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (18) โจทก์ส่งข้าวสาร ไปขายต่างประเทศ โดยไม่ลงบัญชี และสั่งสินค้ากากถั่วเหลืองมาจากต่างประเทศเพื่อขายไม่ลงบัญชี ส่วนที่ลงบัญชีโจทก์แสดงต้นทุนซื้อสูงกว่าความเป็นจริง พฤติการณ์ในการกระทำของโจทก์แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่ตนมีหน้าที่ต้องชำระ โจทก์มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีณ ที่จ่าย โจทก์ละเลยโดยไม่มีเหตุผล เมื่อกฎหมายให้โอกาสโจทก์ก็ใช้สิทธิตามกฎหมาย แต่ต่อมาไม่ปฏิบัติตาม ดังนี้ไม่มีเหตุอันควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียทั้งหมดขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มและให้จำเลยถอนการยึดอายัดทรัพย์สินของโจทก์ทั้งหมด
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้วและการประเมินเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น โจทก์มิได้โต้แย้งไว้ในคำอุทธรณ์การประเมินจึงไม่มีอำนาจฟ้อง การตรวจสอบของเจ้าพนักงานที่พบว่าโจทก์เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้องนั้นเป็นการตรวจพบประเด็นผิดพลาดจากหลักฐานของทางราชการเป็นส่วนใหญ่ โดยจำนวนรายรับที่ตรวจพบสูงมาก ไม่อาจฟังได้ว่าโจทก์เสียภาษีผิดพลาดโดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จึงไม่มีเหตุอันควรผ่อนผันงดหรือลดเบี้ยปรับได้สำหรับเงินเพิ่มนั้นตามกฎหมายไม่อาจลดได้ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยลดเบี้ยปรับที่โจทก์จะต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2525 และ 2526ลงครึ่งหนึ่ง คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ระหว่างที่โจทก์ถูกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบไต่สวนนั้น โจทก์ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 ขอเสียภาษีอากรในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2525 และปี 2526 จำนวน 2,189,399.69 บาท โดยชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบ อ.1 เป็นเงิน 547,349.92 บาท ส่วนที่เหลือขอผ่อนชำระเป็นงวดเดือน 8 งวด ครบกำหนดชำระงวดแรกวันที่ 31สิงหาคม 2529 โจทก์ไปยื่นชำระงวดแรกในวันที่ 2 กันยายน 2529เจ้าพนักงานไม่ยอมรับและออกแบบแจ้งการหมดสิทธิตามมาตรา 30แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14)พ.ศ. 2529 หรือแบบ อ.5 ให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2529จากนั้นเจ้าพนักงานประเมินจึงได้แจ้งประเมิน สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น โจทก์จะต้องชำระภาษีเพิ่มรวมทั้งเงินเพิ่มและเบี้ยปรับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 เป็นเงิน 5,663,268 บาทปี 2526 เป็นเงิน 4,910,998 บาท ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส สำหรับปี 2525 และ 2526 รวมเป็นเงิน 793,377.69บาท ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับปี 2525 และ 2526รวมเป็นเงิน 187,974.28 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการประเมินทั้งหมด คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์…
พิเคราะห์แล้วเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ก่อนอุทธรณ์ข้อแรกว่า โจทก์ยังได้รับสิทธิประโยชน์ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529มาตรา 30 วรรคแรก บทกฎหมายดังกล่าวนั้นบัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรผู้ใด ซึ่งยังไม่ได้เสียภาษีอากรหรือเสียไว้ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2529 และได้ชำระภาษีอากรตามจำนวนที่ต้องเสียตามมาตรานี้ ภายในระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันยื่นคำขอให้ผู้นั้นได้รับการยกเว้นจากการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรและความผิดทางอาญา ตามประมวลรัษฎากรสำหรับเงินได้หรือรายรับที่มีอยู่ก่อน หรือในปีภาษี พ.ศ. 2527หรือรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดลงก่อนวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2527″เห็นได้ว่ากรณีที่จะได้ประโยชน์ตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ผู้เสียภาษีจะต้องยื่นขอเสียภาษีอากรและได้ชำระภาษีอากรตามจำนวนที่ต้องเสียภายในระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด กรณีของโจทก์นั้นเมื่อโจทก์ได้ยื่นเสียภาษีตามแบบ อ.1 แล้ว โจทก์ขอผ่อนชำระภาษีบางส่วนเป็นรายเดือนตามแบบขอผ่อนชำระภาษีอากร อ.2 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 191 ซึ่งจะต้องชำระงวดแรกในวันที่ 31 สิงหาคม2529 จำนวน 218,939.97 บาท แต่โจทก์มิได้ผ่อนชำระงวดแรกในกำหนดจึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ชำระภาษีอากรตามเงื่อนไขและภายในเวลาที่กำหนดไว้ในแบบ อ.2 และถึงแม้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเรื่อง กำหนดแบบ ระยะเวลาและหลักเกณฑ์การเสียภาษีอากรตามมาตรา 30แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14)พ.ศ. 2529 ข้อ 5 จะมีระบุว่า “ระยะเวลาและหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้เมื่ออธิบดีกรมสรรพากรเห็นสมควรจะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้” ก็ตามแต่เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอผ่อนผันขยายเวลาการชำระงวดแรกเมื่อโจทก์ไม่ชำระตามกำหนดนั้น ทางอธิบดีกรมสรรพากรก็ไม่อนุญาตให้ผ่อนผันการขยายเวลาจึงต้องถือว่าโจทก์มิได้ชำระภาษีอากรภายในเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะได้รับยกเว้นจากการประเมินอันเป็นประโยชน์ที่กำหนดไว้ตามนัยของมาตรา 30แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14)พ.ศ. 2529…
โจทก์อุทธรณ์ในข้อสองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีหักณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส ปัญหานี้ในคำอุทธรณ์ของโจทก์นั้นโจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการประเมินทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แม้ในรายละเอียดที่โจทก์ยกขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้งการประเมินของเจ้าพนักงานตามคำอุทธรณ์โจทก์โต้แย้งเฉพาะในเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ตามรายงานการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 14 และ 15 นั้น ปรากฏว่ามีการพิจารณาถึงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส ด้วย แสดงว่าภาษีสองประเภทนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มาแล้ว ตามบทบัญญัติมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากรที่บัญญัติให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลนั้น เป็นการบัญญัติไว้เพื่อให้มีการกลั่นกรองกรณีที่มีการแจ้งประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน เมื่อผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงให้อุทธรณ์ต่อศาลได้ ในเมื่อภาษีสองประเภทดังกล่าวนั้น โจทก์ก็อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนด้วยและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้พิจารณาการประเมินภาษีสองประเภทนี้แล้ว จึงเป็นกรณีที่ภาษีสองประเภทนี้ได้มีการอุทธรณ์แล้ว เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในภาษีสองประเภทนี้ก็มีอำนาจฟ้องต่อศาลอันเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องสำหรับภาษีสองประเภทตามที่กล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย… ภาษีสองประเภทนี้ศาลภาษีอากรกลางยังมิได้วินิจฉัยว่า การแจ้งประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายได้มีการนำสืบกันมาครบถ้วน จึงเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพิพากษาในส่วนนี้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย โจทก์ยอมรับว่ามิได้มีการหักภาษีเงินได้เมื่อได้จ่ายเงินได้ให้แก่ลูกจ้างของโจทก์และปรากฏตามคำให้การของนายชุมชัย จุลมณีวงศ์ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 193 ว่า โจทก์ยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 3ของค่าแรงตามที่จ่ายพร้อมเงินเพิ่ม จำนวนเงินค่าจ้างแรงงานที่โจทก์จ่ายตามที่เจ้าพนักงานตรวจพบนั้นโจทก์มิได้โต้แย้ง ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีส่วนนี้ตามที่โจทก์ตกลงยินยอมจึงมิใช่การประเมินที่มิชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุจะเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส นั้น ประมวลรัษฎากรมาตรา 3 เตรส บัญญัติว่า “ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีให้อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ซึ่งไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามลักษณะ 2 หักภาษีณ ที่จ่ายตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดโดยกฎกระทรวงในการนี้ให้นำมาตรา 52 มาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 55 มาตรา 58มาตรา 59 มาตรา 60 และมาตรา 63 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” กฎกระทรวงฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้กำหนดไว้ในข้อ 2 ว่า “การคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายให้คำนวณหักไว้ทุกครั้งที่จ่ายเงินได้พึงประเมินในอัตราร้อยละของยอดเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในแต่ละครั้งตามประเภทเงินได้พึงประเมิน ดังต่อไปนี้
(1) การจ่ายเงินค่าซื้อพืชผลทางการเกษตรร้อยละ 0.75…”
ข้อเท็จจริงได้ความตามที่จำเลยนำสืบโดยโจทก์มิได้ทำให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า โจทก์รับซื้อข้าวโพดและข้าว ซึ่งเป็นพืชผลในทางการเกษตร ดังนั้นเมื่อโจทก์จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าทางการเกษตรตามที่กล่าว โจทก์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเพื่อนำส่งเจ้าพนักงานตามบทกฎหมายที่ได้กล่าวข้างต้น ข้อที่โจทก์อ้างว่าผู้ขายสินค้าไม่ยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่ายก็ดี หรือที่โจทก์อ้างว่าไม่ทราบกฎกระทรวงนั้น ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อให้พ้นความรับผิดตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ และจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจพบตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 70 และ 71 นั้นโจทก์มิได้นำสืบว่าไม่ถูกต้องอย่างไร การที่เจ้าพนักงานประเมินภาษีจากเงินจำนวนนี้ตามอัตราที่กำหนดไว้ ในกฎกระทรวงจึงเป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าการคำนวณเงินเพิ่มของเจ้าพนักงานในภาษีสองประเภทนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งตามกฎหมาย การที่โจทก์ไม่หักไว้และนำส่งโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินเพิ่มจนกว่าโจทก์จะชำระภาษีในส่วนนี้เสร็จแต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 27 มิใช่ชำระเงินเพิ่มเพียงวันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการตามที่โจทก์อ้างมาในฟ้องที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องสำหรับการประเมินภาษีสองประเภทนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล…
รายการที่สี่เรื่องรายจ่ายต้องห้าม ซึ่งโจทก์อ้างว่ามีค่าโทรศัพท์และค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับที่ทำการเดิมของโจทก์จึงเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของโจทก์ ข้อเท็จจริงส่วนนี้ที่โจทก์นำสืบมาคงมีคำเบิกความของนายชุมชัยคนเดียวเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานเอกสารมาแสดงให้เห็นเลย ทั้ง ๆ ที่ตามข้อเท็จจริงที่กล่าวเป็นกรณีที่ต้องมีเอกสารหลักฐานกันไว้ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาเช่าหรือใบรับเงินค่าโทรศัพท์ ค่าไฟฟ้า แต่โจทก์ก็หามีแสดงแต่อย่างใดไม่และจำเลยก็นำสืบโต้แย้งอยู่เช่นนี้ กรณีจึงไม่อาจฟังได้ว่ามีรายจ่ายในส่วนนี้ที่โจทก์จะนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ ในส่วนของรายจ่ายที่โจทก์อ้างว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายให้กับผู้ไปดำเนินการตามพิธีศุลกากรเป็นเงิน 473,855.70 บาท และเสียอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่โจทก์สั่งเข้ามาในราชอาณาจักรอีกจำนวน 512,480.61 บาทนั้น ข้ออ้างดังกล่าวนั้นจากการนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏหลักฐานให้เห็นเลยว่า โจทก์จ่ายให้แก่ใครอย่างไรเมื่อใด จึงเป็นรายจ่ายที่โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับจึงต้องห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี(18)…
โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายในเรื่องเบี้ยปรับ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ที่ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ด้วยกัน ข้อเท็จจริงได้ความตามที่วินิจฉัยในปัญหาข้างต้นแล้วว่ากรณีของโจทก์นั้น โจทก์ส่งสินค้าข้าวถึง 500 ตัน ไปขายต่างประเทศโดยไม่ลงบัญชีและสั่งสินค้ากากถั่วเหลืองเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อขายจำนวน 592,590 กิโลกรัม ก็ไม่ลงบัญชี ส่วนที่มีการลงบัญชีก็ได้ความจากการนำสืบของจำเลยว่า โจทก์ลงบัญชีแสดงต้นทุนซื้อสูงกว่าความเป็นจริง พฤติการณ์ในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวนี้เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์มีเจตนาที่หลีกเลี่ยงภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องชำระ และในกรณีที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายซึ่งโจทก์มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติ โจทก์ก็ละเลยโดยไม่มีเหตุผล เมื่อมีกฎหมายออกมาให้โอกาสโจทก์ โจทก์ก็ใช้สิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับประโยชน์จากการที่จะต้องถูกตรวจสอบไต่สวน แต่ต่อมาก็ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายได้ผ่อนผันให้ จนเจ้าพนักงานประเมินต้องย้อนมาดำเนินการกับโจทก์ใหม่ เมื่อได้พิจารณาถึงเหตุต่าง ๆ ดังที่กล่าวแล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นว่าจะมีเหตุอันควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้โจทก์ การที่โจทก์นำเช็คชำระเงินตามจำนวนภาษีที่ค้างตามขอผ่อนตามแบบ อ.2 มาเสนอชำระหลังจากที่เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งประเมินไปแล้วนั้น ไม่เป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์เจตนาจะชำระภาษีให้ถูกต้องเพราะโจทก์กระทำการอย่างนี้เมื่อไม่มีทางจะบ่ายเบี่ยงไปได้อีกแล้ว และเช็คซึ่งโจทก์นำมาเสนอชำระก็เป็นเช็คที่โจทก์เป็นผู้สั่งจ่ายมิใช่เช็คของธนาคารที่จะเป็นหลักประกันได้แน่นอนว่าจะมีเงินตามเช็คเมื่อถึงกำหนดเวลา ที่ศาลภาษีอากรนำเอาเหตุนี้มาพิจารณาลดเบี้ยปรับให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์โดยไม่ลดเบี้ยปรับ.