คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6104/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 4 มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ รวมทั้งวิศวกรรมจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 มาตรา 66(2)และ (12) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 4 ย่อมมีหน้าที่ควบคุมและจัดให้มีเครื่องหมายและสัญญาณไฟให้ประชาชนผู้ใช้ถนนได้เห็นชัดเจนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 4 ถึงแม้จะได้กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลพื้นที่ที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 4 ก็ต้องควบคุมให้จำเลยที่ 2 ติดตั้งเครื่องหมายและสัญญาณไฟขึ้นให้ถูกต้อง เมื่อปรากฏว่าคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีความประมาทมิได้ติดตั้งสัญญาณไฟไว้ในบริเวณหลุมที่เกิดเหตุ ว.และส. ซึ่งจำเลยที่ 4 ส่งไปให้ควบคุมการซ่อมปรับปรุงถนนที่เกิดเหตุ ก็มิได้คอยดูว่ามีการติดตั้งสัญญารถไฟบริเวณหลุมดังกล่าวในคืนเกิดเหตุหรือไม่เช่นนี้ ตามพฤติการณ์ชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 ละเว้นหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อในการไม่ควบคุมให้มีการติดตั้งเครื่องหมายและสัญญาณไฟให้ถูกต้องเพื่อป้องกันอุบัติเหตุหรือป้องกันอันตรายแก่ผู้ใช้ถนน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 4 ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีดามาก่อสร้าง จำเลยที่ 2 ซ่อมปรับปรุงถนนราชวิถีจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงใกล้ทางรถไฟจำเลยที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างทำหน้าที่คอยให้สัญญาณแก่ผู้ใช้ถนนในบริเวณนั้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2525 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา โจทก์ที่ 2 ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 1 รับประกันภัยไว้ไปตามถนนสายนี้ จำเลยที่ 2 ขุดหลุมขวางถนนในช่องทางที่โจทก์ที่ 2 จะต้องขับรถไป โดยจำเลยที่ 1 มิได้ติดตั้งสัญญาณไฟไว้ที่หลุม เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ขับรถตกหลุมดังกล่าว รถและทรัพย์สินอื่นของโจทก์ที่ 2 รวมทั้งทรัพย์สินของโจทก์ที่ 3 เสียหาย ตัวโจทก์ที่ 2ที่ 3 บาดเจ็บสาหัส เด็กชายพีระพัฒน์ รัตนางศุ ถึงแก่ความตายขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 105,624 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 193,500 บาท และโจทก์ที่ 3 จำนวน 64,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ทั้งสามไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการส่งหมายเรียกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 และไม่ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิได้ จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จัดแผงสัญญาณเตือน เหตุเกิดเพราะโจทก์ที่ 2 ประมาทโดยขับรถขณะเสพสุรามึนเมาขับเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 2 รับเหมาก่อสร้างปรับปรุงถนนราชวิถีจากจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ได้มอบการครอบครองถนนช่วงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ จำเลยที่ 4จึงมิต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 เหตุเกิดเพราะความประมาทของโจทก์ที่ 2 ที่ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 90,000 บาทนับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2525 และดอกเบี้ยอัตราเดิมของต้นเงิน10,000 บาท นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 14,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2525 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3 กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกามีแต่เพียงว่าจำเลยที่ 4 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 2 ให้ทำการซ่อมปรับปรุงถนนราชวิถีจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงใกล้ทางรถไฟจำเลยที่ 2 ได้มอบให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำหน้าที่คอยให้สัญญาณแก่ผู้ใช้ถนนในบริเวณนั้น เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2525 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา โจทก์ที่ 2 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ก-9738กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 1 รับประกันภัยไว้ไปตามถนนสายนี้ จำเลยที่ 2 ขุดหลุมขวางถนนในช่องทางที่โจทก์ที่ 2จะต้องขับรถไป โดยจำเลยที่ 1 มิได้ติดตั้งสัญญาณไฟไว้ที่หลุมเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ขับรถตกหลุมดังกล่าว รถและทรัพย์สินอื่นของโจทก์ที่ 2 รวมทั้งทรัพย์สินของโจทก์ที่ 3 เสียหาย ตัวโจทก์ที่ 2 ที่ 3 บาดเจ็บสาหัส เด็กชายพีระพัฒน์ รัตนางศุ ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 4 นำสืบต่อสู้ว่าจำเลยที่ 4 ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 2 โดยมอบให้จำเลยที่ 2 ดูแลถนนในระหว่างทำการซ่อมปรับปรุง จำเลยที่ 4 ได้แต่งตั้งนายวิเชียร สิโนทก กับนายสมศักดิ์ พุ่มกนก เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง นายวิเชียรแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทำเครื่องหมายป้องกันอุบัติเหตุและสัญญาณไฟให้เพียงพอ และจำเลยที่ 4 ได้มีหนังสือเตือนไปอีกตามเอกสารหมาย ล.4, ล.5 จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิด
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 4 มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำรวมทั้งการวิศวกรรมจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 มาตรา 66(2) และ (12)ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ย่อมมีหน้าที่ควบคุมและจัดให้มีเครื่องหมายสัญญาณไฟให้ประชาชนผู้ใช้ถนนได้เห็นชัดเจนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 4 ถึงแม้จะได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลพื้นที่ดังกล่าว จำเลยที่ 4 ก็ต้องควบคุมให้จำเลยที่ 2 ติดตั้งเครื่องหมายและสัญญาณไฟขึ้นให้ถูกต้องข้อเท็จจริงได้ความว่าในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2มีความประมาทมิได้ติดตั้งสัญญาณไฟไว้ในบริเวณที่เกิดเหตุนายวิเชียร สิโนทก และนายสมศักดิ์ พุ่มกนกซึ่งจำเลยที่ 4ส่งไปให้ควบคุมการซ่อมปรับปรุงถนนที่เกิดเหตุ ก็มิได้คอยดูว่ามีการติดตั้งสัญญาณไฟบริเวณหลุมดังกล่าวในคืนเกิดเหตุหรือไม่ และนายวิเชียร สิโนทกยังได้เบิกความว่า เอกสารหมาย ล.4 ล.5ที่จำเลยที่ 4 ส่งไปให้จำเลยที่ 2 นั้น มิใช่เอกสารที่เตือนให้ติดตั้งสัญญาณไฟหลุมที่เกิดเหตุ ที่จำเลยที่ 4 แก้ฎีกาว่าเกิดเหตุเพราะโจทก์ที่ 2 ประมาท ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น รับฟังไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 4 มิได้นำสืบพยานหลักฐานในข้อนี้ และได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีวิมล เปาอินทร์พยานโจทก์ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นรองสารวัตรจราจรในขณะเกิดเหตุว่าพยานได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุในเวลาใกล้ชิดกับเวลาเกิดเหตุปรากฏว่าสองข้างถนนไม่มีแสงไฟฟ้า หลังจากรถโจทก์ที่ 2 ตกหลุมแล้ว ยังมีรถอื่นตกหลุมดังกล่าวนี้อีกด้วย พยานมิได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ที่ 2 เพราะเห็นว่าโจทก์ที่ 2 มิได้ประมาท ตามพฤติการณ์แห่งคดีชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 ละเว้นหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อในการไม่ควบคุมให้มีการติดตั้งเครื่องหมายและสัญญาณไฟให้ถูกต้องเพื่อป้องกันอุบัติเหตุหรือป้องกันอันตรายแก่ผู้ใช้ถนนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามด้วย จำเลยที่ 4จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสามพร้อมดอกเบี้ย และค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสามด้วย โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีการวม 4,000 บาท

Share