คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6103/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกตกแก่ทายาทของ ก. คือ บุตรทั้ง 9 คน รวมทั้งโจทก์และบิดาจำเลย ดังนั้น บิดาจำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินมรดกพิพาท 1 ใน 9 ส่วน และมีสิทธิยกส่วนของตนให้แก่จำเลยได้ และเมื่อจำเลยมีสิทธิในที่ดินมรดกพิพาท 1 ส่วน จึงเป็นเจ้าของรวมและมีสิทธิใช้สอยที่ดินมรดกพิพาท ทั้งโจทก์ไม่ได้ฟ้องและนำสืบว่า การที่จำเลยสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ในที่ดินมรดกพิพาทเป็นการใช้สิทธิขัดต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย แม้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
การที่ศาลล่างทั้งสองให้ทายาทของ ก. อื่นนอกจากโจทก์อีก 7 คน ที่ไม่ได้ฟ้องหรือร้องสอดเข้ามาในคดีนี้หรือได้มอบอำนาจให้โจทก์เรียกทรัพย์มรดกแทน ใส่ชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่ดินมรดกพิพาท และเป็นเจ้าของรวมในที่ดินดังกล่าวคนละส่วนเท่า ๆ กัน และได้รับค่าเสียหายจากจำเลยด้วย จึงเป็นการกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่น ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 และเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแทนทายาทอื่นในส่วนนี้ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยดำเนินการจดทะเบียนเอาชื่อของจำเลยออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 371 โดยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และทายาทโดยธรรมของนายกลันรวม 9 คน หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหลังใหม่ที่จำเลยปลูกสร้างในที่ดินของนายกลันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์หรือทายาทโดยธรรมอื่นเข้าทำการรื้อถอนเองโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าว ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และทายาทโดยธรรมของนายกลัน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนนำชื่อจำเลยออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 371 แล้วจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และทายาทโดยธรรมของนายกลันทุกคนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารทั้งหมดออกไปจากที่ดิน ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ (แก่โจทก์และในฐานะทายาททุกคนของนายกลัน) นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท กับในส่วนที่ขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ในที่ดินพิพาท และให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทระหว่างนายกลิ่นกับจำเลย เฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทจำนวน 8 ใน 9 ส่วน โดยให้จำเลยดำเนินการใส่ชื่อโจทก์และทายาทโดยธรรมของนายกลันอีก 7 คน รวม 8 คน ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 371 โดยให้โจทก์ จำเลยและทายาททุกคนรวม 9 คน เป็นเจ้าของรวมในที่ดินดังกล่าวคนละส่วนเท่า ๆ กัน หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า นายกลัน เป็นสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของนางห้องลั่น มีบุตรด้วยกัน 9 คน รวมทั้งโจทก์ และนายกลิ่น ซึ่งเป็นทายาทของนายกลัน จำเลยเป็นบุตรของนายกลิ่น นายกลันถึงแก่ความตาย มีทรัพย์มรดกคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 371 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านไม้ชั้นครึ่งทรงไทยหลังคาปั้นหยา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายกลิ่นเป็นผู้จัดการมรดกของนายกลัน ต่อมานายกลิ่นในฐานะผู้จัดการมรดกของนายกลันจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของนายกลิ่นและในวันเดียวกันนายกลิ่นได้จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยเสน่หา ภายหลังจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินซึ่งมีราคา 250,000 บาท ออกทั้งหมดและสร้างบ้านหลังใหม่ นายกลิ่นถึงแก่ความตายก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทระหว่างนายกลิ่นกับจำเลย เฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทจำนวน 8 ใน 9 ส่วน และให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทกับในส่วนที่ขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ในที่ดินพิพาทชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า นายกลิ่นถูกกำจัดมิให้รับมรดก นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนเอาชื่อของจำเลยออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 371 ที่ดินมรดกและให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และทายาทโดยธรรมของนายกลันรวม 9 คน ซึ่งรวมทั้งนายกลิ่นบิดาจำเลย ทั้งมิได้ฟ้องกำจัดนายกลิ่นมิให้รับมรดกแต่อย่างใด ที่โจทก์ฎีกาว่านายกลิ่นถูกกำจัดมิให้รับมรดก จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ มาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า นายกลิ่นในฐานะผู้จัดการมรดกของนายกลันจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกพิพาทดังกล่าวเป็นของตนเองเพียงคนเดียว และในวันเดียวกันนายกลิ่นได้จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกพิพาทดังกล่าวให้แก่จำเลยซึ่งมิใช่ทายาทของนายกลัน จำเลยรับโอนโดยไม่สุจริต โจทก์และทายาทโดยธรรมของนายกลันจึงขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวและให้นำชื่อจำเลยออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 371 ที่ดินมรดกพิพาทได้ และคดีนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ นั้น เห็นว่า ได้ความตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า เมื่อนายกลันถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกตกแก่ทายาทของนายกลัน คือ บุตรทั้ง 9 คน รวมทั้งโจทก์และนายกลิ่น ดังนั้น นายกลิ่นจึงมีสิทธิในที่ดินมรดกพิพาท 1 ใน 9 ส่วน และมีสิทธิยกส่วนของตนให้แก่จำเลยได้ และเมื่อจำเลยมีสิทธิในที่ดินมรดกพิพาท 1 ส่วน จึงเป็นเจ้าของรวมและมีสิทธิใช้สอยที่ดินมรดกพิพาท ทั้งโจทก์ไม่ได้ฟ้องและนำสืบว่าการที่จำเลยสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ในที่ดินมรดกพิพาทเป็นการใช้สิทธิขัดต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย แม้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินมรดกพิพาทระหว่างนายกลิ่นกับจำเลยเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทจำนวน 8 ใน 9 ส่วน และให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินมรดกพิพาทกับในส่วนที่ขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ในที่ดินมรดกพิพาท จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 จะบัญญัติถึงการที่ทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคนได้ และโจทก์ได้ฟ้องและนำสืบว่านายกลิ่นได้จดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทรัพย์มรดกของนายกลันแก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรของนายกลิ่นโดยเสน่หา ทั้งที่ต้องแบ่งปันให้แก่บุตรทั้ง 9 คน ของนายกลันซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมและนายกลิ่นบิดาจำเลยถึงแก่ความตายก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ และโจทก์มีคำขอให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเอาชื่อของจำเลยออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 371 ที่ดินมรดกพิพาท และให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และทายาทโดยธรรมของนายกลันรวม 9 คน อันมีความหมายรวมอยู่ว่าโจทก์ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินมรดกพิพาทระหว่างนายกลิ่นกับจำเลย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินมรดกพิพาทระหว่างนายกลิ่นกับจำเลย เฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นจำนวน 8 ใน 9 ส่วน โดยให้จำเลยดำเนินการใส่ชื่อโจทก์ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 371 ที่ดินมรดกพิพาท 1 ใน 9 ส่วน ชอบแล้วก็ตาม แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ใส่ชื่อทายาทโดยธรรมของนายกลันอื่นนอกจากโจทก์ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 371 ที่ดินมรดกพิพาท และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์และในฐานะทายาททุกคนของนายกลัน และศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาใส่ชื่อทายาทโดยธรรมของนายกลันอื่นนอกจากโจทก์อีก 7 คน ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 371 ที่ดินมรดกพิพาท และให้ทายาทโดยธรรมของนายกลันอื่นนอกจากโจทก์อีก 7 คน เป็นเจ้าของรวมที่ดินมรดกพิพาทดังกล่าวคนละส่วนเท่า ๆ กัน และมิได้แก้ไขในส่วนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้แก่ทายาทโดยธรรมของนายกลันอื่นนอกจากโจทก์ ตามคำขอของโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้ามีคดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาทมีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้น จะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้ และวรรคสอง บัญญัติว่า แต่ศาลจะเรียกทายาทอื่นนอกจากคู่ความ หรือผู้ร้องสอดให้เข้ามารับส่วนแบ่ง หรือกันส่วนแห่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นนั้นไม่ได้ ซึ่งกรณีที่ศาลล่างทั้งสองให้ทายาทโดยธรรมของนายกลันอื่นนอกจากโจทก์อีก 7 คน ที่ไม่ได้ฟ้องหรือร้องสอดเข้ามาในคดีนี้หรือได้มอบอำนาจให้โจทก์เรียกทรัพย์มรดกแทน ใส่ชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 371 ที่ดินมรดกพิพาท และเป็นเจ้าของรวมในที่ดินดังกล่าวคนละส่วนเท่า ๆ กัน และได้รับค่าเสียหายจากจำเลยด้วย จึงเป็นการกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่น ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว และเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแทนทายาทอื่นในส่วนนี้ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และโจทก์คงได้รับค่าเสียหาย 1 ใน 9 ส่วน เป็นเงิน 27,777.77 บาท เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอโจทก์ในส่วนที่ขอให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อทายาทโดยธรรมของนายกลันอีก 7 คน ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 371 ที่ดินมรดกพิพาท โดยให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อเฉพาะโจทก์ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 371 ที่ดินมรดกพิพาท 1 ใน 9 ส่วน หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 27,777.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share