คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4812/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า ข้อเท็จจริงที่ฟังมาเป็นยุติว่า เงินที่โจทก์ได้รับจาก จ. เดือนละ 3,000 บาท ไม่ใช่เงินของจำเลย และจำเลยจ่ายเงินค่ารับส่งพนักงานในจำนวนที่ต่ำลง การกระทำของโจทก์จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยหาใช่เป็นการแสวงหาประโยชน์สำหรับตัวโจทก์หรือผู้อื่นไม่ จะถือว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำโดยทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงไม่ได้นั้น มีความหมายว่า โจทก์อ้างว่าไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่เพราะการที่โจทก์รับเงินจากจ.ไม่เป็นการรับไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับโจทก์หรือผู้อื่น แต่เพื่อแสวงหาประโยชน์แก่จำเลยโดยเฉพาะ อันเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานรับฟังมาว่าโจทก์รับเงินไว้โดยทราบดีว่า จ.จ่ายเงินแก่โจทก์เพราะมีความประสงค์ให้โจทก์อำนวยความสะดวกในการประมูลรถรับส่งพนักงานต่อไป ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์รับเงินไว้โดยมิชอบเพื่อประโยชน์แก่โจทก์เองหรือผู้อื่น และที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ทำให้จำเลยจ่ายเงินค่ารับส่งพนักงานในจำนวนที่ต่ำลง ก็เป็นการยกข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลแรงงานเพียงบางส่วนขึ้นอ้าง ซึ่งนี้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงมาว่า หาก จ.ไม่ต้องจ่ายเงินแก่โจทก์เงินที่ต้องใช้ในการประมูลรถรับส่งพนักงานจะมีจำนวนต่ำลง การรับเงินของโจทก์จากบุคคลดังกล่าวจึงมีผลกระทบทำให้จำเลยต้องเสียเงินในส่วนที่ไม่จำเป็นไป อันเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ตามหนังสือเลิกจ้างข้อความว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์ โดยจำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่าการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ และโจทก์ได้กระทำความผิดในเรื่องการรับสินบนจากผู้รับจ้างกับผู้ประกอบการรับ – ส่งพนักงาน ซึ่งทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการคัดเลือกผู้รับจ้างมีความหมายว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดในเรื่องการรับเงินจากผู้ที่โจทก์มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการทำงานและมีผลทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ซึ่งเท่ากับจำเลยอ้างเหตุว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงนั่นเอง การที่ศาลแรงงานยกเหตุในการเลิกจ้างดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยจึงชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสามแล้ว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบุคคล จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ทำงานติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่ครบ3 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 39,390บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 13,567.66 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 40,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง และในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าเสียหายนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการพนักงานของจำเลยและรับสมัครบุคคลเข้าทำงานกับจำเลย โจทก์เรียกรับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจันทร์สุดาการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผู้รับส่งพนักงานของจำเลย เดือนละ 3,000บาท และเรียกเงินจากผู้สมัครงานกับจำเลยคนละ 1,000 บาท เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ทำให้จำเลยเสียหาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินใด ๆ ให้โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบุคคล มีหน้าที่ในการติดต่อบุคคลภายนอกให้เข้าทำสัญญารับส่งพนักงานกับจำเลยแต่กลับรับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจันทร์สุดาการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผู้เข้ามารับจ้างรับส่งพนักงาน โดยโจทก์ทราบดีว่า เหตุที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจันทร์สุดาการท่องเที่ยวจ่ายเงินให้ก็เพื่อต้องการให้โจทก์อำนวยความสะดวกในการประมูลรถและชนะการประมูลได้เป็นผู้รับจ้างรับส่งพนักงานต่อไป และที่โจทก์รับเงินเนื่องจากโจทก์อยู่ในหน้าที่ต้องจัดหาผู้เข้ามารับส่งพนักงานในแต่ละปี และคอยดูแลความเรียบร้อยในเรื่องดังกล่าว การรับเงินของโจทก์จึงเป็นการรับเงินโดยอาศัยงานในหน้าที่ อันเป็นการได้รับมาโดยไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่และอาจส่งผลกระทบทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเสียประโยชน์ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และเป็นกรณีฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง การเลิกจ้างของจำเลยจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าข้อเท็จจริงที่ฟังมาเป็นยุติว่า เงินที่โจทก์ได้รับจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจันทร์สุดาการท่องเที่ยวเดือนละ 3,000 บาท ไม่ใช่เงินของจำเลย และจำเลยจ่ายเงินค่ารับส่งพนักงานในจำนวนที่ต่ำลง การกระทำของโจทก์จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยหาใช่เป็นการแสวงหาประโยชน์สำหรับตัวโจทก์หรือผู้อื่นไม่ จะถือว่าการกระทำของโจทก์ เป็นการกระทำโดยทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงไม่ได้นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวมีความหมายว่า โจทก์อ้างว่าไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่เพราะการที่โจทก์รับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจันทร์สุดาการท่องเที่ยวไม่เป็นการรับไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับโจทก์หรือผู้อื่น แต่เพื่อแสวงหาประโยชน์แก่จำเลยโดยเฉพาะ อันเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่าโจทก์รับเงินไว้โดยทราบดีว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดจันทร์สุดาการท่องเที่ยวจ่ายเงินแก่โจทก์เพราะมีความประสงค์ให้โจทก์อำนวยความสะดวกในการประมูลรถรับส่งพนักงานต่อไปซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์รับเงินไว้โดยมิชอบเพื่อประโยชน์แก่โจทก์เองหรือผู้อื่น และที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ทำให้จำเลยจ่ายเงินค่ารับส่งพนักงานในจำนวนที่ต่ำลง ก็เป็นการยกข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเพียงบางส่วนขึ้นอ้าง ซึ่งเรื่องนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า หากห้างหุ้นส่วนจำกัดจันทร์สุดาการท่องเที่ยวไม่ต้องจ่ายเงินแก่โจทก์ เงินที่ต้องใช้ในการประมูลรถรับส่งพนักงานจะมีจำนวนต่ำลง การรับเงินของโจทก์จากบุคคลดังกล่าวจึงมีผลกระทบทำให้จำเลยต้องเสียเงินในส่วนที่ไม่จำเป็นไป อันเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า หนังสือเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้ระบุเหตุเลิกจ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง ศาลแรงงานกลางจึงไม่อาจหยิบยกเรื่องโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงขึ้นมาวินิจฉัยให้จำเลยได้นั้น เห็นว่า ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.1 ระบุข้อความว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์ โดยจำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่าการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ และโจทก์ได้กระทำความผิดในเรื่องการรับสินบนจากผู้รับจ้างกับผู้ประกอบการรับ – ส่งพนักงาน ซึ่งทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการคัดเลือกผู้รับจ้าง หนังสือดังกล่าวมีความหมายว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดในเรื่องการรับเงินจากผู้ที่โจทก์มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการทำงานและมีผลทำให้จำเลยได้รับความเสียหายซึ่งเท่ากับจำเลยอ้างเหตุว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงนั่นเอง ที่ศาลแรงงานกลางยกเหตุในการเลิกจ้างดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา17 วรรคสามแล้ว
พิพากษายืน.
(เสรี ชุณหถนอม – พิมล สมานิตย์ – มงคล คุปต์กาญจนากุล)ศาลแรงงานกลาง นายอิศรา วรรณสวาท
นายอนันต์ ชุมวิสูตร – ตรวจ
นายเกษมสันต์ วิลาวรรณ – ผู้ช่วยผู้พิพากษาฯ
นายเอกศักดิ์ ยันตรปกรณ์ – ย่อ
รุจิรา พิมพ์/ทาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 39,360 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 13,567.66 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง และในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าเสียหายนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบุคคล มีหน้าที่ในการติดต่อบุคคลภายนอกให้เข้าทำสัญญารับส่งพนักงานกับจำเลย แต่กลับรับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจันทร์สุดาการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผู้เข้ามารับจ้างรับส่งพนักงาน โดยโจทก์ทราบดีว่าเหตุที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจันทร์สุดาการท่องเที่ยวจ่ายเงินให้ก็เพื่อต้องการให้โจทก์อำนวยความสะดวกในการประมูลรถและชนะการประมูลได้เป็นผู้รับจ้างรับส่งพนักงานต่อไป และที่โจทก์รับเงินเนื่องจากโจทก์อยู่ในหน้าที่ต้องจัดหาผู้เข้ามารับส่งพนักงานในแต่ละปี และคอยดูแลความเรียบร้อยในเรื่องดังกล่าว การรับเงินของโจทก์จึงเป็นการรับเงินโดยอาศัยงานในหน้าที่ อันเป็นการได้รับมาโดยไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่และอาจส่งผลกระทบทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเสียประโยชน์ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และเป็นกรณีฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง การเลิกจ้างของจำเลยจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าข้อเท็จจริงที่ฟังมาเป็นยุติว่า เงินที่โจทก์ได้รับจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจันทร์สุดาการท่องเที่ยวเดือนละ 3,000 บาท ไม่ใช่เงินของจำเลย และจำเลยจ่ายเงินค่ารับส่งพนักงานในจำนวนที่ต่ำลง การกระทำของโจทก์จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลย หาใช่เป็นการแสวงหาประโยชน์สำหรับตัวโจทก์หรือผู้อื่นไม่ จะถือว่าการกระทำของโจทก์ เป็นการกระทำโดยทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงไม่ได้นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวมีความหมายว่า โจทก์อ้างว่าไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ เพราะการที่โจทก์รับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจันทร์สุดาการท่องเที่ยวไม่เป็นการรับไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับโจทก์หรือผู้อื่น แต่เพื่อแสวงหาประโยชน์แก่จำเลยโดยเฉพาะ อันเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่าโจทก์รับเงินไว้โดยทราบดีว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดจันทร์สุดาการท่องเที่ยวจ่ายเงินแก่โจทก์เพราะมีความประสงค์ให้โจทก์อำนวยความสะดวกในการประมูลรถรับส่งพนักงานต่อไป ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์รับเงินไว้โดยมิชอบเพื่อประโยชน์แก่โจทก์เองหรือผู้อื่น และที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ทำให้จำเลยจ่ายเงินค่ารับส่งพนักงานในจำนวนที่ต่ำลง ก็เป็นการยกข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเพียงบางส่วนขึ้นอ้าง ซึ่งเรื่องนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า หากห้างหุ้นส่วนจำกัดจันทร์สุดาการท่องเที่ยวไม่ต้องจ่ายเงินแก่โจทก์ เงินที่ต้องใช้ในการประมูลรถรับส่งพนักงานจะมีจำนวนต่ำลง การรับเงินของโจทก์จากบุคคลดังกล่าวจึงมีผลกระทบทำให้จำเลยต้องเสียเงินในส่วนที่ไม่จำเป็นไป อันเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า หนังสือเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้ระบุเหตุเลิกจ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง ศาลแรงงานกลางจึงไม่อาจหยิบยกเรื่องโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงขึ้นมาวินิจฉัยให้จำเลยได้นั้น เห็นว่า ตามหนังสือเลิกจ้างมีข้อความว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์ โดยจำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่าการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ และโจทก์ได้กระทำความผิดในเรื่องการรับสินบนจากผู้รับจ้างกับผู้ประกอบการรับ – ส่งพนักงาน ซึ่งทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการคัดเลือกผู้รับจ้าง มีความหมายว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดในเรื่องการรับเงินจากผู้ที่โจทก์มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการทำงานและมีผลทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ซึ่งเท่ากับจำเลยอ้างเหตุว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงนั่นเอง การที่ศาลแรงงานกลางยกเหตุในการเลิกจ้างดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสามแล้ว
พิพากษายืน.

Share