แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ตกลงขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยสำคัญผิดในราคาที่ดินเพราะถูกนายหน้าหลอกลวงซึ่งจำเลยที่ 1 รู้หรือควรจะได้รู้ถึงการหลอกลวงดังกล่าว การที่โจทก์สำคัญผิดในเรื่องราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกัน แม้มิใช่สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม แต่ราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันย่อมมีความสำคัญมากพอกับตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม จึงถือว่าโจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156
เมื่อนิติกรรมซื้อขายที่ดินเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมและเกิดจากกลฉ้อฉลในขณะเดียวกัน แต่ผลทางกฎหมายต่างกันกล่าวคือ นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 156 แต่นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 159 จึงต้องถือว่านิติกรรมเป็นโมฆะ เพราะเป็นผลดีต่อผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยบกพร่องยิ่งกว่าเป็นโมฆียะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสิงโต อินแย้ม ซึ่งมีทรัพย์มรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1654 ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน 43 ตารางวา เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2532จำเลยที่ 1 กับพวก ได้ร่วมกันฉ้อฉลหลอกลวงให้โจทก์ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวโดยหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจะซื้อที่ดินพิพาทในราคา 52,000,000 บาทโจทก์หลงเชื่อจึงพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารหลายฉบับให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ทราบข้อความเพราะโจทก์ไม่รู้หนังสือ ต่อมาจึงทราบว่าเป็นสัญญาขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1ในราคา 4,000,000 บาท ซึ่งไม่ตรงตามเจตนาที่แท้จริงของโจทก์ เพราะโจทก์ตกลงขายที่ดินในราคา 52,000,000 บาท และโจทก์ไม่เคยได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 นิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 รับจำนองไม่สุจริตและไม่เสียค่าตอบแทน การจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันที่ดินโจทก์ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1654 ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองดำเนินการใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยปลอดจำนอง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาและให้จำเลยทั้งสองส่งมอบหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืนโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้ทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตเพื่อประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้เงินจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1654 เลขที่ดิน 58 ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบจังหวัดชลบุรี ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1654 เลขที่ดิน 58 ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีคืนโจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ก่อนศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่กรรม นายเสนอ อินแย้ม ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1654 ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบจังหวัดชลบุรี มีชื่อนายสิงโต อินแย้ม สามีโจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ หลังจากนายสิงโตถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสิงโต ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2532 โจทก์ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา4,000,000 บาท วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 10,000,000 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะถูกกลฉ้อฉลและโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมอันจะเป็นโมฆะหรือไม่ โจทก์และนายเสนอ อินแย้ม บุตรโจทก์เบิกความว่าโจทก์ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่นายสุวัฒน์หรือสนิท เหมือนบุญ กับพวกในราคา 52,000,000 บาท ไม่เคยตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา4,000,000 บาท ตามที่จดทะเบียนต่อพนักงานที่ดินอำเภอสัตหีบหรือ 14,000,000บาท ดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง โดยโจทก์มีนายถวิล ชาวสวน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เบิกความรับรองว่าที่ดินพิพาทและที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทมีราคาซื้อขายกันในท้องตลาดไร่ละ 2,500,000 บาท นายสุวัฒน์พฤกษ์เสถียร ผู้รับมอบอำนาจจากธนาคารแหลมทอง จำกัด จำเลยที่ 2 ก็เบิกความเจือสมว่าธนาคารได้ประเมินราคาที่ดินพิพาทไว้เป็นเงิน 36,000,000 บาท ประกอบกับในทางนำสืบไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือเหตุผลพิเศษที่แสดงว่า โจทก์มีความจำเป็นต้องขายที่ดินพิพาทให้ราคาต่ำกว่าราคาในท้องตลาดมากเช่นนี้ จึงน่าเชื่อตามคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์มีเจตนาขายที่ดินพิพาทในราคา 52,000,000 บาท จริง ส่วนสาเหตุที่โจทก์ไปทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 4,000,000 บาท นั้นนายเสนอเบิกความว่า ในวันนั้นนายสุวัฒน์และนายปลิว ไม่ทราบนามสกุล ใช้อุบายหลอกลวงนายเสนอให้ไปอยู่ที่บ้านของเรือเอกสมสิทธิ์ สมบัติบูรณ์ แล้ว นายสุวัฒน์กับนายปลิวย้อนกลับมารับโจทก์ที่บ้านพาไปจดทะเบียนนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ณ สำนักงานที่ดินอำเภอสัตหีบตามลำพัง โดยมีโจทก์เบิกความในเรื่องนี้ว่าเมื่อนายสุวัฒน์พาโจทก์ซึ่งอ่านหนังสือไม่เป็นมาถึงสำนักงานที่ดินอำเภอสัตหีบพบนายเสมียนพรรคพวกของนายสุวัฒน์รออยู่แล้ว นายเสมียนพาโจทก์ไปพบนางเสงี่ยมทองประกอบ พนักงานที่ดินอำเภอ จากนั้นนายเสมียนได้จับมือโจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสารหลายฉบับและเอาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาทไปจากโจทก์อ้างว่าจะเอาไปตรวจสอบกับต้นฉบับของสำนักงานที่ดินอำเภอ วันนั้นโจทก์ไม่ได้รับเงินค่าขายที่ดินโดยนายสุวัฒน์บอกว่าทำนิติกรรมซื้อขายยังไม่เสร็จ เพราะนายอำเภอไม่อยู่ พรุ่งนี้เช้านายสุวัฒน์จะไปรับโจทก์มาที่สำนักงานที่ดินอีก แต่ไม่มีใครมารับโจทก์ โจทก์จึงทราบว่าถูกหลอกให้ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1นอกจากคำเบิกความของโจทก์และนายเสนอดังกล่าวแล้ว พันตำรวจเอกสันต์ชัยวสุนทรา นายแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ แผนกจิตเวชเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์มีอาการสมองเสื่อม ซึ่งอาจถูกชักจูงได้ง่ายกว่าคนปกติ ประกอบกับโจทก์เป็นหญิงชรา อายุมากถึง 79 ปี อ่านเขียนหนังสือไทยไม่เป็นจึงน่าเชื่อว่าโจทก์ถูกหลอกลวงให้ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จริง ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ตกลงขายที่ดินพิพาทในราคา 14,000,000 บาท ให้แก่นายสมศักดิ์ เตชะเกษม นายผอง อ่อนหวันหรือนวลสถิตย์วงศ์ และนายพงษ์ชัย โฆษิตธนากร บิดาจำเลยที่ 1 โดยตกลงกันให้ใส่ชื่อนายสมศักดิ์เป็นผู้รับโอนที่ดิน แต่ในวันจดทะเบียนนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาท ฝ่ายจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำหลักฐานการเป็นคนต่างด้าวของบิดานายสมศักดิ์และนายพงษ์ชัยมาด้วย ส่วนนายผองไม่ได้เตรียมหลักฐานการโอนติดตัวมา ทำให้ใส่ชื่อนายสมศักดิ์นายพงษ์ชัยและนายผองเป็นผู้รับโอนไม่ได้ จึงใส่ชื่อจำเลยที่ 1 แทน และในวันดังกล่าวนายสมศักดิ์กับพวกได้มอบเงินให้บุตรสาวและบุตรเขยของโจทก์ไปครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่ได้ถูกจำเลยที่ 1 กับพวกหลอกลวงและไม่ได้สำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรมแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า นายผอง นายสมศักดิ์ และนายพงษ์ชัยบิดาจำเลยที่ 1 มีอาชีพซื้อขายที่ดินเคยทำนิติกรรมการซื้อขายที่ดินมาแล้วหลายครั้ง ย่อมรู้ดีว่าการทำนิติกรรมการซื้อขายที่ดินจะต้องมีเอกสารอะไรบ้าง โดยเฉพาะการซื้อขายที่ดินพิพาท นายผองนายสมศักดิ์ และนายพงษ์ชัยทราบล่วงหน้าโดยไปดูที่ดินพิพาทและสอบถามราคาที่ดินพิพาทมาแล้ว จึงมีเวลาเตรียมเอกสารเพื่อใช้ในการรับโอนที่ดินพิพาทก่อนวันจดทะเบียนนิติกรรมหลายวัน ดังนั้นที่ฝ่ายจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ได้นำหนังสือต่างด้าวของบิดานายสมศักดิ์ และนายพงษ์ชัยมาด้วยในวันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจำต้องใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนที่ดินแทนจึงมีน้ำหนักน้อย ประกอบกับจำเลยที่ 1 เคยทำหนังสือขอกู้เงินจากจำเลยที่ 2 ในนามของจำเลยที่ 1 เอง โดยระบุว่าจะนำที่ดินพิพาทมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในวงเงิน 10,000,000 บาท ตามหนังสือที่จำเลยที่ 2 ส่งต่อศาลชั้นต้นโดยนายสมศักดิ์เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือดังกล่าวยื่นต่อธนาคารจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2532 ก่อนวันจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทจริง (แต่หนังสือพิมพ์ผิดเป็นวันที่ 17 มกราคม 2531) นอกจากนี้ถ้ามีการตกลงกันให้ใส่ชื่อนายสมศักดิ์เป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทจริง นายสมศักดิ์ก็ต้องเดินทางไปที่สำนักงานที่ดินอำเภอสัตหีบในวันนัดจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ การที่นายสมศักดิ์ไม่ได้เดินทางไปยังสำนักงานที่ดินในวันนั้น จึงไม่น่าเชื่อว่ามีการตกลงให้ใส่ชื่อนายสมศักดิ์เป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาก่อนวันนัดจดทะเบียน แต่กลับน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 นายผอง นายสมศักดิ์และนายพงษ์ชัยได้ร่วมกันวางแผนซื้อที่ดินและจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวในนามของจำเลยที่ 1 มาแต่ต้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่าที่ดินจำนวน 14,000,000 บาท ให้แก่บุตรสาวและบุตรเขยโจทก์ไปแล้วนั้น จำเลยที่ 1 คงมีแต่พยานบุคคลโดยนายผองเบิกความอย่างเลื่อนลอยว่า นายผองเป็นผู้นำเงินสดจำนวน 4,000,000 บาท ไปมอบให้แก่บุตรสาวและบุตรเขยโจทก์ซึ่งรออยู่ที่จอดรถส่วนแคชเชียร์เช็คอีก 8,500,000 บาท มอบให้นางมัลลิกาหรือยุ้ย ฤทธิ์การุณวงศ์เป็นผู้รับไป โดยนางมัลลิกาลงชื่อรับแคชเชียร์เช็คไว้ในหลักฐานฉบับเดียวกับที่บุตรสาวและบุตรเขยโจทก์ลงชื่อรับเงินสด แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แสดงหลักฐานการรับเงินสด และแคชเชียร์เช็คดังกล่าวต่อศาล ทั้งนำสืบไม่ได้ว่าบุคคลที่รับเงินสดไปจากนายผองนั้นเป็นบุตรสาวและบุตรเขยโจทก์จริงหรือไม่ ในทางตรงกันข้ามโจทก์มีตัวโจทก์ นางไพรวันอินแย้ม บุตรโจทก์ และนายสุรินทร์ เกตสุข บุตรเขยโจทก์มาเบิกความเป็นพยานว่านางไพรวันและนายสุรินทร์ไม่ได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการซื้อขายที่ดินพิพาท วันจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทคนทั้งสองไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินอำเภอสัตหีบ โดยเฉพาะนายสุรินทร์เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2532 และอยู่ที่นั่นถึงวันที่ 23 มกราคม 2532 เวลา 16 นาฬิกา จึงเดินทางกลับ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่านายสมศักดิ์กับพวกได้ชำระเงินค่าที่ดินให้แก่บุตรสาวและบุตรเขยโจทก์ไปแล้วดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง การที่จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้คดีว่า โจทก์ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 14,000,000 บาท และได้ชำระราคาที่ดินให้แก่บุตรสาวและบุตรเขยโจทก์ไปแล้ว โดยไม่เป็นความจริงและจำเลยที่ 1 ก็ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทมีราคาตามท้องตลาดมากกว่า 36,000,000 บาท จึงทำให้น่าเชื่อว่าโจทก์ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 4,000,000 บาท โดยสำคัญผิดเพราะถูกนายหน้าขายที่ดินหลอกลวงซึ่งตามพฤติการณ์จำเลยที่ 1 กับพวกรู้หรือควรจะได้รู้ถึงการหลอกลวงดังกล่าว การที่โจทก์สำคัญผิดในเรื่องราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันเช่นนี้ แม้มิใช่สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม แต่ราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันย่อมมีความสำคัญมากพอกับตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม จึงถือว่าโจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 156 เช่นเดียวกัน เมื่อนิติกรรมมาซื้อขายที่ดินพิพาทเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมและเกิดจากกลฉ้อฉลในขณะเดียวกันแต่ผลทางกฎหมายต่างกันกล่าวคือ นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 156 แต่นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลมีผลเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 159 จึงต้องถือว่านิติกรรมรายนี้เป็นโมฆะ เพราะเป็นผลดีต่อผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยบกพร่องยิ่งกว่าเป็นโมฆียะ ด้วยเหตุนี้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่านิติกรรมเป็นโมฆะจึงชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน