แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การปฏิบัติงานของผู้นำร่องตามกฎกระทรวงเศรษฐการว่าด้วยการนำร่อง ออกตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2477(ฉบับที่ 2)ข้อ 85 ต้องเป็นไปตามที่ปฏิบัติกันในหน่วยราชการทั่ว ๆ ไปโดยงานที่ปฏิบัติย่อมแตกต่างกันไปแล้วแต่ตำแหน่งหน้าที่ซึ่งอาจจะเป็นงานด้านเทคนิคอันเป็นวิชาชีพพิเศษได้แก่การนำร่องเรือ และงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย มิใช่ว่าจะทำเฉพาะหน้าที่นำร่องเรือเพียงอย่างเดียว โดยถือการมาปฏิบัติงานคือการมา ณ ที่ทำการตามวันเวลาราชการ เป็นการมาปฏิบัติหน้าที่ดังจะเห็นได้ว่ากฎกระทรวงดังกล่าว ใช้คำว่า “มาปฏิบัติหน้าที่” มิได้ใช้คำว่า “ได้ปฏิบัติหน้าที่นำร่องเรือ” จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการนำร่องและในฐานะหัวหน้าผู้นำร่องตลอดเวลา ไม่ปรากฏว่าได้ลาหยุดหรือไม่มาปฏิบัติหน้าที่ แม้มิได้นำร่องเรือเกินสิบวันในแต่ละเดือน ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตลอดทั้งเดือน ตามกฎกระทรวงเศรษฐการฯข้อ 85 วรรค 2(1) จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเฉลี่ยเงินค่าจ้างนำร่องที่ให้แก่ผู้นำร่องตามกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นข้าราชการพลเรือนและต่างเป็นผู้นำร่องอาวุโส จำเลยในฐานะผู้อำนวยการกอง กองนำร่อง แบ่งค่าล่วงเวลาให้ตนเอง เฉลี่ยเท่ากับผู้นำร่องอื่นที่ปฏิบัติหน้าที่โดยที่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นการไม่ถูกต้องและเบียดบังส่วนของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยระงับการคิดส่วนแบ่งดังกล่าวและให้คืนเงิน ค่าจ้างนำร่องล่วงเวลาที่รับไปแล้ว จำเลยให้การว่าผู้อำนวยการกอง กองนำร่อง ไม่จำต้องเข้าเวรการนำร่อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยคืนเงินค่าจ้างนำร่องล่วงเวลาที่รับไปแล้ว จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏข้อเท็จจริงจากท้องสำนวนว่าในวันที่ 18 ธันวาคม 2527 อันเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน ศาลได้จดรายงานกระบวนพิจารณาว่า ก่อนสืบพยานคู่ความแถลงยอมรับในประเด็นอื่นทั้งหมด เหลือข้อโต้เถียงเพียงประเด็นเดียวคือ การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้อำนวยการนำร่องและเป็นหัวหน้าผู้นำร่อง ถือว่าเป็นผู้นำร่องตามกฎกระทรวงเศรษฐการว่าด้วยการนำร่องออกตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2477 (ฉบับที่ 2) หรือไม่โดยจำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้นำร่องตามฟ้อง โจทก์ยอมรับว่าจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการตลอดเวลา และในฐานะหัวหน้าผู้นำร่อง แต่ไม่ได้นำร่องเรือเกิน 10 วันในแต่ละเดือนตามกฎกระทรวงฯข้อ 85 เท่านั้น จำเลยถือว่าได้ปฏิบัติครบถ้วนตามข้อ 85 แล้วเมื่อเหลือข้อโต้แย้งเพียงประเด็นเดียว คู่ความจึงขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายตามข้อ 85 ว่าการกระทำของจำเลยถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ที่จะได้รับส่วนแบ่งหรือไม่ ถ้าถือว่าปฏิบัติหน้าที่โจทก์ยอมแพ้ถ้าไม่ถือว่าปฏิบัติหน้าที่จำเลยยอมแพ้ต้องชดใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้องส่วนข้อต่อสู้หรือคำขออื่น ๆ ทั้งสองฝ่ายยอมสละ
พิเคราะห์แล้ว กฎกระทรวงเศรษฐการว่าด้วยการนำร่อง ออกตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2477 (ฉบับที่ 2) ข้อ 85 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า เงินค่าจ้างนำร่องที่เก็บได้ทั้งหมดตามกฎกระทรวงนี้ให้แบ่งจ่ายให้แก่ผู้นำร่อง ดังนี้ คือ ให้ผู้นำร่องได้รับเงินค่าจ้างนำร่องล่วงเวลาที่เก็บตามข้อ 78 ทั้งหมด และรวมกับอีกร้อยละสิบสองของค่าจ้างนำร่องตามพิกัดทั้งหมด แต่ไม่เกินปีละสี่ล้านแปดแสนบาท ส่วนที่เหลือให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ วรรคสองบัญญัติว่าเงินค่าจ้างนำร่องที่แบ่งจ่ายให้แก่ผู้นำร่องตามวรรคหนึ่ง ให้แบ่งเฉลี่ยจ่ายเดือนละครั้งตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ผู้นำร่องที่มาปฏิบัติหน้าที่ตลอดทั้งเดือนให้ได้รับค่าจ้างนำร่องเท่ากับเงินค่าจ้างนำร่องล่วงเวลาที่เก็บตามข้อ 78ทั้งหมดในเดือนนั้น และรวมกับอีกร้อยละสิบสองของค่าจ้างนำร่องตามพิกัดทั้งหมดที่เก็บได้ในเดือนนั้นหารด้วยจำนวนผู้นำร่องทั้งหมดซึ่งเป็นอัตราแบ่งเฉลี่ยตามปกติกับบวกด้วยเงินทั้งหมดที่ตัดออกจากเงินค่าจ้างนำร่องของผู้นำร่องที่ไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในเดือนนั้นรวมกัน และหารด้วยจำนวนผู้นำร่องที่มาปฏิบัติหน้าที่ตลอดทั้งเดือน
(2) ผู้นำร่องที่ไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ตลอดทั้งเดือนในเดือนใดให้ตัดเงินค่าจ้างนำร่องจากอัตราแบ่งเฉลี่ยตามปกติ ดังนี้ถ้าไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ห้าวัน ให้ตัดร้อยละสิบสองของอัตราแบ่งเฉลี่ยตามปกติ… ถ้าไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่เกินสิบวันให้ตัดเงินค่าจ้างนำร่องทั้งหมด
ฉะนั้น ผู้ที่มีสิทธิจะได้รับเงินส่วนแบ่งเฉลี่ยประจำเดือนจะต้องเป็นผู้นำร่องประการหนึ่ง และได้มาปฏิบัติหน้าที่ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้อีกด้วย โดยถ้ามิได้มาปฏิบัติหน้าที่เกินสิบวันในเดือนนั้นก็จะถูกตัดมิให้ได้รับเงินค่าจ้างนำร่องเลย สำหรับจำเลยนี้ ข้อเท็จจริงรับกันแล้วว่า จำเลยเป็นผู้นำร่อง โดยเป็นหัวหน้านำร่อง ผู้อำนวยการนำร่อง ส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยได้มาปฏิบัติหน้าที่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับเงินส่วนแบ่งหรือไม่ คู่ความรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการนำร่องตลอดเวลา และในฐานะหัวหน้าผู้นำร่อง แต่จำเลยมิได้นำร่องเรือเกินสิบวันในแต่ละเดือนจึงมีปัญหาว่า “มาปฏิบัติหน้าที่” มีความหมายเฉพาะหน้าที่นำร่องเรือเท่านั้น หรือหมายถึงการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการนำร่องและในฐานะหัวหน้าผู้นำร่องด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า เกี่ยวกับการนำร่อง มีกฎหมายเกี่ยวข้องด้วยหลายฉบับกล่าวคือพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 รวมตลอดถึงกฎกระทรวงและระเบียบแบบแผนที่ออกโดยอาศัยกฎหมายต่าง ๆ เหล่านั้นด้วยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2477(ฉบับที่ 2) มาตรา 4 บัญญัติว่า การนำร่องนั้นให้อยู่ในอำนาจและความควบคุมของรัฐบาล ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่กรมเจ้าท่าสังกัดเป็นเจ้าหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อการนั้น ให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงในเรื่องต่อไปนี้ (1) กำหนดคุณสมบัติผู้นำร่องและผู้ฝึกการนำร่อง กำหนดชั้นความรู้ผู้นำร่องวิธีการที่จะสอบความรู้และออกใบอนุญาตแก่ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตเป็นผู้นำร่อง (2) กำหนดหน้าที่และมารยาทของผู้นำร่อง…(4) กำหนดค่าธรรมเนียมสอบไล่ผู้นำร่อง (5) กำหนดวิธีการเก็บและแบ่งเงินผลประโยชน์ที่ได้มาเนื่องในการนำร่อง…(6) กำหนดเขตท่าหรือน่านน้ำใด ๆ ให้มีการนำร่องโดยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลหรือของเทศบาล หรือหุ้นส่วนบริษัท…(7) กำหนดเขตท่าหรือน่านน้ำใดซึ่งบังคับให้เป็นเขตที่ต้องเดินเรือโดยมีผู้นำร่อง…(8) กำหนดขนาดเรือที่จะต้องเสียค่าจ้างนำร่อง…(9) กำหนดการลงทัณฑ์ซึ่งต่อมาได้มีกฎกระทรวงเศรษฐการว่าด้วยการนำร่องออกตามความในบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นว่าด้วยเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด ส่วนพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมพ.ศ. 2517 มาตรา 4 ให้แบ่งส่วนราชการกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมโดยระบุให้มีกองนำร่องอยู่ด้วย นอกจากนี้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 มาตรา 33 บัญญัติว่า ให้ ก.พ. จัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งไว้เป็นบรรทัดฐาน และ ก.พ. ได้กำหนดตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานนำร่องไว้ ฉะนั้นตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ผู้นำร่องมีชื่อตำแหน่งทางราชการว่าเจ้าพนักงานนำร่อง เป็นข้าราชการพลเรือนของกองนำร่อง กรมเจ้าท่ากระทรวงคมนาคม การปฏิบัติงานของผู้นำร่องจึงต้องเป็นไปตามที่ปฏิบัติกันในหน่วยราชการทั่ว ๆ ไป โดยงานที่ปฏิบัติย่อมแตกต่างกันไปแล้วแต่ตำแหน่งหน้าที่ซึ่งอาจจะเป็นงานด้านเทคนิคอันเป็นวิชาชีพได้แก่การนำร่องเรือและงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย มิใช่ว่าจะทำเฉพาะหน้าที่นำร่องเรือเพียงอย่างเดียว โดยถือการมาปฏิบัติงานคือการมา ณ ที่ทำการตามวันเวลาราชการ เป็นการมาปฏิบัติหน้าที่และการไม่มาปฏิบัติหน้าที่อาจมีการลาดังที่บัญญัติไว้ในข้อ 21-23 ดังจะเห็นได้ว่าข้อ 85 ใช้คำว่า “มาปฏิบัติหน้าที่” มิได้ใช้คำว่า”ได้ปฏิบัติหน้าที่นำร่องเรือ” แม้กฎกระทรวงเศรษฐการว่าด้วยการนำร่อง ออกตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2477 (ฉบับที่ 2) ได้กำหนดไว้ในหมวด 3 มรรยาทและหน้าที่ผู้นำร่องในข้อ 19-51 ก็มิได้กำหนดว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำร่องจะมีเพียงการนำร่องเรืออย่างเดียวดังจะเห็นได้ว่าข้อ 19-28 กำหนดหน้าที่อันมีลักษณะเป็นมรรยาทคุณธรรมหรือสิ่งที่ควรปฏิบัติทั่ว ๆ ไป ข้อ 31-37 หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในการนำร่องเรือโดยเฉพาะและยังมีกำหนดหน้าที่อื่น ๆอันมิใช่การนำร่องเรือโดยเฉพาะอีก คือ ข้อ 29 หน้าที่ต้องรีบเดินทางไปรับเรือ ข้อ 31 ต้องชักธงบนเรือผู้นำร่อง ข้อ 38 หน้าที่ตักเตือนนายเรือ ข้อ 39 หน้าที่ระวังมิให้เรือลำใดทำการหยั่งน้ำข้อ 42 หน้าที่แจ้งให้เจ้าท่าทราบเมื่อพบทุ่นที่ทอดเป็นเครื่องหมายทุ่นเคลื่อนจากที่ ๆ เคยทอดอยู่ตามปกติ ข้อ 43 หน้าที่รายงานเจ้าท่าเมื่อสังเกตเห็นสิ่งกีดขวางหรือมีการเปลี่ยนแปลงในร่องน้ำ และข้อ 48-51 หน้าที่ในการรายงานเรื่องต่าง ๆ ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ผู้นำร่องอาจปฏิบัตินอกเวลานำร่องเรือได้ เป็นการสนับสนุนข้อที่ว่าผู้นำร่องยังมีหน้าที่อื่น ๆ อีกนอกเหนือจากการนำร่องเรือ ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงที่ยอมรับตามคำท้าว่า จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการนำร่องและในฐานะหัวหน้าผู้นำร่องตลอดเวลาไม่ปรากฏว่าได้ลาหยุดหรือไม่มาปฏิบัติหน้าที่ แม้มิได้นำร่องเรือเกินสิบวันในแต่ละเดือน ก็เป็นการมาปฏิบัติหน้าที่ตลอดทั้งเดือนตามข้อ 85 วรรคสอง (1) จำเลยมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเฉลี่ยตามนั้นไม่ถือว่าจำเลยเป็นผู้มิได้มาปฏิบัติหน้าที่เกินสิบวัน อันจะต้องถูกตัดเงินส่วนแบ่งทั้งหมด ตามข้อ 85 วรรคสอง (2) ตอนท้ายแต่อย่างไรโจทก์จึงต้องแพ้คดีตามคำท้า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์