คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6101/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าน้ำผลไม้ขายให้แก่บริษัท ส. และ บริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ประกอบ
กิจการค้าปลีก การขายสินค้าน้ำผลไม้ของโจทก์จึงเป็นการขายส่ง สินค้าน้ำผลไม้ของโจทก์จึงเป็นเครื่องดื่มตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตาม พ.ร.บ. สรรพสามิต พ.ศ. 2527 แต่สินค้าของโจทก์ดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต เนื่องจากมีประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต
(ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 กำหนดไว้ ซึ่งประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าวระบุให้ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิตแก่เครื่องดื่มน้ำผลไม้ (รวมถึงเกรปมัสต์)และน้ำผักที่ไม่ได้หมักและไม่เติมสุราไม่ว่าจะเติมน้ำตาลหรือสารทำให้หวานอื่น ๆ หรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ต้องมีส่วนผสมตามที่อธิบดีกรมสรรพสามิตกำหนดและต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพสามิตก่อน ต่อมามีประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดส่วนผสมของเครื่องดื่มน้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้ามีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต ฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2538 ข้อ 4 วรรคหนึ่ง ระบุว่า การอนุมัติให้ยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้ถือว่ามีผลตั้งแต่วันที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้ยื่นหนังสือขออนุมัติยกเว้นภาษีและเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วว่าผู้ประกอบอุตสาหกรรมปฏิบัติถูกต้องตามข้อ 3 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ได้รับอนุมัติให้ยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าน้ำผลไม้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไป พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจประเมินให้โจทก์ชำระภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าน้ำผลไม้ที่โจทก์นำออกจากโรง
อุตสาหกรรมก่อนวันที่โจทก์ได้รับการอนุมัติให้ยกเว้นภาษีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทยของจำเลยที่ ๑ และ คำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทย จำนวน ๔๗๘,๕๘๔.๒๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่โจทก์ได้วางเงินประกันตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนด ค่าทนายความ ๒,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทน้ำผลไม้ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ สินค้าของโจทก์ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตตั้งแต่วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๑ พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีสรรพสามิตพร้อมด้วยเงินเพิ่มและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทยสำหรับสินค้าที่โจทก์นำออกจากโรงงานอุตสาหกรรมระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๑ ถึงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๑ รวมจำนวน ๖๘๒,๕๔๙.๔๒ บาท โจทก์ยื่นคำคัดค้านการประเมิน จำเลยที่ ๑ มีคำวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้าน โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยคำคัดค้านต่อจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ มีคำวินิจฉัยให้แก้คำสั่งของจำเลยที่ ๑ โดยให้งดเงินเพิ่ม ทั้งหมด คงให้โจทก์ชำระภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทยจำนวน ๔๗๘,๕๘๔.๒๘ บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ ชอบหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ผลิตสินค้าเพื่อขายแก่ผู้บริโภคโดยตรงซึ่งเป็นการขายปลีก ทำนองว่าสินค้าของโจทก์ไม่เป็น เครื่องดื่มตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตนั้น เห็นว่า โจทก์มีเพียงนายวิยสิทธิ์ จิ๋วพัฒนกุล กรรมการโจทก์มาเบิกความลอย ๆ ปากเดียว ทั้งขัดกับใบกำกับภาษีแผ่นที่ ๔๔ ถึง ๔๖ อันเป็นใบกำกับภาษีของโจทก์เองที่ออกให้แก่บริษัทสยามจัสโก้ จำกัด กับบริษัทเอเอ็มพีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัทสยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด ซึ่งระบุว่าโจทก์ขายสินค้าน้ำมะพร้าวให้แก่บริษัทดังกล่าว ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ประกอบกิจการค้าปลีก การขายสินค้าน้ำผลไม้ของโจทก์จึงเป็นการขายส่ง ดังนั้น สินค้าของโจทก์จึงเป็นเครื่องดื่มตามพิกัดอัตราภาษี สรรพสามิตที่โจทก์อุทธรณ์ว่า สินค้าของโจทก์อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นภาษี พนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่มีอำนาจประเมินให้โจทก์ชำระภาษี และประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดส่วนผสมของเครื่องดื่มน้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้ามีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๘ ขัดต่อกฎหมายนั้น เห็นว่าสินค้าของโจทก์เป็นเครื่องดื่มตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ แต่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการยกเว้นภาษีเนื่องจากมีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ๒๗) ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๔ กำหนดไว้ ซึ่งประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าวระบุให้น้ำผลไม้ (รวมถึงเกรปมัสต์) และน้ำพืชผักที่ไม่ได้หมักและไม่เติมสุรา ไม่ว่าจะเติมน้ำตาลหรือสารทำให้หวานอื่น ๆ หรือไม่ก็ตาม ซึ่งทำจากผลไม้ พืช หรือผักที่ปลูกในประเทศอยู่ในเกณฑ์ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต โดยกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีส่วนผสมตามที่อธิบดีกรมสรรพสามิตกำหนด และต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพ-สามิตก่อน การที่ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดส่วนผสมของเครื่องดื่มน้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่ผู้ประกอบ อุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้ามีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๘ ข้อ ๔ วรรคหนึ่ง ระบุว่าให้การอนุมัติให้ยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้ถือว่ามีผลตั้งแต่วันที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้ยื่นหนังสือขออนุมัติยกเว้นภาษี และเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วว่าผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้ปฏิบัติถูกต้องตามข้อ ๓ เป็นต้นไป ก็เป็นการประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว ประกาศกรมสรรพสามิตฉบับนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ได้รับอนุมัติให้ยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าเครื่องดื่มมีผลตั้งแต่วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๑ เป็นต้นไป พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจประเมินให้โจทก์ชำระเงินภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าเครื่องดื่มที่โจทก์ นำออกจากโรงงานอุตสาหกรรมระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๑ ถึงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๑ การประเมินของพนักงาน เจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๒,๐๐๐ บาท แทนจำเลยที่ ๑

Share