แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีวัตถุระเบิดไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 38,74 ให้จำคุก 2 ปี กระทงหนึ่ง และมีความผิดฐานพยายามฆ่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 ให้จำคุก 10 ปี อีกกระทงหนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่า เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 81 ให้จำคุก 4 ปี ดังนี้ ข้อหาฐานมีวัตถุระเบิดฯ ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ส่วนข้อหาฐานพยายามฆ่านั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าลูกระเบิดที่จำเลยขว้างผู้เสียหายนั้นเป็นลูกระเบิดชนิดรา้ยแรงเพียงใดหรือไม่ แต่ปรากฏบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายอยู่ตรงจุดระเบิดนั้นเองว่า มีบาดแผลเพียง 4 แห่งคือ 1. บริเวณกกหูขวา หูขวา และใบหน้าแถบขวา แผลจุดแดงเล็ก ๆ ทั่วบริเวณและผิวหนังแดงพอง 2. บริเวณคอแถบขวาแผลยาว 1.5 เซนติเมตร2 แห่ง รอบแผลบวมแดง 3. สะบักขวาผิวหนังขาดกว้าง 4 เซนติเมตร ยวา 4 เซนติเมตร ลึก 0.5 เซนติเมตร รอบแผลบวมมาก และบริเวณเดียวกันมีแผลยาว 2 เซนติเมตร 3 แห่ง รอบ ๆ แผลมีจุดแดง ๆ เล็ก ๆ ทั่วไป ผิวหนังพอง 4. เนื้อไหม้เป็นวงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้วฟุต ผู้เสียหายรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 1 คืน รุ่งขึ้นแพทย์ก็ให้กลับบ้านได้ เพียงแต่ให้ไปรักษาบาดแผลที่โรงพยาบาลอีกเท่านั้น ดังนี้ แสดงว่าวัตถุระเบิดนั้นมีกำลังอ่อน ไม่อาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ แม้จำเลยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำของจำเลยไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,81หาใช่มาตรา 288,80 ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้ลูกระเบิดขว้างทำร้ายนายบรรพต วัฒนวงศ์วิสุทธิ์โดยมีเจตนาให้เกิดระเบิดเพื่อฆ่านายบรรพต จำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เพราะลูกระเบิดที่จำเลยขว้างและเกิดระเบิดขึ้นนั้น ถูกส่วนไม่สำคัญของร่างกายและแพทย์รักษาไว้ทันท่วงทีนายบรรพตจึงไม่ตาย ปรากฏบาดแผลตามรายงานชันสูตรของแพทย์ท้ายฟ้อง และจำเลยได้มีวัตถุระเบิด 1 ลูกไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และจำเลยได้พาลูกระเบิดอันเป็นอาวุธไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 38, 74
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 กระทงหนึ่ง ให้จำคุก 10 ปี ผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 38, 74 กระทงหนึ่ง ให้จำคุก2 ปี รวมจำคุก 12 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่า เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 81 ให้จำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องในข้อหาฐานมีวัตถุระเบิดไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่โดยอ้างว่าจำเลยไม่เคยมีวัตถุระเบิดไว้ในความครอบครองเลยนั้น ปรากฏว่าความผิดฐานนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้อหานี้ได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดในข้อหาพยายามฆ่านั้น เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288ประกอบด้วยมาตรา 80 ให้จำคุก 10 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 81 ให้จำคุก 4 ปี จึงเป็นการแก้ไขมาก ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1737/2516 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสุรินทร์ โจทก์ นายประสพหรือโรจน์ ยอดรัก จำเลย จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในข้อหานี้ได้ (ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วฟังว่าจำเลยกระทำความผิดจริง)
สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 มิใช่มาตรา 288, 81 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าลูกระเบิดที่จำเลยขว้างนั้นเป็นลูกระเบิดชนิดร้ายแรงเพียงใดหรือไม่ แต่ปรากฏบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับ ทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายอยู่ตรงจุดระเบิดนั้นเองว่ามีบาดแผลเพียง 4 แผล คือ (1) บริเวณกกหูขวา หูขวา และใบหน้าแถบขวา แผลจุดแดงเล็ก ๆ ทั่วบริเวณและผิวหนังแดงพอง(2) บริเวณคอแถบขวา แผลยาว 1.5 เซนติเมตร 2 แห่ง รอบแผลบวมแดง (3) สะบักขวาผิวหนังขาดกว้าง 4 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร ลึก .5 เซนติเมตรรอบแผลบวมมาก และในบริเวณเดียวกันมีแผลยาว 2 เซนติเมตร 3 แห่ง รอบ ๆ แผลมีจุดแดง ๆ เล็ก ๆ ทั่วไป ผิวหนังพอง (4) เนื้อไหม้เป็นวงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้วฟุต ผู้เสียหายรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเพียง 1 คืน รุ่งขึ้นแพทย์ให้กลับบ้านได้ เพียงแต่ให้ไปรักษาบาดแผลที่โรงพยาบาลอีกเท่านั้น แสดงว่าวัตถุระเบิดนั้นมีกำลังอ่อน ไม่อาจทำให้ผู้เสียหายที่ถูกระเบิดถึงแก่ความตายได้ ทั้งโจทก์ก็มิได้นำแพทย์มาสืบให้เห็นว่าหากผู้เสียหายไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีแล้ว ผู้เสียหายอาจตายเพราะสะเก็ดระเบิดที่จำเลยใช้ขว้างนั้นได้ ดังนี้จึงถือว่าแม้จำเลยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำของจำเลยไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 81 หาใช่มาตรา 288, 80 ดังที่โจทก์ฎีกาไม่
พิพากษายืน