คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 914 และ 959 ผู้สั่งจ่ายเช็คจะต้องรับผิดใช้เงินแก่ผู้ทรงก็ต่อเมื่อได้มีการนำเช็คนั้นไปยื่นแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเสียก่อน เมื่อข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ฟังได้ว่าโจทก์มิได้นำเช็คพิพาทไปยื่นต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน และธนาคารก็ยังมิได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงจะนำคดีมาฟ้องจำเลยผู้สั่งจ่ายให้รับผิดชำระเงินตามเช็คนั้นทีเดียวมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขากิ่งเพชร เลขที่ บี.ซี.เอ. ๒๗๙๑๗๓ สั่งจ่ายเงินในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๑๗ จำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท เพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ ดังปรากฏตามสำเนาเช็คท้ายฟ้อง ครั้งครบกำหนดชำระเงินตามเช็ค จำเลยคงชำระเงินให้โจทก์ ๒ คราว คราวแรกจำนวน ๕,๐๐๐ บาท คราวหลังจำนวน ๒,๐๐๐ บาท ที่เหลืออีก ๘,๐๐๐ บาท จำเลยผิดสัญญามิได้ชำระให้ ก่อนฟ้องโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหลายครั้งก็ไม่ชำระ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงิน ๘,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายความแทนโจทก์
จำเลยให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า แม้โจทก์จะเป็นผู้ทรงเช็คก็เป็นผู้ทรงที่ไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามเช็ค ทั้งเสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่าย เพราะโจทก์มิได้ยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินตามกำหนดเวลาในกฎหมาย ฟ้องโจทก์ไม่เป็นความจริง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมมิได้บรรยายว่าจำเลยจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าอะไรแก่โจทก์ เช็คตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ต่อกัน โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตที่นำคดีมาฟ้อง คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและกำหนดประเด็นหน้าที่นำสืบตกจำเลยนำสืบก่อน ครั้นวันนัดสืบพยาน ศาลชั้นต้นกลับสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่าย โดยเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว และได้วินิจฉัยว่า ตามคำบรรยายฟ้องไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำเช็คไปขอรับเงินต่อธนาคาร จึงฟังว่าโจทก์มิได้ยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินเสียก่อน จึงมาฟ้องเรียกเงินจากจำเลยผู้สั่งจ่ายไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๙๐ พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นด่วนสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยยังไม่ชอบขอให้ฟังคำพยานคู่ความก่อน แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเงินตามเช็คที่สั่งจ่าย ๑๕,๐๐๐ บาท แต่ฟ้องเรียกหนี้ ๘,๐๐๐ บาท ที่จำเลยค้างชำระจากมูลหนี้เดิมจึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานคู่ความจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาคดีใหม่
จำเลยฎีกา
วินิจฉัยว่า ปัญหาว่าโจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็คหรือฟ้องเรียกหนี้เงิน ๘,๐๐๐ บาท ตามมูลหนี้เดิมที่จำเลยค้างชำระ ศาลฎีกาพิเคราะห์คำฟ้องแล้วโจทก์บรรยายฟ้องสรุปใจความว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามเช็ค ๑๕,๐๐๐ บาท ได้ชำระแล้ว ๗,๐๐๐ บาท คงค้างอีก ๘,๐๐๐ บาท ขอให้จำเลยชำระเงินที่ค้าง เห็นได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกหนี้เงินตามเช็คในยอดจำนวนเงินที่ค้าง แม้มิได้ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระในยอดเงินเต็มจำนวนที่ออกเช็ค แต่ก็เกี่ยวเนื่องกับหนี้เต็มจำนวนตามเช็คนั้นเอง ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็ค มิได้ฟ้องเรียกหนี้จำนวน ๘,๐๐๐ บาที่จำเลยค้างชำระจากมูลหนี้เดิมดังข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ เพราะโจทก์มิได้อ้างถึงมูลหนี้เดิมแต่ประการใด
จำเลยฎีกาว่า เมื่อโจทก์ไม่นำเช็คยื่นต่อธนาคารเพื่อขอรับเงินเสียก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในหนี้ตามเช็คได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๙๐, ๙๑๔ ประกอบด้วยมาตรา ๙๘๙ ศาลฎีกาเห็นว่ามาตรา ๙๑๔ ซึ่งมาตรา ๙๘๙ ให้นำมาใช้บังคับในเรื่องเช็คด้วยนั้น บัญญัติว่า “บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นำยื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง ฯลฯ” และมาตรา ๙๕๙ ซึ่งมาตรา ๙๘๙ ให้นำมาใช้บังคับในเรื่องเช็คเช่นเดียวกันก็บัญญัติว่า “ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลัง ผู้สั่งจ่าย และบุคคลอื่นๆ ซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นก็ได้ คือ ก.ไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดในกรณีไม่ใช้เงิน ฯลฯ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า ผู้สั่งจ่ายเช็คจะรับผิดใช้เงินแก่ผู้ทรงก็ต่อเมื่อได้มีการนำเช็คนั้นไปยื่นแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเสียก่อน เมื่อข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ฟังได้ว่าโจทก์มิได้นำเช็คพิพาทไปยื่นต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงินและธนาคารก็ยังมิได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ฉะนั้น โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยผู้สั่งจ่ายให้รับผิดชำระเงินตามเช็คนั้นทีเดียวมิได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ เป็นให้ยกฟ้องของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share