คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 92/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์มีคำสั่งที่ 426/2531ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงานเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโจทก์ที่ 2220/223 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2523 ด้วย คำสั่งดังกล่าวถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งโจทก์ในกรณีที่ร้ายแรง โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยที่ 1 และโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจ มีประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานสัมพันธ์เป็นกิจกาที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ไม่ใช้บังคับดังนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 46 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 จึงไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่12 กันยายน 2534 จำเลยที่ 1 ต้องฟ้องเรียกค่าชดเชยจากโจทก์ก่อนที่จะมีประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้รัฐวิสาหกิจไม่อยู่ในบังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 นั้นเมื่อโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไว้เพียงว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพราะโจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ขาดงานติดต่อกันเกินกว่า 10 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร ดังนั้น ข้อที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้น จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรกประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งเรียกค่าชดเชย เพราะโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจอันเป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ไม่ใช้บังคับนั้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทาง จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดต่อโจทก์ในวงเงิน 15,000 บาท จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ตามทางการที่จ้างทำความเสียหายแก่โจทก์ รวมค่าเสียหายทั้งหมด60,540 บาท โจทก์จ่ายค่าเสียหายไปและได้หักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 ชดใช้แล้วบางส่วนเป็นเงิน 9,630 บาท คงค้างอยู่อีกเป็นงิน 50,910 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 50,910 บาทโดยจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขับรถของโจทก์ เดือนมีนาคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,250 บาท โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1เพราะไม่สามารถหาบุคคลอื่นมาค้ำประกันการทำงานได้ จำเลยที่ 1ได้ก่อให้เกิดความเสียหายในขณะปฏิบัติหน้าที่ตามที่โจทก์ฟ้องจริงมีการรับสภาพหนี้ทุกครั้ง หนี้จำนวน 4 รายการได้รับสภาพหนี้ไว้ก่อนวันที่ 24 พฤศจิกายน 2526 เป็นระยะเวลาเกิน 10 ปีโดยโจทก์มิได้ดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดี จึงถือว่าหนี้ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 คงรับผิดเพียง 6 รายการ เป็นเงิน9,630 บาท จึงค้างเพียง 3,570 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,250 บาท ต้องได้รับค่าชดเชย 180 วันเป็นเงิน 55,500 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้โจทก์จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้จำเลยที่ 1 จำนวน 51,930 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันที่โจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างจำเลยที่ 1 จนถึงวันฟ้อง ระยะเวลา 5 ปี 9 เดือน เป็นเงิน22,394.75 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน74,324.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินจำนวน 51,930 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพราะโจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างจำเลยที่ 1เนื่องจากจำเลยที่ 1 ขาดงานติดต่อกันเกินกว่า 10 วันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความจำเลยที่ 1 กระทำความเสียหายแก่โจทก์และต้องรับผิดเป็นเงิน50,910 บาท จำเลยที่ 1 ถูกเลิกจ้างเพราะผู้ค้ำประกันคนเดิมลาออกจากราชการ นายดลลี สะมะแอ ผู้จัดการสายของโจทก์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 1ไปติดต่อหาผู้ค้ำประกันใหม่ ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ไปทำงานแต่โจทก์ไม่ให้ทำงานเกิน 7 วัน ทำงานติดต่อกันอันไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 17,820 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกิน 15,000 บาทจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนดังกล่าวด้วย พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 33,090 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ทั้งสองข้อของโจทก์ที่ว่า โจทก์มีคำสั่งที่ 426/2531 ไล่จำเลยที่ 1ออกจากงานเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโจทก์ที่ 2220/2523ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2523 ด้วย คำสั่งดังกล่าวถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งโจทก์ในกรณีที่ร้ายแรงโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยที่ 1 และโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจ มีประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ไม่ใช่บังคับดังนั้นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103จึงไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2534จำเลยที่ 1 ต้องฟ้องเรียกค่าชดเชยจากโจทก์ก่อนที่จะมีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้รัฐวิสาหกิจไม่อยู่ในบังคับของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 นั้น เห็นว่า ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1ไว้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพราะโจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ขาดงานติดต่อกันเกินกว่า 10 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร ดังนั้นข้อที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้น จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรงประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 แม้ปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งเรียกค่าชดเชยเพราะโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจอันเป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ไม่ใช้บังคับนั้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่สำหรับคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าไม่สมควรที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์

Share