คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการฐานผิดวินัย แต่การสั่งตั้งกรรมการพิจารณาโทษที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการนั้นเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ กรณีเป็นเรื่องละเมิดสิทธิในการรับราชการของโจทก์ หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่ ฉะนั้น การที่โจทก์จะฟ้องเรียกเงินเดือนที่ไม่ได้รับระหว่างถูกปลดจากราชการย่อมต้องใช้อายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 จะใช้อายุความ 5 ปี ตามมาตรา 166 หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขณะที่โจทก์เป็นนายอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท จำเลยที่ ๑ เสนอให้จำเลยที่ ๒ มีคำสั่งให้ปลดโจทก์ออกจากตำแหน่งหน้าที่ หาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๘๕ จำเลยที่ ๒ จึงมีคำสั่งปลดโจทก์ตามคำสั่งที่ ๒๗๖/๒๔๙๔ เป็นผลให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ตั้งแต่วันที่ ๑๘ ก.ค. ๒๔๙๓ โจทก์ได้ยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ คณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์วินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยที่ ๒ ที่ให้ปลดโจทก์นั้นไม่ชอบ จำเลยที่ ๒ จึงมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งที่ ๒๗๖/๒๔๙๔ นั้นเสีย และสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการใหม่ในตำแหน่งนายอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ตั้งแต่วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๔๙๖ รวมเวลาที่โจทก์ถูกพักราชการ ๓ ปี ๒๓ วัน โดยไม่ได้รับเงินเดือนและเงินเพิ่มที่โจทก์มีสิทธิควรได้ ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดจ่ายให้ ๓๖,๓๐๔.๐๔๗ บาท จึงขอให้บังคับจำเลยร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวนนี้แก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยทั้ง ๒ ให้การว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างปลดออกจากราชการ กับตัดฟ้องว่าคดีโจกท์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าฟ้องโจทก์เป็นการเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ โจทก์ฟ้องเมื่อเวลาล่วงเลย ๑ ปีแล้ว คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่มีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งทำความเห็นแย้ง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเข้ารับราชการพลเรือนของรัฐบาลนั้น ได้มีกฎหมายคือ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ กำหนดวิธีปฏิบัติการต่าง ๆ ไว้ เช่น การบรรจุข้าราชการ การออกจากตำแหน่งของข้าราชการ วินัย และการลงโทษข้าราชการไว้เป็นพิเศษ ไม่ใช่เป็นสัญญาจ้างแรงงานโดยทั่ว ๆ ไป ฉะนั้น ในเรื่าองของข้าราชการจึงจะนำความในลักษณะจ้างแรงงานแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยถือว่ารัฐบาลเป็นนายจ้างข้าราชการเป็นลูกจ้างหาได้ไม่ ความผูกพันระหว่างส่วนราชการกับข้าราชการในสังกัดย่อมต้องถือตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนเป็นประมาณ การที่กระทรวงมหาดไทยสั่งปลดออกจากราชการฐานผิดวินัย และได้ความว่าการสั่งตั้งกรรมการพิจารณาโทษที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการนั้นเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็เข้าลักษณะละเมิดสิทธิในการรับราชการของโจทก์ ไม่ใช่ผิดสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงจะฟ้องเรียกเงินเดือนที่ไม่ได้รับในระหว่างถูกปลดจากราชการโดยอายุความ ๕ ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๖ หาได้ไม่ หากโจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ที่สั่งปลดโจทก์ออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายประการใดแล้ว ก็พึงฟ้องร้องต่อศาลภายในกำหนดอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ ฐานจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ทราบคำสั่ง ร.ม.ต. ว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่วันที่ ๑๐ ส.ค. ๒๔๙๖ ว่าคำสั่งที่ปลดโจทก์ออกจากราชการไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ให้ยกเลิกคำสั่งนั้นเสียแล้วให้โจทก์กลับเข้ารับราชการตามเดิม เมื่อโจทก์เพิ่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๑ ก.ค. ๒๕๐๑ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ฯลฯ พิพากษายืน

Share