แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ที่ 2 จะขับรถจักรยานยนต์ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3นั่งซ้อนท้ายมาด้วย เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่เหตุดังกล่าวมิใช่เหตุโดยตรงที่ทำให้รถเกิดเฉี่ยวชนกันเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถแซงรถผู้อื่นบนสะพานล้ำเส้นทึบแบ่งกึ่งกลางถนนออกไปเฉี่ยวชนรถโจทก์ที่ 2 ซึ่งขับมาด้วยความเร็วประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเหตุที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่เพียงฝ่ายเดียว โจทก์ที่ 2 เป็นข้าราชการ แม้จะมีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลทั้งในส่วนของตนตลอดจนโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาและโจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรก็ตาม สิทธิดังกล่าวก็เป็นสิทธิที่รัฐกำหนดให้แก่ข้าราชการไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลย โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยผู้ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดได้อีก โจทก์ทั้งสามฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดมาในฟ้องเดียวกันโดยแยกทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องมาชัดเจน เป็นส่วนของแต่ละคน เมื่อทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 3 เรียกร้องไม่เกิน 50,000 บาทและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3จะฎีกาเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายของโจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นบิดามารดาโจทก์ที่ 3จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-0247 สมุทรสาคร จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2บรรทุกสินค้าไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทคือขับด้วยความเร็วสูงและแล่นคร่อมเส้นแบ่งกึ่งกลางถนน เป็นเหตุให้ชนกับรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ที่ 2 ขับสวนทางมาทำให้โจทก์ที่ 1ได้รับอันตรายสาหัส กระดูกขาขวาหักต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน21,195 บาท ไม่สามารถประกอบการงานต่อไปได้ คิดเป็นค่าเสียหาย100,000 บาท รถของโจทก์ที่ 2 เสียหายเป็นเงิน 10,000 บาทโจทก์ที่ 2 ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลบาดแผลเป็นเงิน 2,335 บาทร่างกายและอนามัยเสื่อมสภาพคิดเป็นค่าเสียหาย 50,000 บาทโจทก์ที่ 3 เสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 1,000 บาท ค่าเสื่อมสภาพต่อร่างกายและอนามัยในปัจจุบันและอนาคตเป็นเงิน 20,000 บาทรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 204,520 บาท และขอคิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 15,339 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 219,859 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 2มิใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุในทางการที่จ้างตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 เหตุเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 2 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์เสียหายไม่มากดังฟ้อง และโจทก์ที่ 2 สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 106,195 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 10,335 บาทแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 3,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 เพียงจำนวน 50,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในประเด็นข้อแรกที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าเหตุเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 2 มิฉะนั้นโจทก์ที่ 2 ก็มีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุด้วยเพราะโจทก์ที่ 2 ขับรถให้คนนั่งมาด้วยรวม 3 คน โจทก์ที่ 2 เห็นรถของจำเลยที่ 1 แต่ไกลและเห็นแซงรถจักรยานยนต์คันอื่นขึ้นมา แต่โจทก์ที่ 2 ก็ยังไม่ชะลอความเร็วไม่ขับแอบชิดซ้าย และไม่หยุดให้รถจำเลยที่ 1 แล่นผ่านไปก่อนนั้นเห็นว่า แม้โจทก์ที่ 2 จะขับรถจักรยานยนต์ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3นั่งซ้อนท้ายมาด้วย เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่เหตุดังกล่าวก็มิใช่เหตุโดยตรงที่ทำให้รถเกิดเฉี่ยวชนกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถแซงรถผู้อื่นบนสะพานล้ำเส้นทึบแบ่งกึ่งกลางถนนออกไปเฉี่ยวชนรถโจทก์ที่ 2 ซึ่งขับมาด้วยความเร็วไม่เกิน40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหตุที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่เพียงฝ่ายเดียว โจทก์ที่ 2 หามีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุด้วยไม่ ฯลฯ
ปัญหาสุดท้ายในประเด็นเรื่องค่าเสียหาย ซึ่งจำเลยที่ 3ฎีกาข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ทั้งสามได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการ จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยนั้น เห็นว่าแม้โจทก์ที่ 2 จะเป็นข้าราชการมีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลทั้งในส่วนของตนตลอดจนโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาและโจทก์ที่ 3 บุตรผู้เยาว์ก็ตาม สิทธิดังกล่าวก็เป็นสิทธิที่รัฐกำหนดให้แก่ข้าราชการ ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยเมื่อโจทก์ทั้งสามถูกทำละเมิดจึงยังมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยทั้งสามผู้ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดได้อีก ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายของโจทก์ที่ 3 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดมาในฟ้องเดียวกัน โดยแยกทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องเป็นจำนวนเท่าใดมาชัดเจน เป็นส่วนของแต่ละคน มิได้เรียกร้องรวมกันมาเมื่อทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 3 เรียกร้องไม่เกิน 50,000 บาทและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3จะฎีกาเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายของโจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ฯลฯ
พิพากษายืน