คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3796/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ระบุอาชีพของจำเลยไว้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นข้าราชการบำนาญ จำเลยทราบคำฟ้องแล้วมิได้คัดค้านโต้แย้งทั้ง ๆ ที่อยู่ในวิสัยของจำเลยอันพึงต้องกระทำ จึงถือได้ว่าจำเลยมิใช่บุคคลที่อยู่ ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิดตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารพ.ศ. 2498 มาตรา 13,16(1) ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่ง ประทับฟ้องแล้วดำเนินคดีต่อมาตามขั้นตอนแม้จะปรากฏจากฎีกา ของจำเลยในภายหลังว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารก็ตามศาลล่างทั้งสองซึ่งเป็นศาลพลเรือนด้วยกันก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารฯมาตรา 15 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางอุทัย ปาลเรือง ผู้ตายได้นำที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2227ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางอุทัยและตกทอดแก่จำเลยกับนายธีรวิทย์ นายอดิศักดิ์ นายไพฑูรย์ ปาลเรืองและนายชวลิต วัฒนานุสรณ์ ผู้เป็นทายาทและเป็นผู้เสียหายไปจดทะเบียนเป็นของจำเลยและนำไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้จำนวน 400,000 บาท ที่จำเลยและนางอัมพร วรจิตสกุลชัยกู้จากธนาคารทหารไทย จำกัด โดยทุจริตเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่นายธีรวิทย์ นายอดิศักดิ์ นายไพฑูรย์ และนายชวลิต เป็นเงิน 2,787,200 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353,354 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 2,787,200 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 จำคุก 2 ปี และปรับ 9,000 บาทคำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี4 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 2,787,200 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการทหารต่อมาจำเลยเกษียณอายุราชการจำเลยเป็นบุคคลอยู่ในอำนาจศาลทหารโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลพลเรือนนั้น เห็นว่า ขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นนั้นได้ระบุอาชีพของจำเลยไว้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นข้าราชการบำนาญ จำเลยทราบคำฟ้องแล้วมิได้คัดค้านโต้แย้งใด ๆ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในวิสัยของจำเลยอันถึงต้องกระทำแต่หาได้กระทำไม่ จึงถือได้ว่าจำเลยมิใช่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิดตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 13, 16(1)ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งประทับฟ้องแล้วดำเนินคดีต่อมาตามขั้นตอนด้วยเหตุนี้เองแม้จะปรากฏเป็นครั้งแรกจากฎีกาของจำเลยในภายหลังว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารก็ตาม ศาลล่างทั้งสองซึ่งเป็นศาลพลเรือนด้วยกันก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามที่พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 15 วรรคสองบัญญัติไว้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share