คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6075/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามติดต่อและตกลงรับโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์สามารถทำหน้าที่บริหารดูแลงานทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างงาน การเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย หาใช่สาระสำคัญของสัญญาจ้างงานไม่ เพียงแต่ทำให้โจทก์ดูมีคุณสมบัติเด่นเป็นพิเศษ มีความน่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจในการดูแลและบริหารงานมากยิ่งขึ้นเท่านั้น การที่โจทก์ระบุในใบสมัครงานว่าเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟฟอร์เนียอันเป็นการเท็จ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นโมฆียะกรรม
แม้ขณะที่โจทก์ยื่นใบสมัครเข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 1 จะรับโจทก์เข้าทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมิได้เป็นลูกจ้างนายจ้างกัน กฎและมาตรฐานความประพฤติของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีผลบังคับโจทก์ จะถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างกรณีกรอกข้อความในใบสมัครอันเป็นเท็จไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ทำประวัติข้อมูลการศึกษาและประวัติการทำงานของโจทก์โดยระบุว่าโจทก์เป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียตามที่โจทก์ระบุไว้ในใบสมัครอันเป็นเท็จซึ่งโจทก์ตรวจแล้วรับรองว่าถูกต้องนั้น ย่อมเป็นการกระทำผิดข้อบังคับและมาตรฐานความประพฤติของพนักงาน และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
การที่โจทก์รับรองประวัติข้อมูลการศึกษาและประวัติการทำงานของโจทก์ว่าเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียอันเป็นเท็จ แม้จะเป็นการผิดหรือฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ก็ตามก็ไม่ใช่เป็นกรณีร้ายแรง โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 ติดต่อกันเกินกว่าหกปีแต่ไม่ครบสิบปี โจทก์จึงชอบที่จะได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (4) และเมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโดยโจทก์มิได้มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ตามฟ้อง
โจทก์ได้แจ้งคุณวุฒิด้านวิชาชีพอันเป็นเท็จต่อจำเลยที่ 1 ในใบสมัครงานและในการทำงานโจทก์ให้ข้อมูลหรือรับรองข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติด้านวิชาชีพของโจทก์เป็นเท็จการกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจ จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และถือได้ว่าโจทก์กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยที่ 1 ชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ตามใบสมัครงานเอกสารหมาย ล. 3 ตอนท้ายมีข้อความสรุปไว้ว่า “นอกจากนี้ข้าพเจ้ายินยอมที่จะไม่ทำงานเพื่อหรือทำประโยชน์ให้กับสำนักงานกฎหมายอื่นในกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 2 ปี ในกรณีที่ข้าพเจ้าได้ออกจากการทำงานที่ ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม (ประโยคข้างต้นดังกล่าวมิให้นำมาใช้กับทนายซึ่งทำงานให้กับบริษัท) ” โดยข้อความในวงเล็บของต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษระบุว่า “(The preceding sentence does not apply to lawyers engaged wih the firm.)” คำในวงเล็บคำว่า “lawyers” ท้ายเอกสารหมาย ล. 3 ย่อมหมายถึงทนายความผู้ทำหน้าที่ว่าความหรือให้คำปรึกษาเป็นการเฉพาะรายเท่านั้น โจทก์เข้าทำงานตำแหน่งหัวหน้างานทรัพย์สินทางปัญญาและตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญา อันเป็นตำแหน่งที่สามารถล่วงรู้ความลับในทางการค้าและข้อมูลการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีในกิจการประกอบธุรกิจโดยชอบไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะ ดังนั้น ข้อความท้ายเอกสารหมาย ล. 3 จึงมีผลผูกพันไม่ให้โจทก์ทำงานเพื่อหรือทำงานให้แก่สำนักงานกฎหมายอื่นในกรุงเทพมหานครเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง คือนับแต่วันที่เลิกจ้าง เมื่อโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างแล้วโจทก์ไปทำงานกับบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี จำกัด อันเป็นสำนักงานกฎหมายในกรุงเทพมหานคร จึงเป็นการผิดสัญญาข้อดังกล่าว แต่เนื่องจากระยะเวลาดังกล่าวได้ล่วงเลยมาเป็นเวลานาน หากให้มีผลนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม จึงสมควรกำหนดให้เป็นค่าเสียหายโดยให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชดใช้ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจ่ายเงินเดือนสะสมจำนวน 1,456,072.59 บาท เงินค่าเดินทางจำนวน 160,000 บาท เงินส่วนแบ่งกำไรจำนวน 14,266,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2544 เป็นต้นไปและให้เสียเงินเพิ่มตามกฎหมายจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 850,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 708,333.33 บาท ค่าชดเชย 6,800,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 991,666 บาท ให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบส่วนของจำเลยที่ 1 เข้าไปในเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ครบถ้วน และแจ้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการทุนรวมทิสโก้ จำกัด จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ พร้อมแสดงรายการนำส่งเงินสมทบของแต่ละฝ่าย อัตราดอกเบี้ยและประโยชน์อื่นที่ได้รับ ให้จำเลยที่ 1 จัดการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้ยี่ห้อ โตโยต้า รุ่นรีเจียส หมายเลขทะเบียน ภม.8332 กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 157,584.65 บาท อันเนื่องมาจากการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน ภน.2119 กรุงเทพมหานคร กับบริษัทเมอร์ซิเดสเบนซ์ลีสซิ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้ชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 44,244,600 บาท กับออกหนังสือรับรองการทำงานให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามยอมร่วมกันแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้แก่โจทก์ โดยยอมแถลงข้อความจริงต่อบุคคลที่สามด้วยวิธีการและข้อความตามฟ้องแล้วโจทก์ยินยอมไม่เรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมาจากจำเลยทั้งสาม
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การ และจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์เลิกทำงานกับสำนักงานกฎหมายที่โจทก์ทำงานอยู่ในขณะนี้ และห้ามโจทก์ไม่ให้ทำงานในสำนักงานกฎหมายอื่นในกรุงเทพมหานครอีกเป็นเวลา 2 ปี นับแต่ที่ศาลมีคำพิพากษา ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจากการผิดสัญญานับแต่วันที่โจทก์เข้าทำงานกับสำนักงานอื่นจนถึงวันที่โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาคิดเป็นค่าเสี่ยหายเท่ากับเงินที่โจทก์ได้รับจากสำนักงานกฎหมายแห่งอื่นที่เข้าทำงานโดยผิดสัญญาถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ชักชวนพนักงานของจำเลยที่ 1 ให้ไปทำงานกับสำนักงานกฎหมายอื่นจำนวน 4,442,514.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 51,119.60 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับจากลูกความเป็นเงิน 60,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ส่งคืนบัญชีรายชื่อลูกความ แฟ้มจดหมายติดต่อกับลูกความ แฟ้มความเห็นทางกฎหมาย ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้ในบริษัทจำเลยที่ 1 และรายงานทางการเงินของบริษัทจำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างค้างจ่าย 804,667 บาท และเงินสะสมในบัญชีพิเศษของโจทก์ 1,452,473 บาท กับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนรถยนต์ตู้ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นรีเจียส หมายเลขทะเบียน ภม. 8332 กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ และให้ออกหนังสือรับรองการทำงานแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า …จำเลยทั้งสามติดต่อและตกลงรับโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์สามารถทำหน้าที่บริหารดูแลงานทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างงาน การเป็นเนติบัณฑิต มลรัฐเคลิฟอร์เนีย หาใช่สาระสำคัญของสัญญาจ้างงานไม่ เพียงแต่ทำให้โจทก์ดูมีคุณสมบัติเด่นเป็นพิเศษ มีความน่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจในการดูแลและบริหารงานมากยิ่งขึ้นเท่านั้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นโมฆียะกรรม ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ตามใบสมัครงานโจทก์ระบุชัดเจนว่า โจทก์สมัครงานกับจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งลอร์เยอร์ และเป็นเนติบัณทิตจากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย จำเลยที่ 1 ประกาศให้พนักงานทราบถึงการรับโจทก์เข้าทำงานระบุคุณสมบัติทางวิชาชีพโจทก์ว่าเป็นเนติบัณฑิตจากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย จำเลยที่ 1 ให้ความสำคัญแก่คุณสมบัติทางวิชาชีพของโจทก์ โจทก์รับผิดชอบงาน 3 ลักษณะ คือการบริหารบังคับบัญชาฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญา การหาลูกค้าให้จำเลยที่ 1 และงานทนายความโดยทำความเห็นให้แก่ลูกความ การเป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญาต้องเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการประชุมกับหน่วยงานอื่นทั้งในและนอกประเทศ การปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์ จึงต้องอาศัยคุณสมบัติทางวิชาชีพที่น่าเชื่อถือ คุณสมบัติทางวิชาชีพจึงเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อให้ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้ามาทำงานก็เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นเนติบัณฑิต มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่ใช่เพราะความรู้ความสามารถอื่นๆ เพื่อนำไปสู้ปัญหาข้อกฎหมายว่า การเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียหรือไม่ เป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 อันจะทำให้สัญญาจ้างเป็นโมฆียะกรรมหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง แม้ศาลแรงงานกลางจะรับอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า หนังสือเลิกจ้างชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม หรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือเลิกจ้างได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ถึง 12 ข้อ ซึ่งพอที่จะทำให้โจทก์เข้าใจได้แล้ว โดยเฉพาะในหนังสือเลิกจ้างข้อ 1 ได้ระบุว่า โจทก์ฝ่าฝืนกฎและมาตรฐานการทำงานของติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ พ.ศ.2522 ซึ่งโจทก์ได้อ่าน ยอมรับ และตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 1 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 16 โดยในข้อ 7 ของกฎและมาตรฐานความประพฤติระบุไว้ว่า ห้ามมิให้พนักงานจัดเตรียมหรือยื่นแบบ การให้ถ้อยคำ คำขอหรือเอกสารอื่น ๆ อันเป็นเท็จหรือไม่ถูกต้องแก่สำนักงานซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่าเหตุแห่งการเลิกจ้างโจทก์ประการหนึ่งมาจากการที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ปกปิดหรือแจ้งคุณวุฒิเกี่ยวกับเนติบัณฑิตอันเป็นเท็จนั่นเอง หนังสือเลิกจ้างจึงระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ตามมาตรา 17 วรรคสาม แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการที่โจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียอันเป็นเท็จนั้น เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) หรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะที่โจทก์ยื่นใบสมัครเข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 1 จะรับโจทก์เข้าทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมิได้เป็นลูกจ้างนายจ้างกัน กฎและมาตรฐานความประพฤติของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีผลบังคับโจทก์ จะถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างกรณีกรอกข้อความในใบสมัครอันเป็นเท็จไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ทำประวัติข้อมูลการศึกษาและประวัติการทำงานของโจทก์โดยระบุว่าโจทก์เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียตามที่โจทก์ระบุไว้ในใบสมัครเป็นเท็จซึ่งโจทก์ตรวจแล้วรับรองว่าถูกต้องนั้น ย่อมเป็นการกระทำผิดข้อบังคับและมาตรฐานความประพฤติของพนักงาน ข้อ 7 และ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวดที่ 7 ข้อ 3.7 และข้อ 3.15
การที่โจทก์รับรองประวัติข้อมูลการศึกษาและประวัติการทำงานของโจทก์ว่าเป็นเนติบัณทิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียอันเป็นเท็จ แม้จะเป็นการผิดหรือฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยก็ตามก็ไม่ใช่กรณีร้ายแรง และเมื่อศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า กรณีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชักชวนลูกความของจำเลยที่ 1 ไปใช้บริการของบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ชักชวนพนักงานหรือลูกความของจำเลยที่ 1 ไปทำงานหรือใช้บริการสำนักกฎหมายอื่น และฟังไม่ได้ว่าโจทก์นำเอารายชื่อที่อยู่ลูกความ แฟ้มจดหมายติดต่อกับลูกความ แฟ้มความเห็นทางกฎหมาย ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้ในบริษัทจำเลยที่ 1 รายงานทางการเงินของจำเลยที่ 1 ไป ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2537 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 850,000 บาท จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2544 โจทก์จึงชอบที่จะได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (4) เป็นเงิน 6,800,000 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้แจ้งคุณวุฒิด้านวิชาชีพอันเป็นเท็จต่อจำเลยที่ 1 ในใบสมัครงานและในการทำงานโจทก์ให้ข้อมูลหรือรับรองข้อมูลเกี่ยวกับคุณวุฒิด้านวิชาชีพของโจทก์เป็นเท็จ การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และถือได้ว่าโจทก์กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยที่ 1 ชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์จำนวน 25 วัน ตามฟ้องคิดเป็นเงิน 708,333.33 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ข้อตกลงตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ห้ามโจทก์ไปทำงานกับสำนักงานกฎหมายอื่นที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1มีผลผูกพันหรือไม่ เห็นว่า ตามใบสมัครงานเอกสารหมาย ล.3 ตอนท้ายมีข้อความสรุปไว้ว่า “นอกจากนี้ข้าพเจ้ายินยอมที่จะไม่ทำงานเพื่อหรือทำประโยชน์ให้กับสำนักงานกฎหมายอื่นในกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 2 ปี ในกรณีที่ข้าพเจ้าได้ออกจากการทำงานที่ ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม (ประโยคข้างต้นดังกล่าวมิให้นำมาใช้กับทนายซึ่งทำงานให้กับบริษัท” โดยข้อความในวงเล็บของต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษระบุว่า “(The preceding sentence dose not apply to lawyers engaged with the firm.)” คำในวงเล็บคำว่า “lawyers” ท้ายเอกสารหมาย ล.3 นั้น ย่อมหมายถึงทนายความผู้ทำหน้าที่ว่าความหรือให้คำปรึกษาเป็นการเฉพาะรายเท่านั้น โจทก์เข้าทำงานตำแหน่งหัวหน้างานทรัพย์สินทางปัญญาและตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญา อันเป็นตำแหน่งที่สามารถล่วงรู้ความลับในทางการค้าและข้อมูลการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีในกิจการประกอบธุรกิจโดยชอบไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะ ดังนั้นข้อความท้ายเอกสารหมาย ล.3 จึงมีผลผูกพันไม่ให้โจทก์ทำงานเพื่อหรือทำงานให้แก่สำนักงานกฎหมายอื่นในกรุงเทพมหานครเป็นเวลาไม่น้อยว่า 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง คือนับแต่วันที่เลิกจ้าง เมื่อโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างแล้วโจทก์ไปทำงานกับบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี จำกัด อันเป็นสำนักงานกฎหมายในกรุงเทพมหานคร จึงเป็นการผิดสัญญาข้อดังกล่าวแต่เนื่องจากระยะเวลาดังกล่าวได้ล่วงเลยมาเป็นเวลานาน หากให้มีผลนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม จึงสมควรกำหนดให้เป็นค่าเสียหายโดยให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชดใช้ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชย 6,800,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 708,333.33 บาท ให้แก่โจทก์ และให้ศาลแรงงานกลางพิจารณากำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชดใช้แก่จำเลยที่ 1 แทนการที่โจทก์ได้ไปทำงานเพื่อหรือทำงานให้กับสำนักกฎหมายอื่นแล้วพิพากษาคดีในส่วนนี้ใหม่ต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share