คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องคดีอาญาที่ทนายความของโจทก์ลงชื่อมาในคำฟ้องแทนโจทก์แม้ในใบแต่งทนายจะระบุอำนาจลงชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ได้ไว้ด้วยก็เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 158(7) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่งมาจากจำเลยที่ 3 แล้วมาชักชวนให้โจทก์ตั้งบริษัทจำกัดชื่อว่า บริษัทเฟรนด์ชิบโบว์ จำกัด” เพื่อสร้างสนามกีฬาโบว์ลิ่ง ณ ที่ดินที่จำเลยที่ 1 เช่ามานั้น โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2กับโจทก์ทั้งห้าคนเป็นผู้ถือหุ้นและจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการ โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ นับตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัท ฯ ได้ชำระค่าเช่าให้เจ้าของที่ดินย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่า ซึ่งถือว่าบริษัทเป็นผู้เช่าที่ดินแปลงนี้แทนจำเลยที่ 1 ครั้นวันที่ 30 พฤษภาคม 2511 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของบริษัทและครอบครองอยู่ ได้บังอาจร่วมกันกับจำเลยที่ 3 ทุจริตจดทะเบียนเลิกสัญญาเช่าที่ดินแปลงนี้โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจกระทำได้โดยลำพังนอกจากจะได้รับความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่บริษัท เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นหุ้นส่วนต้องเสียสิทธิในการเช่าที่ดินและอาคารที่โจทก์และจำเลยร่วมทุนกันสร้างขึ้นเป็นเงิน 200,000 บาท และในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยที่ 3 ได้โอนขายที่ดินแปลงนี้พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาทุจริตคิดเบียดบังโจทก์เพื่อยึดเอากิจการของบริษัทเป็นของตนเองเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 83 กับขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการบอกเลิกสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1กับที่ 3 ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วสั่งคดีมีมูล ประทับฟ้องไว้พิจารณา

จำเลยที่ 1 ให้การว่าฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะทนายโจทก์ลงชื่อเป็นโจทก์เสียเอง จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเช่าที่ดินจากจำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัวบริษัทจึงไม่มีสิทธิในสัญญาเช่า การบอกเลิกสัญญาเช่าไม่ได้เกิดจากความทุจริต บริษัทและโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย

จำเลยที่ 2 ให้การว่าไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย โจทก์หรือบริษัทไม่ได้รับความเสียหายไม่มีนิติสัมพันธ์ในการเช่าที่พิพาทกับจำเลยที่ 3 ผู้เป็นเจ้าของเดิมและกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของต่อมา ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการขายฝากที่จำเลยที่ 2 ได้ขายฝากที่ดินแก่พันตำรวจเอกสนิท ผิวนวล คำขอท้ายฟ้องที่ให้จดทะเบียนการเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 จึงทำไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่าจำเลยที่ 3 ไม่เคยเกี่ยวข้องกับกิจการทรัพย์สินของบริษัทเฟรนชิบโบว์ โจทก์หรือบริษัทไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 3 ไม่มีเหตุที่จะต้องทำให้โจทก์ดังคำขอ ขอให้ยกฟ้อง

ก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานของคู่ความเสียพิจารณาแล้วเห็นว่าตามคำบรรยายฟ้องไม่ใช่เป็นเรื่องเบียดบังยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 การที่จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญานั้นเป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ตามสัญญา จึงถือว่าเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จึงไม่เป็นผิดตามมาตรา 353 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ก็ย่อมไม่มีความผิดเช่นกัน ส่วนความรับผิดทางแพ่งเห็นว่า จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าไปตามสิทธิที่ตนมีอยู่ในฐานะเป็นคู่สัญญา ไม่เป็นเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอน พิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ

โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและในปัญหาข้อกฎหมายขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ในส่วนอาญาไม่สมบูรณ์ ส่วนในทางแพ่งเห็นว่าสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเป็นการเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 โจทก์หรือบริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โจทก์ทั้งห้าเป็นเพียงผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจฟ้องแทนบริษัท พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ

โจทก์ทั้งห้าเว้นแต่นายจรุงโจทก์ที่ 2 ฎีกา ซึ่งมีประเด็นที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัย (1) ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่มอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 และการกระทำดังบรรยายในคำฟ้องเป็นความผิดอาญาหรือไม่ (2) โจทก์ผู้ถือหุ้นบริษัทมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเลิกสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 ับที่ 3 ได้หรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยตามประเด็นข้อ (1) เห็นว่า ข้อเท็จจริงในท้องสำนวนปรากฏว่า นายสกล ประภาสะโนบล ทนายความได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ให้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ในใบแต่งทนายหลายประการ รวมทั้งให้มีอำนาจลงชื่อในคำฟ้องแทนด้วย แล้วนายสกล ประภาสะโนบล ได้เซ็นชื่อในคำฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ โดยโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อโจทก์ในคำฟ้องนั้นเลย เป็นปัญหาว่าคำฟ้องในกรณีเช่นนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี ฯลฯ (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง” และมาตรา 2(14) ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ศัพท์ บัญญัติว่า “โจทก์” หมายความถึงพนักงานอัยการหรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาลหรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน เมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้ดังนี้ การยื่นฟ้องคดีอาญาโจทก์จึงต้องลงลายมือชื่อในฟ้องด้วยตนเอง ทนายความหามีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์ไม่ แม้โจทก์จะได้แต่งตั้งโดยระบุไว้ในใบแต่งทนาย ให้ทนายความผู้นั้นมีอำนาจลงชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ก็ตาม ซึ่งไม่เหมือนกับคดีแพ่ง เมื่อทนายความที่รับมอบอำนาจนั้นแล้วย่อมลงลายมือชื่อในฟ้องแทนโจทก์ได้ เหตุนี้คำฟ้องคดีส่วนอาญาของโจทก์นี้จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันศาลจะพึงรับไว้พิจารณาตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 300/2507 ระหว่าง นายผาน ทัศดร โจทก์ นายวิกรานต์ โสตถิสวัสดิ์ จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ 1663 ถึง 1664/2512 ระหว่างนางปิ่นคำ จอมวงศ์ นายอินทรีย์ ช่วยแก้ไข โจทก์ นายสุชาติ แซ่โง้ว จำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญาของโจทก์โดยไม่ต้องสืบพยานและวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นผิดทางอาญาหรือไม่ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ตามประเด็นข้อ (2) เห็นว่า สัญญาเช่าที่ทำกันไว้แต่แรกเป็นสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 ทำไว้เป็นส่วนตัวกับจำเลยที่ 3 ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน หาได้เกี่ยวกับบริษัทไม่ ภายหลังเมื่อก่อตั้งบริษัทแล้วก็ไม่มีการเปลี่ยนตัวคู่สัญญาจากผู้เช่าเดิมคือจำเลยที่ 1 มาเป็นของบริษัท นอกจากนี้บริษัทได้ก่อตั้งขึ้นภายหลังจากจำเลยที่ 1 ได้เช่าที่ดินจากจำเลยที่ 3 แล้ว จะถือว่าจำเลยที่ 1 เช่าแทนบริษัทอย่างไรได้ เพราะบริษัทยังไม่เกิด แม้ว่าเมื่อบริษัทก่อตั้งและเกิดแล้วบริษัทจะได้เสียค่าเช่าที่ดินย้อนหลังขึ้นไปถึงวันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าและจำเลยที่ 3 ได้ออกใบเสร็จรับเงินค่าเช่าให้ในนามบริษัทก็ตามก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เช่าที่ดินในครั้งกระโน้นแทนบริษัทอยู่นั่นเอง เหตุนี้ บริษัทหรือโจทก์ผู้ถือหุ้นจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเลิกสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ซึ่งตกลงเลิกเป็นการส่วนตัวได้ และคดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ผู้เป็นหุ้นส่วนจะมีอำนาจฟ้องแทนบริษัท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 หรือไม่ศาลล่างทั้งสองงดสืบพยานคู่ความ แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นว่าชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share