แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีแพ่งเรื่องก่อนพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ท. โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนเวลาที่อยู่ในสมณเพศ จำเลยคดีนี้ยื่นคำคัดค้านว่าเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุ ท. ที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศตกเป็นสมบัติของวัดจำเลย จึงมีประเด็นว่า พระภิกษุ ท. ได้ทรัพย์สินมาก่อนเวลาที่อยู่ในสมณเพศหรือไม่และเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่โจทก์หรือไม่ ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยกล่าวอ้างทำนองเดียวกันกับคดีก่อน แม้คดีก่อนพนักงานอัยการจะเป็นผู้ร้องขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกได้อยู่แล้วให้พนักงานอัยการร้องขอแทน จึงถือได้ว่าเป็นการร้องขอแทนโจทก์ เมื่อคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทย่อมถือได้ว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีแทนโจทก์ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(4) ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามมาตรา 173 วรรคสอง (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นน้องสาวร่วมบิดาเดียวกันกับพระภิกษุทองดี ทะนุวงษ์ ก่อนพระภิกษุทองดีถึงแก่มรณภาพในวันที่ 19 กรกฎาคม 2511 มีทรัพย์สินคือที่ดินโฉนดเลขที่ 3431 และเลขที่ 3277 และกำปั่นพร้อมด้วยทรัพย์สินอื่น ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนบวชเป็นพระภิกษุจึงตกเป็นของโจทก์ซึ่งเป็นทายาทคนเดียว จำเลยรับโอนมรดกใส่ชื่อตนเองในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงและครอบครองทรัพย์สินไว้ไม่คืนให้โจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินทั้งสองแปลงพร้อมด้วยทรัพย์สินอื่นตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 อันดับที่ 7 ถึง 15 และอันดับที่ 18 ถึง 23 เป็นของโจทก์ ให้จำเลยไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงและให้ส่งมอบกำปั่นและทรัพย์สินอื่นคืนแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับทรัพย์ทั้งหมดอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยให้พนักงานอัยการร้องขอตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุทองดี จำเลยได้คัดค้านว่าเป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุทองดีได้มาระหว่างบวชอยู่ที่วัดจำเลย ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอโดยเห็นว่า เป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุทองดีได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศตกแก่จำเลยตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 606/2538 หมายเลขแดงที่ 769/2539 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้อน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำหรือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 606/2538 หมายเลขแดงที่ 769/2539 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 769/2539 ของศาลชั้นต้น พนักงานอัยการจังหวัดปราจีนบุรียื่นคำร้องขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุทองดี โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุทองดีที่ได้มาก่อนเวลาที่อยู่ในสมณเพศ แต่เมื่อจำเลยคดีนี้ยื่นคัดค้านในคดีดังกล่าวว่าทรัพย์มรดกของพระภิกษุทองดีที่จะขอตั้งผู้จัดการมรดกนั้นเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุทองดีที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ เมื่อพระภิกษุทองดีถึงแก่มรณภาพจึงตกเป็นสมบัติของวัดจำเลยที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุทองดี ขอให้ยกคำร้องขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก คดีดังกล่าวจึงมีประเด็นว่า พระภิกษุทองดีได้ทรัพย์สินมาก่อนเวลาที่อยู่ในสมณเพศหรือไม่และเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่โจทก์หรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดคดีว่าทรัพย์สินของพระภิกษุทองดีได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ เมื่อพระภิกษุทองดีถึงแก่มรณภาพทรัพย์สินของพระภิกษุทองดีจึงตกเป็นของวัดจำเลยที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุทองดี ไม่มีเหตุที่จะตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2540 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โดยกล่าวอ้างทำนองเดียวกันกับคดีก่อนว่าทรัพย์มรดกพิพาทเป็นของพระภิกษุทองดีที่ได้มาก่อนบวชเป็นพระภิกษุที่วัดจำเลย จำเลยก็ให้การต่อสู้ว่า ทรัพย์มรดกพิพาทเป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุทองดีได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศจึงตกเป็นสมบัติของวัดจำเลย แม้คดีก่อนพนักงานอัยการจังหวัดปราจีนบุรีจะเป็นผู้ร้องขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกได้อยู่แล้วให้พนักงานอัยการจังหวัดปราจีนบุรีร้องขอแทน จึงถือได้ว่าเป็นการร้องขอแทนโจทก์ เมื่อคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาท ย่อมถือได้ว่าพนักงานอัยการจังหวัดปราจีนบุรีฟ้องคดีแทนโจทก์ด้วย ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(4) ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยฟ้องของโจทก์ในคดีนี้กับคดีก่อนมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน