คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6064/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ความประสงค์หรือเจตนาแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล คือจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการของจำเลยที่ 1 ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ออกเช็คทั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้า ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงเห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 2 กระทำทั้งฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นการร่วมกันกระทำผิด จำเลยที่ 2 ไม่อาจอ้างได้ว่าไม่มีเจตนาออกเช็คพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91 เรียงกระทงลงโทษ ความผิดตามเช็คฉบับแรกลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 20,000บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน ความผิดตามเช็คฉบับหลัง ลงโทษปรับจำเลยที่ 1จำนวน 60,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 เดือน รวมปรับจำเลยที่ 1 จำนวน80,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 16 เดือน ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 60,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงแรก2 เดือน และกระทงที่สอง 7 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด โดยจำเลยที่ 2 กรรมการที่มีอำนาจกระทำการแทนได้ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ เมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนด โจทก์เรียกเก็บเงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเงินในบัญชีของจำเลยที่ 1 ไม่พอจ่าย จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า มูลหนี้เดิมของเช็คพิพาทเป็นเรื่องระหว่างนายธนวัฒน์กับโจทก์ นายธนวัฒน์เป็นหนี้โจทก์ จำเลยที่ 2 ออกเช็คตามคำขอของนายธนวัฒน์ นายธนวัฒน์รับว่าจะชำระหนี้โดยนำเงินเข้าบัญชีจึงถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาจะออกเช็คนั้น เห็นว่า มูลหนี้เดิมตามเช็คพิพาทเป็นหนี้ค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ แม้นายธนวัฒน์ตกลงกับจำเลยที่ 2 ว่านายธนวัฒน์จะชำระหนี้เองแต่ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายธนวัฒน์ ไม่มีผลผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ความประสงค์หรือเจตนาแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคลคือจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการของจำเลยที่ 1ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงเห็นได้ชัดว่า จำเลยที่ 2 กระทำทั้งฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นการร่วมกันกระทำผิด จำเลยที่ 2 ไม่อาจอ้างได้ว่าไม่มีเจตนาออกเช็คพิพาท ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์มีเจตนาไม่สุจริตร่วมมือกับนายธนวัฒน์ลวงให้จำเลยที่ 2 รับผิดชอบแทนนายธนวัฒน์นั้นเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ จึงไม่รับวินิจฉัย ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อสุดท้ายขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่สำนึกผิด ไม่บรรเทาผลร้ายแห่งความผิดไม่สมควรรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share