คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6059/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบภาษีได้ตรวจสอบและคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยรอบปีภาษี 2523-2524แล้วปรากฏว่าจำเลยจะต้องชำระเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมและเงินเพิ่ม จึงมีหนังสือลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 เรื่องแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ถึงจำเลยให้ชำระเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม และเงินเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2523 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2523 และ ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมและเงินเพิ่มสำหรับ รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2524 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2524 จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2527 ต่อมาจำเลยได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ครั้นวันที่ 14 สิงหาคม 2532 คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้วได้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย และจำเลยมิได้ยื่นฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีให้จำเลยซึ่งเป็นบุคคลผู้มีหน้าที่ต้องชำระภาษีเพิ่มทราบแล้ว โดยจำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีจากเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์แจ้งให้จำเลย ชำระค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมและเงินเพิ่มทั้ง 2 รายการดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2527 อายุความจึงเริ่ม นับตั้งแต่วันดังกล่าว มิใช่นับแต่วันที่โจทก์มีหนังสือ แจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม และเงินเพิ่มไปยังจำเลย ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลย เป็นบุคคลล้มละลายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 จึงเป็นการฟ้องภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า หนี้ภาษีอากรแต่ละรายการตามฟ้องโจทก์มิได้ฟ้องภายใน 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมิน คดีโจทก์ขาดอายุความ จึงมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ไว้เด็ดขาดในคดีอื่น ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมสำหรับรอบปีภาษี 2523-2524และเงินเพิ่มรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,435,585.07 บาทตามสำเนาหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเอกสารหมาย จ.29และ จ.30 ก่อนฟ้องโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว 2 ครั้ง แต่ละครั้งมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า30 วัน จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามแล้วเมื่อวันที่7 กรกฎาคม 2536 และวันที่ 11 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ ต่อมาโจทก์ได้บังคับคดียึดทรัพย์สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 12 แล้ว ปรากฏว่าได้เงินค่าขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบปีภาษี 2518-2520เพียงบางส่วนเท่านั้น
คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าเฉพาะหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบปีภาษี 2523-2524 เป็นหนี้ที่ขาดอายุความแล้วฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ อันเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนางสาวเทียนทอง กล้าแข็ง พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบภาษีและเป็นผู้ทำการประเมินภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ว่า พยานได้ตรวจสอบและคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 1 รอบปีภาษี 2523-2524แล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะต้องชำระเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมและเงินเพิ่ม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,435,585.07 บาทพยานจึงมีหนังสือลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 เรื่องแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลถึงจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมและเงินเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2523 ถึงวันที่31 ธันวาคม 2523 รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 4,878,662 บาท และค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมและเงินเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2524 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2524รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 4,556,922.56 บาท ตามเอกสารหมายจ.29 และ จ.30 และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2527 ตามบันทึกการส่งเอกสารหมาย จ.30 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ครั้นวันที่14 สิงหาคม 2532 คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้วได้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1ที่คัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.32(1) และ จ.32(2) จำเลยที่ 1มิได้ยื่นฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงมีข้อต้องพิจารณาตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2527 อันเป็นวันที่โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมสำหรับรอบปีภาษี 2523-2524 และเงินเพิ่มให้จำเลยที่ 1ชำระเงินค่าภาษี ต้องถือว่าเป็นวันที่โจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 1เป็นหนี้จำนวนแน่นอนแล้ว โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องและใช้สิทธิบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยได้ทันทีแต่เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายในวันที่1 กรกฎาคม 2537 ซึ่งเป็นเวลากว่า 10 ปี นับแต่วันดังกล่าวแล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีหน้าที่ต้องชำระภาษีเพิ่มทราบแล้ว โดยจำเลยที่ 1ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีจากเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมและเงินเพิ่มทั้ง 2 รายการดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2527 ตามสำเนาบันทึกการส่งหนังสือแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.31 ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 จึงเป็นการฟ้องภายในกำหนดอายุความ 10 ปี แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่มีมูลหนี้ที่จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ซึ่งกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนและเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าห้าแสนบาทก่อนฟ้องจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง แต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน อีกทั้งจำเลยที่ 1 เคยถูกโจทก์ยึดทรัพย์สินออกขายทอดตลาดมาแล้วแต่ไม่พอชำระหนี้พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 จึงสันนิษฐานได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว
พิพากษายืน

Share