แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกได้ร่วมกันจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทจำเลยที่ 1 จำนวน227,894,845 หุ้น ให้แก่บุคคลผู้ไม่มีสิทธิและจดทะเบียนรับผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นใหม่ของจำเลยที่ 1 อันเป็นการขัดต่อข้อบังคับของบริษัท ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายเพราะโจทก์ไม่ได้รับการจัดสรรซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนที่ถือหุ้นเดิมอยู่ 9,299,990 หุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 92,999,900 บาท ดังนั้นที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมได้รับความเสียหาย เสียโอกาสได้รับการจัดสรรซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งโจทก์จะมีสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ 9,299,990 หุ้น ในราคาหุ้นละ10 บาท เป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 92,999,900 บาท แต่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเพียง90,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 90,000,000บาทจึงเป็นการขอเพิ่มข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและขอบังคับนอกเหนือไปจากคำฟ้องเดิม มิใช่เป็นกรณีที่เพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในฟ้องเดิมหรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179(1)(2)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนรับผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2543ซึ่งเข้าเป็นผู้ถือหุ้นภายหลังวันที่มีมติให้เพิ่มทุนและภายหลังวันที่ 16 ธันวาคม 2542ซึ่งคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 มีมติให้จัดสรรเพิ่มทุนทั้งหมด ให้เพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2543 ในการลงมติแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่และในการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 18,750,000 หุ้น ให้เพิกถอนมติที่ประชุมครั้งที่ 2/2543 ซึ่งมีมติยืนยันมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2543 ให้เป็นมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับบริษัทหากจำเลยทั้งหกไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนา
ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องฉบับลงวันที่ 12กันยายน 2543 ว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมได้รับความเสียหายเพราะโจทก์เสียโอกาสได้รับการจัดสรรซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาหุ้นที่เป็นธรรม ซึ่งโจทก์มีสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้จำนวน 9,299,990 หุ้น ในราคาหุ้นละ10 บาท เป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 92,999,900 บาท แต่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเพียง90,000,000 บาท ขอแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนทุนทรัพย์เป็น 90,000,000 บาท และเพิ่มเติมคำขอบังคับท้ายฟ้องให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 90,000,000บาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องมิใช่เป็นกรณีเป็นการเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์และมิใช่เป็นการเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจขอแก้ไขคำฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่าคำฟ้องเดิมโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกได้ทำการโต้แย้งสิทธิโจทก์ซึ่งผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยทั้งหกได้ร่วมกันจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนของจำเลยที่ 1 จำนวน 227,984,845 หุ้น ให้แก่บุคคลผู้ไม่มีสิทธิและจดทะเบียนรับผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นใหม่ของจำเลยที่ 1 อันเป็นการขัดต่อข้อบังคับของบริษัทและจำเลยทั้งหกยังได้จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2543 โดยลงมติแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่แทนกรรมการชุดเก่า ขัดต่อข้อบังคับกับมีมติจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนส่วนที่เหลือจำนวน 18,750,000 หุ้น ให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิ รวมทั้งจัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2543 ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัท ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวกับให้เพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2543 และครั้งที่ 2/2543 ซึ่งตามคำฟ้องเดิมโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย เพราะโจทก์ไม่ได้รับการจัดสรรซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนที่ถือหุ้นเดิมอยู่จำนวน 9,299,990 หุ้น เป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 92,999,900 บาท แต่อย่างใด ดังนั้นที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมได้รับความเสียหายเพราะโจทก์เสียโอกาสได้รับการจัดสรรซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งโจทก์จะมีสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้จำนวน 9,299,990 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท เป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 92,999,900 บาท แต่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเพียง 90,000,000บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 90,000,000บาท จึงเป็นการขอเพิ่มข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและขอบังคับนอกเหนือไปจากคำฟ้องเดิม มิใช่เป็นกรณีที่เพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในฟ้องเดิมหรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179(1)(2) ทั้งมีการแก้ไขเล็กน้อยการแก้ไขคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบที่จะกระทำได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องของโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน