คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6045/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างที่โจทก์ขออนุญาตฎีกา เป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้เพราะเหตุจำเลยถึงแก่ความตาย ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 32 วรรคสอง การยึดทรัพย์สินของจำเลยจึงยังไม่สิ้นสุด เมื่อผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทของจำเลยได้ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องเข้ามาในคดีนี้ และศาลชั้นต้นไต่สวนจนสิ้นกระแสความทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในประเด็นว่า ทรัพย์สินที่ยึดไว้ในคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่แล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไป
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2561)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งริบทรัพย์สิน 2 รายการ ได้แก่ เงินสด 522,400 บาท และสร้อยคอลายโซ่ 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 15.1 กรัม ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 27, 29, 31
ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบเงินสด 522,400 บาท สร้อยคอทองลายโซ่ 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 15.1 กรัม ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหวิน จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 356/2556 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรนายูงจับกุมจำเลยพร้อมยึดเงินสด 522,400 บาท และสร้อยคอทองคำ 1 เส้น เป็นของกลาง โดยแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยว่าเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต่อมาผู้ร้องเป็นโจทก์ยื่นฟ้องดำเนินคดีแก่จำเลย ครั้นวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 20 ปี และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ ระหว่างนั้นคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินทั้งสองรายการเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเกินฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจการอย่างอื่นโดยสุจริต และเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินทั้งสองรายการ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวเป็นคดีนี้ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องคดีอาญา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีนี้ชั่วคราวระหว่างรอฟังผลว่าพนักงานอัยการโจทก์จะยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาคดีอาญาหรือไม่ ในวันที่ 28 มิถุนายน 2557 ระหว่างรอฟังผลจำเลยถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 ศาลชั้นต้นแจ้งคำสั่งศาลฎีกาที่ให้จำหน่ายคดีคำร้องขออนุญาตฎีกาของพนักงานอัยการโจทก์อันเนื่องจากจำเลยถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินทั้งสองรายการ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้คัดค้านฎีกา
พิเคราะห์แล้ว เห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า กรณีที่จำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกา ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นคดีหลักที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ถือได้ว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง ซึ่งทำให้การยึดทรัพย์สินของจำเลยสิ้นสุดลงหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่จำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างที่โจทก์ขออนุญาตฎีกา เป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้เพราะเหตุจำเลยถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 32 วรรคสอง การยึดทรัพย์สินของจำเลยจึงยังไม่สิ้นสุด เมื่อผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทของจำเลยได้ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องเข้ามาในคดีนี้ และศาลชั้นต้นไต่สวนจนสิ้นกระแสความทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในประเด็นว่า ทรัพย์สินที่ยึดไว้ในคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่แล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไป
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า สมควรริบทรัพย์สินทั้งสองรายการนี้ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือไม่ โดยผู้ร้องนำสืบว่า จากการสอบคำให้การของจำเลยได้ความว่าจำเลยประกอบอาชีพรับจ้างตัดผม และเย็บเสื้อผ้ามีรายได้รวมกันเฉลี่ยวันละ 600 บาท นอกจากนี้ยังมีรายได้จากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเดือนละ 1,400 บาท สำหรับเงินสดที่ถูกยึดไว้เป็นเงินของผู้คัดค้าน 300,000 บาท ส่วนอีก 222,400 บาท เป็นเงินสะสมของจำเลย โดยมีบางส่วนนำไปซื้อสร้อยคอทองคำที่ถูกยึดไว้ด้วย แต่คณะกรรมตรวจสอบทรัพย์สินมีความเห็นว่า ทรัพย์สินทั้งสองรายการเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจการอย่างอื่นโดยสุจริต และเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินดังกล่าว เห็นว่า ผู้คัดค้านนำสืบเพียงว่า จำเลยได้รับเงินจากทางราชการในฐานะเป็นผู้เข้าร่วมพัฒนาชาติไทยในปีที่จำเลยถูกจับกุม 225,000 บาท ส่วนเงินสดที่ถูกยึดจำนวน 522,400 บาท เป็นของผู้คัดค้าน 300,000 บาท ก็ได้ความตามใบสรุปยอดบัญชีรายชื่อผู้เข้าร่วมพัฒนาชาติไทยว่า เงินที่จำเลยได้รับความช่วยเหลือดังกล่าวโอนเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยบัญชีเลขที่ 401 – 3 – 11xxx – x แต่ผู้คัดค้านเบิกความตอบผู้ร้องถามค้านว่า ผู้คัดค้านไม่ได้ตรวจสอบบัญชีธนาคารว่ามีเงินจำนวนดังกล่าวอยู่หรือไม่ และผู้คัดค้านก็มิได้นำบัญชีธนาคารของจำเลยมาแสดงต่อศาลเพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวทางบัญชีว่า จำเลยมีเงินสะสมมาโดยตลอดสอดคล้องกับจำนวนเงินที่ถูกยึดไว้ นอกจากนี้ยังได้ความตามทางนำสืบของผู้คัดค้านต่อไปอีกว่า ผู้คัดค้านก็มีบัญชีเงินฝากที่ธนาคารเช่นกัน ผู้คัดค้านสามารถนำเงินจำนวน 300,000 บาท เข้าฝากในบัญชีของตนเองได้ ที่ผู้คัดค้านอ้างว่า มีขโมยขึ้นบ้านจึงนำเงินฝากไว้กับจำเลยจึงเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือ ตรงกันข้ามกลับได้ความจากคำเบิกความของนางสมพร มารดาผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านไปพักกับจำเลยและนำเงินของพยานจำนวน 280,000 บาท ไปด้วย จึงขัดแย้งกันเอง ทำให้น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านและนางสมพรต่างเบิกความเพื่อจะอ้างว่าเงินจำนวน 300,000 บาท ไม่ใช่เงินของจำเลยเท่านั้น ส่วนสร้อยคอทองคำนั้น ก็ได้ความว่า จำเลยประกอบอาชีพรับจ้างตัดผมและเย็บเสื้อผ้าบริเวณใต้ถุนบ้านของจำเลยเอง เป็นบ้านตามชนบททั่ว ๆ ไปไม่เป็นย่านชุมนุมชน จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะมีรายได้สม่ำเสมอทุกวันเฉลี่ยวันละ 600 บาท เพียงพอที่จะมีเงินเก็บสะสมซื้อสร้อยคอทองคำได้ พยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำสืบมาจึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินทั้งสองรายการไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือจำเลยได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาโดยสุจริต หรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิขอคืนทรัพย์ดังกล่าว
ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า มีการควบคุมจำเลยไว้เกิน 3 วัน เป็นการไม่ชอบ การยึดทรัพย์สินจึงไม่ชอบเช่นกันนั้น เป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย มีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาริบทรัพย์สินทั้งสองรายการให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share