แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์ถึงบริเวณจุดเลี้ยวกลับรถถนนสาย 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่เกิดเหตุ ด้วยความเร็วสูง โดยจำเลยมีความประสงค์ที่ขับรถจักรยานยนต์แล่นผ่านจุดเลี้ยวกลับรถดังกล่าวตรงไปทางด้านถนนบางนา-ตราด และจำเลยมองเห็นอยู่แล้วว่าในขณะนั้นมี ส. กำลังขับรถยนต์เลี้ยวขวากลับรถบริเวณจุดกลับรถเข้าสู่ถนนสาย 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในช่องเดินรถช่องที่ 2 ซึ่งเป็นช่องเดินรถช่องเดียวกันกับที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวมา แต่จำเลยไม่ชะลอความเร็วและไม่หักหลบรถยนต์คันที่ ส. ขับมาเข้าไปในช่องเดินรถช่องที่ 1 เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชนบริเวณด้านท้ายรถยนต์ของ ส. อย่างแรง ทำให้รถยนต์ของ ส. ได้รับความเสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยกล่าวถึงคำฟ้องของโจทก์ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูง ไม่ชะลอความเร็ว ด้วยความประมาทของจำเลยจึงเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชนบริเวณด้านท้ายรถยนต์ของ ส. แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ย่อมสามารถนำสืบให้เห็นว่าจำเลยขับรถอย่างไร ด้วยอัตราความเร็วเท่าใดจึงเป็นการขับรถโดยประมาท ซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยและศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าการที่จำเลยขับรถด้วยความเร็วเกินกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรได้ เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยคำฟ้องโจทก์ดังกล่าวข้างต้นแล้วเห็นว่าคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว ส่วนจำเลยขับรถอย่างไร ด้วยอัตราความเร็วเท่าใดนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ซึ่งศาลย่อมนำข้อนำสืบดังกล่าวมาวินิจฉัยถึงการกระทำผิดของจำเลยได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์ถึงบริเวณจุดเลี้ยวกลับรถถนนสาย 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่เกิดเหตุ ด้วยความเร็วสูง โดยจำเลยมีความประสงค์ที่ขับรถจักรยานยนต์แล่นผ่านจุดเลี้ยวกลับรถดังกล่าวตรงไปทางด้านถนนบางนา-ตราด และจำเลยมองเห็นอยู่แล้วว่า ในขณะนั้นมีนายสากลกำลังขับรถยนต์เลี้ยวขวากลับรถบริเวณจุดกลับรถเข้าสู่ถนนสาย 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในช่องเดินรถช่องที่ 2 ซึ่งเป็นช่องเดินรถช่องเดียวกันกับที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวมา แต่จำเลยไม่ชะลอความเร็วและไม่หักหลบรถยนต์คันที่นายสากลขับมาเข้าไปในช่องเดินรถช่องที่ 1 เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชนบริเวณด้านท้ายรถยนต์ของนายสากลอย่างแรง ทำให้รถยนต์ของนายสากลได้รับความเสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยกล่าวถึงคำฟ้องของโจทก์ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูง ไม่ชะลอความเร็ว ด้วยความประมาทของจำเลยจึงเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชนบริเวณด้านท้ายรถยนต์ของนายสากล แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ย่อมสามารถนำสืบให้เห็นว่าจำเลยขับรถอย่างไร ด้วยอัตราความเร็วเท่าใดจึงเป็นการขับรถโดยประมาท ซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยและศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าการที่จำเลยขับรถด้วยความเร็วเกินกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรได้ เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยคำฟ้องโจทก์ดังกล่าวข้างต้นแล้วเห็นว่าคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ส่วนจำเลยขับรถอย่างไร ด้วยอัตราความเร็วเท่าใดนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ซึ่งศาลย่อมนำข้อนำสืบดังกล่าวมาวินิจฉัยถึงการกระทำผิดของจำเลยได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยจึงไม่เป็นการวินิจฉัยเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน