คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6040/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามสัญญาจ้างมีสาระสำคัญว่าสัญญาจ้างฉบับนี้ทำขึ้นระหว่างจำเลยซึ่งต่อไปในสัญญาเรียกว่า “ผู้ว่าจ้าง” ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยร่วมและโจทก์ซึ่งสองบริษัทต่อไปนี้เรียกว่า “ผู้รับจ้าง” อีกฝ่ายหนึ่ง ข้อความในสัญญาดังกล่าวกำหนดให้โจทก์และจำเลยร่วมมีฐานะเป็นอย่างเดียวกันคือ “ผู้รับจ้าง” เพราะงานที่จะกระทำต่อไปคืองานก่อสร้างอาคารที่มิได้แบ่งแยกว่าจะทำการก่อสร้างอาคารส่วนใดอย่างไร มากน้อยแค่ไหน และค่าจ้างที่จำเลยจะชำระก็กำหนดชำระเป็นงวด มิได้กำหนดว่าจะชำระแก่โจทก์และจำเลยร่วมคนละเท่าใดอีกด้วย คงชำระรวมกันไป แม้ในตอนแรกจะแบ่งชำระให้คนละครึ่งของแต่ละงวด ก็เป็นเพียงเพื่อความสะดวกของโจทก์และจำเลยร่วมเท่านั้นหาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงฐานะไปไม่ โจทก์และจำเลยร่วมยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ร่วมในหนี้ค่าจ้าง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือจำเลยร่วมผู้เป็นเจ้าหนี้คนใดก็ได้ตามแต่จะเลือกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 298

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์และบริษัทที. อาร์. เจนเนอรัลเซอร์วิส จำกัด ก่อสร้างอาคารกำหนดก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน3 เดือน นับแต่วันส่งมอบสถานที่ก่อสร้าง ตกลงจ่ายเงินล่วงหน้าร้อยละ 20 ของค่าจ้างส่วนที่เหลือแบ่งจ่ายเป็น 6 งวด โดยจำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์และบริษัทที. อาร์.เจนเนอรัลเซอร์วิส จำกัด ฝ่ายละครึ่งของค่าจ้างแต่ละงวด ต่อมาจำเลยจ่ายเงินล่วงหน้าค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงที่ 3 ให้แก่โจทก์และบริษัทที. อาร์. เจนเนอรัลเซอร์วิส จำกัด ฝ่ายละครึ่ง แต่ค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5 จำนวน 1,500,000 บาท และ 1,800,000 บาท จำเลยจ่ายให้แก่บริษัทที. อาร์. เจนเนอรัลเซอร์วิส จำกัด ทั้งหมดเพียงฝ่ายเดียว อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าจ้างจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับในงวดที่ 4 และที่ 5 จำนวน 750,000 บาท และ 900,000บาท ตามลำดับแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,660,968.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,650,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์และบริษัทที. อาร์. เจนเนอรัลเซอร์วิสจำกัด ร่วมกันก่อสร้างอาคาร โดยโจทก์และบริษัทที. อาร์. เจนเนอรัลเซอร์วิส จำกัด ตกลงให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์และบริษัทที. อาร์. เจนเนอรัลเซอร์วิส จำกัด ฝ่ายละครึ่งของค่าจ้างแต่ละงวด ต่อมาโจทก์ละทิ้งงาน บริษัทที. อาร์. เจนเนอรัลเซอร์วิส จำกัดดำเนินการก่อสร้างเพียงฝ่ายเดียว จำเลยจึงจ่ายค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5 ให้แก่บริษัทที.อาร์. เจนเนอรัลเซอร์วิส จำกัด จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทที. อาร์. เจนเนอรัลเซอร์วิสจำกัด เข้าร่วมเป็นจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์และจำเลยร่วมร่วมกันก่อสร้างอาคาร ต่อมาจำเลยได้จ่ายเงินล่วงหน้าและค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงที่ 3 ให้แก่โจทก์และจำเลยร่วมฝ่ายละครึ่ง ต่อมาโจทก์ได้ทิ้งงาน จำเลยจึงจ่ายค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5 ให้แก่จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างเพียงฝ่ายเดียว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม2539 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์และจำเลยร่วมให้ก่อสร้างอาคาร “บี” 4 ชั้น ณ บริเวณโรงแรมบ้านเชียง ในราคา 10,700,000 บาท ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันส่งมอบสถานที่ก่อสร้าง แบ่งการชำระค่าก่อสร้างออกเป็นงวด รวม 6 งวด ตามสัญญาจ้างเอกสารหมายจ.4 ในทางปฏิบัติจำเลยจะชำระค่าจ้างแก่โจทก์และจำเลยร่วมฝ่ายละครึ่งของค่าจ้างแต่ละงวด จำเลยได้ชำระเงินล่วงหน้าและค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงที่ 3 แก่โจทก์และจำเลยร่วมฝ่ายละครึ่งของค่าจ้างแต่ละงวดเสร็จสิ้นไปแล้ว ส่วนงานงวดที่ 4 และที่ 5 จำเลยร่วมทำหนังสือส่งมอบงานให้จำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว จำเลยจึงจ่ายค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5แก่จำเลยร่วมไปทั้งหมด คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะไม่ชำระค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5 แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าในการชำระค่าจ้างนั้น จำเลยจะแยกชำระแก่โจทก์และจำเลยร่วมฝ่ายละครึ่งของค่าจ้างแต่ละงวด โจทก์และจำเลยร่วมไม่มีความประสงค์ที่จะให้หนี้ค่าจ้างมีลักษณะเป็นหนี้ร่วมโจทก์และจำเลยร่วมมิใช่เจ้าหนี้ร่วม ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะชำระค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5แก่จำเลยร่วมเพียงฝ่ายเดียว แต่จะต้องชำระแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของค่าจ้างแต่ละงวดนั้นเห็นว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 มีสาระสำคัญว่าสัญญาจ้างฉบับนี้ทำขึ้นระหว่างจำเลยซึ่งต่อไปในสัญญาเรียกว่า “ผู้ว่าจ้าง” ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยร่วมและโจทก์ซึ่งสองบริษัทต่อไปนี้เรียกว่า “ผู้รับจ้าง” อีกฝ่ายหนึ่ง ผู้ว่าจ้างตกลงจ้างผู้รับจ้างทำการก่อสร้างอาคารเป็นเงินทั้งสิ้น 10,700,000 บาท ผู้ว่าจ้างจะชำระเงินล่วงหน้าร้อยละ 20แก่ผู้รับจ้างเมื่อลงนามในสัญญาฉบับนี้ ส่วนค่าจ้างที่เหลือผู้ว่าจ้างแบ่งชำระเป็นงวดรวม 6 งวด ดังนี้จะเห็นได้ว่าข้อความในสัญญากำหนดให้โจทก์และจำเลยร่วมมีฐานะเป็นอย่างเดียวกันคือ “ผู้รับจ้าง” เพราะงานที่จะกระทำต่อไปคืองานก่อสร้างอาคารที่มิได้แบ่งแยกว่าจะทำการก่อสร้างอาคารส่วนใดอย่างไร มากน้อยแค่ไหน และค่าจ้างที่จำเลยจะชำระก็กำหนดชำระเป็นงวด มิได้กำหนดว่าจะชำระแก่โจทก์และจำเลยร่วมคนละเท่าใดอีกด้วย คงชำระรวมกันไป แม้ในตอนแรกจะแบ่งชำระให้คนละครึ่งของแต่ละงวดก็ตาม ก็เป็นเพียงเพื่อความสะดวกของโจทก์และจำเลยร่วมเท่านั้นหาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงฐานะไปไม่ โจทก์และจำเลยร่วมยังคงมีฐานะเป็นผู้รับจ้างอยู่ดังเดิมตามสัญญาจ้างและยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ร่วมในหนี้ค่าจ้าง จำเลยในฐานะลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือจำเลยร่วมผู้เป็นเจ้าหนี้คนใดก็ได้ตามแต่จะเลือกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 298 ดังนั้น เมื่อได้ความว่าจำเลยได้ชำระค่าจ้างงวดที่ 4 และที่ 5 แก่จำเลยร่วมเช่นนี้แล้ว การชำระหนี้จึงชอบแล้วหาเป็นการผิดสัญญาไม่ และเมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยได้ชำระหนี้ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วเช่นนี้ ปัญหาเรื่องอื่นก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป”

พิพากษายืน

Share