คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6037/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ขณะฟ้องคดีโจทก์ยังมิได้ชำระเงินค่าซ่อมรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ เนื่องจากรถยนต์ได้รับความเสียหายมากต้องซ่อมทั้งคันใช้เวลาซ่อมนานแต่การที่เมื่อหลังเกิดเหตุแล้วโจทก์ได้นำรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ไปให้อู่ซ่อมรถดังกล่าวทำการซ่อมและอู่ซ่อมรถดังกล่าวได้รับทำการซ่อมให้ในราคาที่ตกลงกันไว้นั้น โจทก์ย่อมมีความผูกพันที่จะต้องชำระค่าซ่อมรถยนต์ตามจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้ ทั้งต่อมาเมื่ออู่ซ่อมรถดังกล่าวซ่อมรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์เสร็จแล้วได้มอบรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์คืนให้ผู้เอาประกันภัยไป จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วตามจำนวนเงินค่าจ้างที่ได้ตกลงไว้กับอู่ซ่อมรถดังกล่าว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์จากจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ส่วนในการกำหนดค่าเสียหายนั้น ถึงแม้ความเสียหายทั้งหมดจะเป็นผลจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยทั้งสองจะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ก็ตาม แต่ศาลก็ย่อมต้องพิจารณาพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด และกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งความผิดของจำเลยที่ 1 ในการทำให้เกิดความเสียหายขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง เมื่อคนขับรถหมายเลขทะเบียน 9ง-2234 กรุงเทพมหานคร มีส่วนประมาทก่อให้เกิดผลร้ายแรงขึ้นด้วย ซึ่งมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดเต็มตามความเสียหายทั้งหมดแต่ฝ่ายเดียวแล้ว ศาลจึงไม่จำต้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดเต็มตามความเสียหายนั้นเสมอไป

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันมากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3098/2543 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้ฎีกา คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องสรุปรวมกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3098/2543 ของศาลชั้นต้น ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 886,954.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 884,319.28 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 66,400 บาท (ค่าเสียหายของรถยนต์คัน 3 ฬ – 5462 กรุงเทพมหานคร ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3098/2543 ของศาลชั้นต้น) และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท (ที่ถูก ต้องยกฟ้องคดีนี้ด้วย)
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์หมายเลขทะเบียน 4 ฬ – 3033 กรุงเทพมหานคร ไว้จากบริษัทโลตัสเลธเธอร์ แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด มีอายุการคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2539 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2540 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 72 – 1397 กรุงเทพมหานคร และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 72 – 2123 กรุงเทพมหานคร ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทโดยใช้ความเร็วสูง เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเป็นจุดกลับรถจำเลยที่ 1 ไม่ชะลอความเร็วของรถยนต์ลง ทำให้รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ง – 2234 กรุงเทพมหานคร ซึ่งกำลังเลี้ยวกลับรถอยู่และรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับได้เสียหลักแล่นเข้าไปชนรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์และรถยนต์คันอื่นอีกหลายคันได้รับความเสียหาย โจทก์ได้นำรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ไปซ่อมที่อู่บริษัทเบนซ์รามคำแหง จำกัด ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2540 บริษัทโลตัสเลธเธอร์ แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด ได้รับรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ซึ่งซ่อมเสร็จแล้วคืนจากอู่ซ่อมรถดังกล่าว หลังจากนั้นวันที่ 30 เมษายน 2541 โจทก์จึงได้จ่ายค่าซ่อมรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์จำนวน 853,850.87 บาท ให้แก่อู่ซ่อมรถดังกล่าว มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าซ่อมรถยี่ห้อเบนซ์ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะฟ้องคดีโจทก์ยังมิได้ชำระเงินค่าซ่อมรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ เนื่องจากรถยนต์ได้รับความเสียหายมากต้องซ่อมทั้งคันใช้เวลาซ่อมนาน แต่การที่เมื่อหลังเกิดเหตุแล้วโจทก์ได้นำรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ไปให้อู่ซ่อมรถดังกล่าวทำการซ่อมและอู่ซ่อมรถดังกล่าวได้รับทำการซ่อมให้ในราคาที่ตกลงกันไว้นั้น ตามใบเสนอรายการความเสียหายเอกสารหมาย จ. 11 โจทก์ย่อมมีความผูกพันที่จะต้องชำระค่าซ่อมรถยนต์ตามจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้ ทั้งต่อมาเมื่ออู่ซ่อมรถดังกล่าวซ่อมรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์เสร็จแล้วได้มอบรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์คืนให้ผู้เอาประกันภัยไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2540 จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วตามจำนวนเงินค่าจ้างที่ได้ตกลงไว้กับอู่ซ่อมรถดังกล่าว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์จากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในส่วนรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์แก่โจทก์เพียงใดนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียเลย โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นว่า ในการกำหนดค่าเสียหายนั้น ถึงแม้ความเสียหายทั้งหมดจะเป็นผลจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยทั้งสองจะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ก็ตาม แต่ศาลก็ย่อมต้องพิจารณาพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด และกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งความผิดของจำเลยที่ 1 ในการทำให้เกิดความเสียหายขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏจากคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ของร้อยตำรวจเอกพีรพัฒน์ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ในขณะเกิดเหตุว่า ต้นเหตุของคดีเกิดจากความประมาทของคนขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ง – 2234 กรุงเทพมหานคร ที่เลี้ยวกลับรถตัดหน้ารถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับโดยกระชั้นชิด บุคคลที่จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย ได้แก่ เจ้าของรถยนต์พ่วงซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 2 คนขับและเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ง – 2234 กรุงเทพมหานคร ดังนี้ย่อมพอฟังได้แล้วว่า คนขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ง – 2234 กรุงเทพมหานคร มีส่วนประมาทก่อให้เกิดผลร้ายแรงขึ้นด้วย เมื่อมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดเต็มตามความเสียหายทั้งหมดแต่ฝ่ายเดียวแล้ว ศาลจึงไม่จำต้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดเต็มตามความเสียหายนั้นเสมอไป เมื่อได้คำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งความผิดของจำเลยที่ 2 ในการละเมิดครั้งนี้แล้ว ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคำพิพากษาตอนหนึ่งว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายสำหรับรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์หมายเลขทะเบียน 4 ฬ – 3033 กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 683,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 683,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3ฬ-5462 กรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share