แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดย จ. และเจ้าของรวมคนอื่นให้จำเลยอยู่อาศัย เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนเจ้าของ จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำเลยเพิ่งมาโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทภายหลังจากที่มีการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินและโจทก์ให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินพิพาท นับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารรื้อถอนบ้านออกจากที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 28507 ตำบลไผ่พระ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ 2 งาน 31 ตารางวา และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนบ้านและขนย้ายออกไปจากที่ดินโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้พิพากษาว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งแปลงโดยการครอบครองปรปักษ์ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 30 ออกไปจากที่ดินโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินโจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท ยกฟ้องแย้ง
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 9129 มีผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม 3 คน คือ นางสมใจ นางขาว และนางจุ้ยโดยยังไม่มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วน ต่อมานางจุ้ยจดทะเบียนยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้นางถวิล บุตรของนางจุ้ย ต่อมานางขาวตายที่ดินเฉพาะส่วนของนางขาวเป็นมรดกตกทอดแก่นางสมพิศ มารดาโจทก์ วันที่ 11 มิถุนายน 2540 มีการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9129 ส่วนของนางสมพิศเป็นที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 25807 เนื้อที่ 2 งาน 31 ตารางวา ส่วนของนางถวิลเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 28508 เนื้อที่ 2 งาน 53 ตารางวา วันที่ 17 มิถุนายน 2540 นางสมพิศจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ จำเลยเป็นบุตรเขยนางจุ้ย บ้านเลขที่ 30 ของจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เห็นว่า นางจุ้ยมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9129 เพียงส่วนเดียว นางจุ้ยจดทะเบียนยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้นางถวิลบุตรคนหนึ่งของนางจุ้ย ดังนั้น หากนางจุ้ยยกที่ดินพิพาทให้จำเลยผู้เป็นบุตรเขยจริงนางจุ้ยก็น่าที่จะต้องไปจดทะเบียนยกให้ให้ถูกต้อง ที่ดินโฉนดเลขที่ 9129 มีการจดทะเบียนแบ่งแยกกันเมื่อปี 2540 ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนแบ่งแยกนางจุ้ยและเจ้าของรวมคนอื่นย่อมไม่อาจทราบได้ว่าเมื่อแบ่งแยกแล้วที่ดินของตนจะเป็นแปลงใด ข้ออ้างของจำเลยที่ว่านางจุ้ยยกที่ดินพิพาทให้จำเลยจึงไม่น่าเชื่อถือเพราะขณะนั้นนางจุ้ยเองก็ไม่อาจทราบได้ว่าที่ดินดังกล่าวจะเป็นส่วนของนางจุ้ยหรือไม่ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อมีการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินกัน จำเลยได้โต้แย้งคัดค้าน ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบฟังได้เพียงว่าจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทเท่านั้น เป็นการอยู่โดยนางจุ้ยและเจ้าของรวมคนอื่นให้จำเลยอยู่อาศัย เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนเจ้าของ ดังนั้นจำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น จำเลยเพิ่งมาโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทภายหลังจากที่มีการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินและโจทก์ให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินพิพาท นับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยกฟ้องแย้งของจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องแย้ง โดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมส่วนฟ้องแย้งนั้นยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งทั้งสามศาลให้เป็นพับ.