คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6031/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และบริวารขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทและให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 200,000 บาทจนกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาทศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และบริวารขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทและให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 300 บาท โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 มิได้อุทธรณ์ในเรื่องค่าเสียหายปัญหาเรื่องค่าเสียหายจึงเป็นอันยุติ ดังนั้น ค่าเสียหายที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงมีเพียงจำนวนเดือนละ 300 บาทจึงอนุมานได้ว่า บ้านและที่ดินที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 อยู่อาศัยดังกล่าวนี้มีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ดังนี้ คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8อยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์โดยไม่มีสิทธิที่จะอยู่ได้ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ไม่ได้อยู่อาศัยในบริเวณที่ดินพิพาทแต่ได้เข้าไปเยี่ยมจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8ในที่ดินพิพาทเป็นบางครั้ง และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8ต่างอยู่อาศัยในบ้านที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทโดยต่างครอบครองเป็นส่วนสัด ด้วยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย บ้านเลขที่ 25 และเลขที่ 25/2 ต่างก็ปลูกอยู่ในที่พิพาทและตามทะเบียนบ้านทั้งสองหลังก็มีชื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8เป็นผู้อาศัยอยู่ ส่วนจำเลยที่ 1 แม้จะมีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้านเลขที่ 212/25 และไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาทก็ตามแต่จำเลยที่ 1 เคยได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นที่จอดรถยนต์ รถอื่น ๆและเก็บสิ่งของ และยังมีซากรถและสิ่งของยังมีอยู่ในที่ดินพิพาท เพียงแต่บ่ายเบี่ยงว่าสิ่งของดังกล่าวจะเป็นของผู้ใดไม่ทราบ ดังนี้ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 8 ให้ขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดรวมทั้งบ้านอีก 3 หลัง ออกไปจากที่ดินพิพาทเป็นคดีเดียวกันได้ เจ้าพนักงานเดินหมายระบุในรายงานการเดินหมายว่าพบภูมิลำเนาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ตามฟ้องแต่ปรากฏว่าบ้านปิดใส่กุญแจและระบุว่าพบภูมิลำเนาจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ตามฟ้อง แต่บุคคลในนั้นเป็นชายอายุเกิน 20 ปี แจ้งว่าบุคคลดังกล่าวไปธุระนอกบ้าน เป็นการระบุรายละเอียดถึงพฤติการณ์การนำส่งหมายได้ชัดแจ้งเพียงพอแล้ว การที่พนักงานเดินหมายมิได้ระบุสภาพลักษณะบ้านที่ส่งหมายว่าเป็นอย่างไรนั้นเป็นเพียงส่วนปลีกย่อยในการเขียนรายงานของพนักงานเดินหมายเท่านั้น มิใช่สาระสำคัญอันจะเป็นผลให้การส่งหมายกลายเป็นไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดที่ดินเลขที่ 6804 และ 12229 เนื้อที่ 11 ไร่2 งาน 70 ตารางวา และ 8 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวาตามลำดับ ซึ่งมีเขตติดต่อกัน โดยโจทก์ซื้อได้จากการขายทอดตลาดของศาลจังหวัดสระบุรี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10และบริวารเป็นผู้อาศัยอยู่บนที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงดังกล่าวตั้งแต่ยังเป็นของบริษัทพนมชัยศิลา จำกัด เจ้าของเดิมโดยได้มีสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสิบอยู่บนที่ดินของโจทก์ด้วยคือบ้านเลขที่ 25 และบ้านไม่มีเลขที่อีกจำนวน 2 หลัง และจำเลยที่ 11 ได้เข้ามาประกอบกิจการอู่ซ่อมรถอยู่ในบ้านของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 โดยโจทก์มิได้ให้ความยินยอมโจทก์ประสงค์จะทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว จึงบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไป แต่จำเลยทั้งสิยเอ็ดเพิกเฉยที่ดินดังกล่าวหากโจทก์เข้าไปดำเนินการหรือให้ผู้อื่นเช่าดำเนินการจะได้กำไรเดือนละไม่ต่ำกว่า200,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดรวมทั้งบ้านเลขที่ 25และบ้านไม่มีเลขที่อีก 2 หลัง ออกจากที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 6804 และ 12229 ของโจทก์และทำให้ที่ดินของโจทก์กลับสู่สภาพเดิมและห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 200,000 บาท จนกว่าจะออกไป
จำเลยทั้งสิบเอ็ดขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 9 ที่ 10 ที่ 11ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และบริวารขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดรวมทั้งบ้านเลขที่ 25 และบ้านไม่มีเลขที่อีก 2 หลัง ออกไปจากที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 6804 และ 12229 ของโจทก์ทำให้ที่ดินกลับสู่สภาพเดิม ห้ามเกี่ยวข้อง ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 300 บาทตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไป
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 ถึงแก่กรรมนางฉอ้อน วันทนะ จำเลยที่ 2 ทายาทของจำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 7 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยที่ 1ถึงที่ 8 และบริวารขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 200,000 บาท จนกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 8 และบริวารขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทและให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 300 บาท โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8มิได้อุทธรณ์ในเรื่องค่าเสียหาย ดังนั้น ค่าเสียหายที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงมีเพียงจำนวนเดือนละ 300 บาท ค่าเสียหายดังกล่าวนี้แม้โจทก์จะนำสืบว่าเป็นผลกำไรที่จะได้จากการทำโรงโม่หินในที่ดินพิพาท อันมิใช่เป็นค่าเช่าหรือราคาที่อาจให้เช่าได้ของที่ดินพิพาทก็ตาม แต่บ้านที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท ปรากฏตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องและตามรายงานการเดินหมายว่าเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น พอจะอนุมานได้ว่าบ้านและที่ดินที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 อยู่อาศัยดังกล่าวนี้ก็คงมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ300 บาท ซึ่งไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งหมดยอมรับว่าเป็นญาติใกล้ชิดกัน จำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 เคยอยู่ในที่ดินพิพาทและได้มาเยี่ยมจำเลยอื่นเป็นครั้งคราว แม้จะออกจากที่พิพาทแต่ยังมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพิพาท จึงไม่แน่ว่าออกไปจริงหรือไม่ทั้งจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเคยใช้ที่พิพาทเป็นที่จอดรถยนต์บรรทุกรถอื่นและเก็บของด้วย จำเลยที่ 1 ยังมีส่วนเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 อ้างว่าได้รับการยกที่ดินให้ปลูกบ้านจากเจ้าของเดิมและครอบครองโดยสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของ แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการดำเนินการอย่างใด ในการที่จะเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนหรือจดทะเบียนเป็นของตน ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8อยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์โดยไม่มีสิทธิที่จะอยู่ได้จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ไม่ได้อยู่อาศัยในบริเวณที่ดินพิพาท แต่ได้เข้าไปเยี่ยมจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 7และที่ 8 ในที่ดินพิพาทเป็นบางครั้ง และจำเลยที่ 3 ที่ 4ที่ 7 และที่ 8 ต่างอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ 25 และ 25/2นาน 20 ปี และ 30 ปี โดยต่างครอบครองเป็นส่วนสัด ด้วยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2อยู่บ้านเลขที่ 212/25 ซึ่งไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 3และที่ 4 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 25 ส่วนจำเลยที่ 7และที่ 8 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 25/2 บ้านดังกล่าวแยกต่างหากจากกัน จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่ได้อยู่ในบ้านเลขที่ตามฟ้องและไม่ได้อยู่ในที่พิพาท ทั้งจำเลยดังกล่าวมิได้อยู่ร่วมกัน ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีการที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหมดมาในคดีเดียวกันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นฎีกาในข้อกฎหมายนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าบ้านเลขที่ 25 และเลขที่ 25/2 ต่างก็ปลูกอยู่ในที่พิพาทและตามระเบียบบ้านทั้งสองหลังก็มีชื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8เป็นผู้อาศัยอยู่ส่วนจำเลยที่ 1 แม้จะมีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้านเลขที่ 212/25 และไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาทก็ตาม แต่จำเลยที่ 1ก็เบิกความยอมรับว่าตนเคยอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 25และเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เดิมตนได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นที่จอดรถยนต์ รถอื่น ๆ และเก็บสิ่งของและยังยอมรับว่าปัจจุบันซากรถและสิ่งของยังมีอยู่ในที่ดินพิพาทเพียงแต่บ่ายเบี่ยงว่าสิ่งของดังกล่าวจะเป็นของใครไม่ทราบเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าสิ่งของดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 นั่นเองและโจทก์ฟ้องคดีนี้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 จนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดรวมทั้งบ้านอีก 3 หลัง ออกไปจากที่ดินพิพาทดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยทุกคนเป็นคดีเดียวกันได้
และที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องของพนักงานเดินหมายไม่ชอบเพราะไม่ได้ระบุว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8มีลักษณะสภาพเป็นอย่างไร เห็นว่าเมื่อเจ้าพนักงานเดินหมายระบุในรายงานการเดินหมายว่า พบภูมิลำเนาจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ตามฟ้อง แต่ปรากฏว่าบ้านปิดใส่กุญแจและระบุว่าพบภูมิลำเนาจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8ตามฟ้อง แต่บุคคลในนั้นเป็นชายอายุเกิน 20 ปี แจ้งว่าบุคคลดังกล่าวไปธุระนอกบ้าน เป็นการระบุรายละเอียดถึงพฤติการณ์การนำส่งหมายได้ชัดแจ้งเพียงพอแล้วการที่พนักงานเดินหมายมิได้ระบุสภาพลักษณะบ้านที่ส่งหมายว่าเป็นอย่างไรนั้น เป็นเพียงส่วนปลีกย่อยในการเขียนรายงานของพนักงานเดินหมายเท่านั้น มิใช่สาระสำคัญอันจะเป็นผลให้การส่งหมายไม่ชอบแต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share