แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่สองมีอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิด ซึ่งหากเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวก็ถือว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวขาดอายุความ บทบัญญัติดังกล่าวที่ให้นับอายุความสิบปีนับจากวันทำละเมิดนั้นวันทำละเมิดย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ได้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นมูลเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้น ส่วนผลของการทำละเมิดจะเกิดขึ้นเมื่อใด ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่งวันทำละเมิดกับวันที่ผลของการทำละเมิดเกิดขึ้นจึงต่างกัน คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อระหว่างเดือนมิถุนายน 2522 ถึงเดือนสิงหาคม 2523 จำเลยทั้งสองโดยจำเลยที่ 2 จงใจหรือประมาณเลินเล่อ รังวัดที่ดินออก น.ส.3 ก. ของโจทก์ โดยมิชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ มูลละเมิดย่อมเกิดอย่างช้าที่สุดในวันที่ 31 สิงหาคม 2523 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2542 ซึ่งล่วงพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิดแล้ว คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนมิถุนายน 2522 ถึงเดือนสิงหาคม 2523 จำเลยทั้งสองร่วมกันจงใจหรือประมาทเลินเล่อ โดยจำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการตำแหน่งช่างรังวัดประจำสำนักงานที่ดินอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ทำการรังวังที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของโจทก์ กับระบุความเป็นมาของที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ เดิมที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ของนายอ้วน สวัสดิ์มงคล มีแนวเขตด้านทิศใต้และทิศตะวันออกบางส่วนจดที่ราชพัสดุ นายอ้วนได้ดำเนินการขอเปลี่ยนหลักฐานในที่ดินจาก น.ส.3 เป็น น.ส.3 ก. หลายแปลงเพื่อแบ่งขายให้โจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการรังวัดออก น.ส.3 ก. ให้แก่นายอ้วน แล้วนายอ้วนขายที่ดิน 2 แปลงให้โจทก์ และโจทก์ได้ขอรังวัดรวมที่ดิน 2 แปลงเป็นแปลงเดียวกัน ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการให้แล้วออกหลักฐานเป็น น.ส.3 ก. แก่โจทก์ ต่อมาราชพัสดุจังหวัดพะเยาได้ดำเนินการรังวัดที่ดินซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศใต้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ โจทก์ยื่นหนังสือคัดค้าน จึงถูกกระทรวงการคลังเป็นโจทก์ที่ 1 และกรมธนารักษ์เป็นโจทก์ที่ 2 ยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นขอให้โจทก์ออกจากที่ดินคิดเป็นเนื้อที่ 76 ตารางวา คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์ฟังเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2541 มีใจความตอนหนึ่งว่า จำเลยที่ 2 รังวัดที่ดินเพื่อออก น.ส.3 ก. ให้แก่นายอ้วนและโจทก์โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องสูญเสียที่ดินเนื้อที่ 76 ตารางวา โจทก์ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในการต่อสู้คดี รวมทั้งค่าสิ่งปลูกสร้างในที่ดินสูญเสียรวมเป็นเงิน 210,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อระหว่างเดือนมิถุนายน 2522 ถึงเดือนสิงหาคม 2523 โจทก์ฟัองคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2542 พ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิดแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความจำเลยที่ 2 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดเป็นการส่วนตัว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ค่าเสียหายไม่ควรเกิน 45,556.64 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่สองมีอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิด ซึ่งหากเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวก็ถือว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวขาดอายุความ บทบัญญัติดังกล่าวที่ให้นับอายุความสิบปีนับจากวันทำละเมิดนั้น วันทำละเมิดย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ได้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นมูลเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้น ส่วนผลของการทำละเมิดจะเกิดขึ้นเมื่อใด ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง วันทำละเมิดกับวันที่ผลของการทำละเมิดเกิดขึ้นจึงแตกต่างกัน คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนมิถุนายน 2522 ถึงเดือนสิงหาคม 2523 จำเลยทั้งสองโดยจำเลยที่ 2 จงใจหรือประมาทเลินเล่อรังวัดที่ดินออก น.ส.3 ก. ของโจทก์ โดยมิชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ มูลละเมิดย่อมเกิดอย่างช้าที่สุดในวันที่ 31 สิงหาคม 2523 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2542 ซึ่งล่วงพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิดแล้ว คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป”
พิพากษายืน