คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6023/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องซึ่งกล่าวอ้างถึงเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3) ในเหตุหมิ่นประมาทนั้น ไม่เหมือนคำฟ้องที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) วรรคสอง บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้กล่าวถึงถ้อยคำพูดอันเกี่ยวกับข้อความหมิ่นประมาทโดยบริบูรณ์ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงเหตุฟ้องหย่าว่าจำเลยได้หมิ่นประมาทและเหยียดหยามโจทก์และบุพการีของโจทก์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) บังคับไว้แล้ว ย่อมเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ให้ความสนิทสนมกับ ส. มากเกินกว่าที่ผู้บังคับบัญชาทั่วไปจะพึงประพฤติปฏิบัติ ประกอบกับการที่โจทก์จงใจแยกตัวไปอยู่ต่างหากจากครอบครัวย่อมมีเหตุเพียงพอที่จำเลยในฐานะภริยาจะปักใจเชื่อว่าโจทก์และ ส. มีความสัมพันธ์กันในเชิงชู้สาว การที่จำเลยมีหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดนครราชสีมาผู้บังคับบัญชาของโจทก์โดยกล่าวถึงความสัมพันธ์ในทางชู้สาวระหว่างโจทก์กับ ส. ซึ่งจำเลยเชื่อว่ามีอยู่จริงไว้ด้วยจึงเป็นวิธีการที่จำเลยขวนขวายเพื่อขอความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาของโจทก์และเพื่อปกป้องสิทธิในครอบครัวของตน กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีชอบด้วยกฎหมายของจำเลยมีบุตรด้วยกัน3 คน มีสินสมรสรวมราคา 480,000 บาท จำเลยหมิ่นประมาทและเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์และเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นภริยาโจทก์อย่างร้ายแรง ขอให้พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์และให้แบ่งสินสมรสคนละครึ่ง
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำการใด ๆ อันเป็นการทรมานจิตใจโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์สละประเด็นเรื่องขอแบ่งสินสมรส โดยขอยกทรัพย์สินทั้งหมดให้จำเลยและบุตร
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าฟ้องโจทก์ในส่วนที่ว่าจำเลยหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์ด้วยถ้อยคำรุนแรงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า คำฟ้องซึ่งกล่าวอ้างถึงเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) ในเหตุหมิ่นประมาทนั้น ไม่เหมือนคำฟ้องที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) วรรคสองบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้กล่าวถึงถ้อยคำพูดอันเกี่ยวกับข้อความหมิ่นประมาทโดยบริบูรณ์ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง ก้าวร้าวไม่มีเหตุผล ไม่ให้ความเคารพยำเกรงโจทก์และญาติผู้ใหญ่ของโจทก์ มักกล่าวถ้อยคำสบประมาทดูหมิ่นเหยียดหยามหรือหมิ่นประมาทโจทก์ บางครั้งก็พาดพิงถึงบุพการีโจทก์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงเสมอ ๆ การกล่าวถ้อยคำสบประมาทโจทก์และบุพการีของโจทก์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงนั้นกระทำได้แม้กระทั่งต่อหน้าข้าราชการครูผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ และโจทก์ได้บรรยายสรุปไว้ในตอนท้ายของคำฟ้องด้วยว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลย ฯลฯ เป็นการหมิ่นประมาทและเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีโจทก์ ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ฯลฯ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงเหตุฟ้องหย่าว่าจำเลยได้หมิ่นประมาทและเหยียดหยามโจทก์และบุพการีของโจทก์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3) บังคับไว้แล้วย่อมเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ส่วนปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า การที่จำเลยทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาตามหนังสือขอความเป็นธรรมเอกสารหมาย จ.3เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ให้ความสนิทสนมกับนางสาวทรัพย์มากเกินกว่าที่ผู้บังคับบัญชาทั่วไปจะพึงประพฤติปฏิบัติ ประกอบกับการที่โจทก์จงใจแยกตัวไปอยู่ต่างหากจากครอบครัวย่อมมีเหตุเพียงพอที่จำเลยในฐานะภริยาจะปักใจเชื่อว่าโจทก์และนางสาวทรัพย์มีความสัมพันธ์กันในเชิงชู้สาว การที่จำเลยมีหนังสือขอความเป็นธรรมตามเอกสารหมาย จ.3 ไปยังผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดนครราชสีมาผู้บังคับบัญชาของโจทก์ โดยกล่าวถึงความสัมพันธ์ในทางชู้สาวระหว่างโจทก์กับนางสาวทรัพย์ซึ่งจำเลยเชื่อว่ามีอยู่จริงไว้ด้วยในพฤติการณ์ที่จำเลยถูกกดดันด้านการเงินซึ่งโจทก์ไม่ให้ความยินยอมในการกู้เงินจากธนาคารในงวดที่ 2 เพื่อนำมาใช้สร้างบ้านอยู่อาศัยกับบุตรโดยไม่มีเหตุผล ทั้งที่ได้ให้ความยินยอมมาแล้วในงวดที่ 1ตลอดทั้งจำเลยตกอยู่ในภาวะที่อาจจะสูญเสียโจทก์ผู้เป็นสามีไปเช่นนี้จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จำเลยขวนขวายเพื่อขอความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาของโจทก์และเพื่อปกป้องสิทธิในครอบครัวของตนตลอดจนของบุตรผู้เยาว์ของตน กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาตามฎีกาของโจทก์
พิพากษายืน

Share