แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทเป็นที่ดินหวงห้ามเพื่อประโยชน์ในราชการทหารที่ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าหักร้างจัดทำหรือปลูกสร้างด้ายประการใดๆในที่ดินเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่เช่นนี้ที่พิพาทก็เป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะโอนแก่กันมิได้เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1305การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทกันตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทย่อมมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา113ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้นโจทก์และจำเลยจะอ้างว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาและบังคับเอาประโยชน์แห่งสัญญาจากอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ โจทก์ไม่รู้มาก่อนทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทว่าที่พิพาทเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตหวงห้ามเพื่อประโยชน์ในทางราชการทหารการวางมัดจำจำนวน300,000บาทของโจทก์ต่อจำเลยจึงมิใช่เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจตามความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา407เมื่อการวางมัดจำของโจทก์ต่อจำเลยมิได้เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจการรับเงินมัดจำจำนวน300,000บาทของจำเลยก็เป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบจำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา406
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของจำเลยตาม ภ.บ.ท. 5 เนื้อที่ประมาณ 137 ไร่ ราคา 1,507,000 บาทวันทำสัญญาโจทก์วางเงินมัดจำไว้แล้วจำนวน 300,000 บาท โดยจำเลยจะโอนสิทธิในที่ดินให้แก่โจทก์ในวันชำระราคางวดสุดท้าย ต่อมาโจทก์ได้ตรวจสอบปรากฏว่าที่ดินตามสัญญาเป็นที่ดินราชพัสดุและมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอวังขนาย อำเภอบ้านทวนและอำเภอวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2481 ซึ่งต้องห้ามมิให้ผู้ใดเข้าหักร้าง จัดทำ หรือปลูกสร้างด้วยประการใด ๆ ในที่ดินเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงไม่สามารถดำเนินการออกเอกสารสิทธิเพื่อจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท กับค่าเสียหายเป็นเงิน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 1,200,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาท โจทก์ทราบแล้วว่าที่พิพาทอยู่ในเขตหวงห้ามเพื่อประโยชน์ในราชการทหารโจทก์ไม่ยอมชำระราคาที่พิพาทในงวดที่สองและงวดสุดท้ายแก่จำเลย โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 300,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 5,000 บาท โจทก์ไม่เคยมีหนังสือบอกเลิกสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 300,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยมิได้นำสืบโต้เถียงฟังยุติว่า ที่พิพาท 137 ไร่ ตำบลบ้านเก่าอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี แม้จะเป็นที่ดินที่จำเลยมีหลักฐานการสำรวจที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5)ต่อทางราชการก็ตาม แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตหวงห้ามเพื่อประโยชน์ในราชการทหารที่ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าหักร้าง จัดทำหรือปลูกสร้างด้วยประการใด ๆ ในที่ดินนั้นเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอวังขนายอำเภอบ้านทวน และอำเภอวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี พุทธศักราช 2481เมื่อที่พิพาทเป็นที่ดินหวงห้ามเพื่อประโยชน์ในราชการทหารที่ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าหักร้าง จัดทำ หรือปลูกสร้างด้วยประการใด ๆในที่ดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่เช่นนี้ที่พิพาทก็เป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 ดังนั้นการที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทกันตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.1 สัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาท ย่อมมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น โจทก์และจำเลยจะอ้างว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาและบังคับเอาประโยชน์แห่งสัญญาจากอีกฝ่ายหนึ่งย่อมไม่ได้
โจทก์ไม่รู้มาก่อนทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตหวงห้ามเพื่อประโยชน์ในทางราชการทหารการวางมัดจำจำนวน 300,000 บาท ของโจทก์ต่อจำเลยจึงมิใช่เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ ตามความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ดังที่จำเลยกล่าวในฎีกา เมื่อการวางมัดจำของโจทก์ต่อจำเลยมิได้เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจดังได้วินิจฉัยแล้ว การรับเงินมัดจำจำนวน 300,000 บาทของจำเลยก็เป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน