คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 602/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เดิมที่พิพาทเป็นของ ข. แต่ ส. มีชื่อในฐานะเจ้าของในโฉนดที่ดิน ข. พูดยกที่พิพาทให้จำเลยครอบครองทำนาตั้งแต่จำเลยแต่งงาน และได้ครอบครองที่พิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382ทั้งก่อนโจทก์จะซื้อที่พิพาทจาก ส. โจทก์ก็ทราบดีว่าจำเลยปลูกบ้านบนที่พิพาท โจทก์จึงรู้แล้วว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ถือไม่ได้ว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทไว้โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ได้ซื้อที่ดินบางส่วนของโฉนดเลขที่ 10345 ตำบลดอนตูม อำเภอบางเลน (บางปลา) จังหวัดนครปฐมเนื้อที่ 35 ไร่เศษ ราคา 320,000 บาท จากนายสุชาติ โตอดิเทพย์ซึ่งที่ดินดังกล่าวจำเลยทั้งสองได้ยึดถือครอบครองใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำนา โดยนายสุชาติและบุคคลข้างเคียงยืนยันว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้อาศัยอยู่ในที่ดินนั้น โจทก์จึงซื้อที่ดินโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ พร้อมขนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินให้ชดใช้ค่าเสียหายปีละ 200,000 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่านางขวัญเมืองได้ยกที่ดินพิพาท ให้แก่จำเลยเป็นของขวัญในวันแต่งงาน จำเลยได้ครอบครองทำกินมาโดยตลอดเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ด้วยการครอบครองปรปักษ์โจทก์สมคบกับนายสุชาติจดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันโดยไม่สุจริตเพราะทราบดีอยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยครอบครองปรปักษ์ที่ดินนั้นไว้ที่ดินพิพาทหากให้ผู้อื่นเช่าจะได้ค่าเช่าไม่เกินไร่ละ 200 บาทต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 10345 ตำบลดอนตูม อำเภอบางเลนจังหวัดนครปฐม เนื้อที่ 109 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา เดิมนายลากับนางอบ ฮวดโต สามีภรรยาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อนายลากับนางอบถึงแก่กรรมแล้ว ที่ดินตกได้แก่บุตรทั้งสามคนละ 35 ไร่เศษโดยนายสุชาติ โตอดิเทพย์ ได้ที่ดินทางทิศเหนือ นายศิริ ฮวดโตได้ที่ดินส่วนกลางและนางขวัญเมือง เดื่อมขันมณี ได้ที่ดินทางทิศใต้ นางขวัญเมืองเป็นภรรยานายเล็ก เดื่อมขัมมณี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นน้องชายนายเล็ก มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 1ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองหรือไม่ และโจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ซึ่งซื้อมาจากนายสุชาติโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนจำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์โจทก์มิได้นำนายสุชาติมาเบิกความเป็นพยานถึงข้อเท็จจริงความเป็นมาเกี่ยวกับที่ดินพิพาท อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจากสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 แล้ว ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2530นายสุชาติได้จดทะเบียนเป็นผู้จัดการมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของนางขวัญเมือง และในวันเดียวกันนั้นนายสุชาติได้โอนที่ดินมรดกส่วนของนางขวัญเมืองมาเป็นของตน ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2530นายสุชาติได้โอนขายที่ดินส่วนของนางขวัญเมืองให้แก่โจทก์เป็นเงิน 320,000 บาท ดังนั้น ที่ดินพิพาทที่โจทก์ซื้อมาก็คือดินเดิมของนางขวัญเมืองนั่นเอง ซึ่งจำเลยที่ 1 นำสืบว่านางขวัญเมืองยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันที่จำเลยทั้งสองแต่งงานกันได้พิจารณาพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่นำสืบแล้วปรากฏว่านางขวัญเมืองเป็นภรรยานายเล็กไม่มีบุตรด้วยกันจำเลยที่ 1 เป็นน้องชายนายเล็ก มาอยู่กับนายเล็กตั้งแต่พ.ศ. 2490 ช่วยนายเล็กและนางขวัญเมืองทำมาหากิน เมื่อจำเลยที่ 1อุปสมบท นายเล็กกับนางขวัญเมืองเป็นเจ้าภาพอุปสมบทให้และเมื่อจำเลยที่ 1 แต่งงานกับจำเลยที่ 2 นายเล็กกับนางขวัญเมืองก็เป็นเจ้าภาพให้ ในวันแต่งงานดังกล่าวนางขวัญเมืองบอกว่าไม่มีเงินให้จึงได้พูดยกที่ดินพิพาทรวมทั้งบ้านในที่ดินพิพาทให้ด้วย พูดต่อหน้าคนหลายคนในงานแต่งงานของจำเลยทั้งสอง นายเปลี่ยน เดื่อมขันมณี น้องชายนายเล็ก และนายทองหรี่ ศรีจันทร์อินทร์ ผู้ใหญ่บ้านรู้จักนายเล็กนางขวัญเมืองและจำเลยที่ 1 เมื่อสมัยที่นายเล็กกับนางขวัญเมืองยังมีชีวิตอยู่ นายเปลี่ยนกับนายทองหรี่มาช่วยงานแต่งงานจำเลยทั้งสองที่บ้านนายเล็กกับนางขวัญเมืองเบิกความยืนยันว่า พยานได้รู้เห็นอยู่ด้วยในขณะที่นางขวัญเมืองพูดยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ก่อนนางขวัญเมืองถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจนถึงปัจจุบันใช้เป็นที่ปลูกบ้าน 2 ไร่เศษ ส่วนที่เหลือใช้ทำนาเมื่อ พ.ศ. 2520 นายสมคิด ชูฉ่ำ ได้มาเช่าที่ดินพิพาททำนาจำนวน15 ไร่ จำเลยที่ 1 คิดค่าเช่าปีละ 2,000 บาท นายชลอ วงศ์ชื่นกำนันตำบลดอนตูมพยานจำเลยที่ 1 ก็ยืนยันว่ารู้จักที่ดินพิพาทเห็นจำเลยที่ 1 อยู่ในที่ดินพิพาทร่วม 30 ปี นายพยงค์ ชื่นชมน้อยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ตำบลดอนตูม เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 1ว่าเห็นจำเลยที่ 1 เข้าไปทำกินในที่ดินพิพาทตั้งแต่จำเลยที่ 1อายุประมาณ 17-18 ปี โดยพักอยู่กับนายเล็กกับนางขวัญเมืองเมื่อนายเล็กกับนางขวัญเมืองถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยที่ 1ก็ยังทำนาอยู่ในที่ดินพิพาทและปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาทมาประมาณ15 ปี โดยรื้อโรงเรือนฝาขัดแตะหลังคามุงจากของนายเล็กกับนางขวัญเมืองออกไปแล้วปลูกสร้างใหม่ในที่เดิม พยานยังได้เบิกความด้วยว่า นายสมคิดเคยมาเช่าที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ทำนาอยู่15 ไร่ ซึ่งนายสมคิด ชูฉ่ำ พยานโจทก์ก็ได้เบิกความเจือสมฝ่ายจำเลยว่า ขณะมาเช่าที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2520 นั้น มีบ้านของจำเลยที่ 1 ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทก่อนแล้วดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักดีกว่าของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางขวัญเมืองยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ครอบครองทำนามาตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสองแต่งงานกันใน พ.ศ. 2498 และจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยที่ 1จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 นอกจากนั้นโจทก์ยังได้เบิกความด้วยว่าก่อนซื้อที่ดินพิพาทจากนายสุชาติ โจทก์ได้มาตรวจดูที่ดินพิพาทก่อน ขณะมาดูที่ดินพิพาทได้พบบ้านของจำเลยทั้งสองปลูกอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ได้เข้าไปสอบถามจำเลยทั้งสองคงสอบถามนายสุชาติ นายสุชาติบอกว่าพวกลูกหลานเข้ามาอาศัยทำนา ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโจทก์ได้หักเงินค่าที่ดินไว้จำนวน 90,000 บาท โดยจะชำระให้เมื่อนายสุชาติจัดการให้จำเลยทั้งสองรื้อบ้านออกไปจากที่ดินพิพาทแล้วการที่โจทก์ไม่ได้สอบถามจำเลยทั้งสองและผู้อื่นว่าจำเลยทั้งสองเข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่มีเหตุน่าสงสัยปรากฏชัดอยู่แล้ว และยังได้หักเงินไว้ดังกล่าวเมื่อโอนที่ดินพิพาทกันด้วย เป็นพฤติการณ์ที่ทำให้เชื่อได้ว่า ในขณะนั้นโจทก์ได้รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์เป็นของตนตามกฎหมาย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองจำเลยที่ 1 ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมสามารถอ้างบทกฎหมายดังกล่าวยันโจทก์ได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นว่าโจทก์เสียหายหรือไม่”
พิพากษายืน

Share