คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6019/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวกำหนดเวลาให้จำเลยนำเงินมาชำระเพื่อเป็นการไถ่ถอนจำนองภายใน15วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้นนับว่าเป็นเวลาอันสมควรแล้วส่วนการบอกกล่าวบังคับจำนองไม่มีกฎหมายบังคับว่าเป็นการเฉพาะตัวโจทก์ชอบที่จะมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวแทนได้ จำเลยกล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นไม่บันทึกคำเบิกความของโจทก์ตามที่ทนายจำเลยถามด้านอันเป็นการกล่าวอ้างว่าศาลพิจารณาผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา27ดังนั้นคู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าเวลาใดก่อนที่คำพิพากษาแต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตามวรรคสองของมาตรา27ดังกล่าวจำเลยมิได้ยื่นคำคัดค้านภายใน8วันนับแต่วันที่จำเลยทราบจำเลยจึงยกปัญหาดังกล่าวขึ้นโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2527 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์4,500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยจะทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกัน ต่อมาวันที่ 7พฤศจิกายน 2529 จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์อีก 2,860,000 บาท โดยจดทะเบียนขึ้นจำนองเป็น 7,360,000 บาท จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จนถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2528 หลังจากนั้นไม่ได้ชำระอีก โจทก์จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลย จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2530 แต่เพิกเฉยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน10,405,199 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 7,360,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลอดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า จำเลยและห้างหุ้นส่วนจำกัดโชคชัยอุตสาหกรรมมันสำปะหลังขอนแก่น กู้ยืมเงินจากโจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 10,000,000 บาท โดยแยกทำเป็นสัญญาจำนอง 3 ฉบับ ในการกู้ยืมเงินดังกล่าวโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด จำเลยและห้างหุ้นส่วนจำกัดโชคชัยอุตสาหกรรมมันสำปะหลังขอนแก่น ได้ชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงเรื่อยมา คงค้างชำระดอกเบี้ยเฉพาะระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2527 ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2527 เป็นเงิน804,750 บาท โจทก์นำเงินจำนวนนี้มาเป็นต้นเงินและคิดดอกเบี้ยทบต้นล่วงหน้าเป็นเวลา 1 ปี 11 เดือน คิดเป็นเงินดอกเบี้ย 972,679 บาทนอกจากนี้โจทก์ยังคิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน 10,000,000 บาท ล่วงหน้าไปอีก 2 ปี 2 เดือน คิดเป็นเงินดอกเบี้ย 6,500,000 บาท รวมเป็นเงินดอกเบี้ยทั้งหมด 7,472,679 บาท โจทก์ได้เฉลี่ยเงินดอกเบี้ยดังกล่าวให้จำเลยและห้างหุ้นส่วนจำกัดโชคชัยอุตสาหกรรมมันสำปะหลังขอนแก่นขึ้นวงเงินจำนวนครั้งที่ 1 ตามสัญญาจำนองทั้งสามฉบับดังนี้วงเงิน2,000,000 บาท เป็น 3,125,000 บาท วงเงิน 3,500,000 บาทเป็น 7,000,000 บาท และวงเงิน 4,500,000 บาท เป็น 7,360,000 บาทการขึ้นเงินจำนองจาก 4,500,000 บาท เป็น 7,360,000 บาท จำเลยไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว ทั้งนี้เพราะยอดเงินจำนวนทั้งสองคราวโจทก์ได้รวมเข้ากับดอกเบี้ยที่เกินอัตราตามกฎหมาย ดอกเบี้ยทบต้นและดอกเบี้ยที่คิดล่วงหน้าดังกล่าวแล้ว การคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือนของโจทก์ขัดต่อกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่เคยทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองกับโจทก์ ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นเอกสารปลอม โจทก์มิได้บอกกล่าวบังคับจำนองด้วยตนเองและระยะเวลาที่กำหนดในหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นเวลาที่ไม่สมควร การบอกกล่าวบังคับจำนองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 7,360,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 3,045,199 บาท ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 5851 และ 12425 ตำบลเมืองเก่าอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,500,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในวันจดทะเบียนขึ้นเงินจำนอง จำเลยไม่ได้รับเงินจากโจทก์ แต่เป็นการที่โจทก์นำเงินดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาขึ้นเป็นเงินจำนองครั้งที่ 2 การคิดดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการคิดเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหนี้ดอกเบี้ยดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะแต่เนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จึงคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224วรรคหนึ่ง ส่วนการบอกกล่าวบังคับจำนองนั้น ตามหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองซึ่งจำเลยได้รับเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2530ได้กำหนดให้นำเงินมาชำระเพื่อเป็นการไถ่ถอนจำนองภายใน15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งการขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 2มีกำหนด 1 ปี โดยครบตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2529 แล้ว จำเลยมีเวลาที่จะนำเงินไปไถ่ถอนจำนองมาเป็นเวลานานแล้ว ที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระเงินเพื่อไถ่ถอนจำนองภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น นับว่าเป็นเวลาอันสมควรแล้ว ส่วนการบอกกล่าวนั้นไม่มีกฎหมายบังคับว่าเป็นการเฉพาะตัว โจทก์ชอบที่จะมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวแทนได้ และที่จำเลยกล่าวอ้างว่า ศาลชั้นต้นไม่บันทึกคำเบิกความของโจทก์ตามที่ทนายจำเลยถามค้านอันเป็นการกล่าวอ้างว่าศาลพิจารณาผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ดังนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าเวลาใดก่อนที่คำพิพากษาแต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตามวรรคสองของมาตรา 27 ดังกล่าว จำเลยซึ่งทราบถึงการพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่วันที่โจทก์เบิกความดังกล่าว แต่มิได้ยืนคำคัดค้านเสียภายในแปดวันนับแต่วันที่จำเลยทราบ การยื่นคำร้องลงวันที่ 10 สิงหาคม 2535 ก็ดีหรือคำร้องลงวันที่ 22 ตุลาคม 2535 ก็ดี ต่างล่างเลยระยะเวลาดังกล่าวมาแล้ว จำเลยจึงจะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share