คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6018/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องด้วยวาจาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา3 เมื่อตามบันทึกการฟ้องด้วยวาจาที่ศาลบันทึกกับบันทึกการฟ้องด้วยวาจาที่โจทก์ส่งต่อศาลได้ความว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันมีถ่านไม้อันเป็นของป่าหวงห้ามจำนวน 643 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองเพื่อการค้า เป็นการระบุข้อเท็จจริงที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิด แล้วหาจำต้องแนบสำเนาพระราชกฤษฎีกาและประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ เพราะไม่ใช่สาระสำคัญอันทำให้ฟ้องด้วยวาจาไม่สมบูรณ์ คำฟ้องของโจกท์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2545 เวลากลางวันจำเลยทั้งสามร่วมกันมีถ่านไม้ อันเป็นของป่าหวงห้าม จำนวน 643 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองเพื่อการค้า โดยจำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลทุ่งคลอง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 27, 29 ทวิ, 71 ทวิ, 74, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 29 ทวิ, 71 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับคนละ 3,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 เพราะไม่แนบสำเนาพระราชกฤษฎีกากำหนดของป่าหวงห้าม และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องกำหนดปริมาณของป่าหวงห้ามที่ให้ค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าหรือมีไว้ในครองครองเพื่อใช้สอยในครัวเรือนแห่งตน โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ นั้น เห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแขวง และโจทก์ฟ้องด้วยวาจาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ซึ่งให้ศาลบันทึกไว้แต่ใจความแห่งคำฟ้องเท่านั้น หาจำต้องบันทึกไว้โดยละเอียดไม่ และก่อนศาลบันทึกฟ้องดังกล่าว ศาลอาจจะสอบถามโจทก์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ ที่จำเลยกระทำความผิดได้ แต่ก็จะบันทึกไว้เฉพาะข้อความสำคัญ ส่วนบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ก็เป็นส่วนหนึ่งของฟ้องด้วยวาจาเท่านั้น เมื่อพิจารณาใจความที่ศาลบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ประกอบกับบันทึกการฟ้องด้วยวาจาที่โจทก์ส่งต่อศาลได้ความว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันมีถ่านไม้อันเป็นของป่าหวงห้ามจำนวน 643 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองเพื่อการค้า เป็นการระบุข้อเท็จจริงที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิดแล้ว ทั้งได้ระบุสถานที่ที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จำเลยทั้งสามจะเข้าใจข้อหาได้ และจำเลยทั้งสามก็ให้การรับสารภาพตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยทั้งสามเข้าใจข้อหาได้ดี หาจำต้องแนบสำเนาพระราชกฤษฎีกาและประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฎีกาไม่เพราะไม่ใช่สาระสำคัญอันทำให้ฟ้องด้วยวาจาไม่สมบูรณ์ คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share