คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีเมื่อมีการผิดสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเพียงริบค่าเช่าซื้อที่รับไว้กับเรียกร้องทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น จะเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอีกด้วยมิได้ จะเรียกได้อีกก็แต่เพียงเป็นค่าเสียหายที่ผู้เช่าซื้อได้ใช้ทรัพย์ของผู้ให้เช่าซื้ออยู่ตลอดเวลาที่ผู้เช่าซื้อครอบครองทรัพย์ที่เช่าซื้ออยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม กับค่าเสียหายเพราะเหตุอื่นอันผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบนอกเหนือไปจากค่าเสียหายอันเกิดแต่การใช้ทรัพย์นั้นโดยชอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 562 เท่านั้น
คำฟ้องโจทก์เรียกร้องมาเป็นค่าเช่าซื้อค้างชำระ แต่เมื่อคำฟ้องบรรยายมาว่าโจทก์บอกกล่าวทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระโดยเป็นฝ่ายผิดนัดโจทก์ได้รับความเสียหายพอถือได้ว่า โจทก์เรียกร้องเป็นค่าเสียหายฐานที่จำเลยใช้ทรัพย์ของโจทก์มาตลอดเวลาที่จำเลยยังครอบครองทรัพย์ของโจทก์อยู่ ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายได้ และค่าเสียหายเช่นนี้ศาลอาจกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรได้
การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพราะการที่ผู้เช่าซื้อใช้ทรัพย์ของผู้ให้เช่าซื้ออยู่ตลอดเวลาที่ยังคงครอบครองทรัพย์ของผู้ให้เช่าซื้ออยู่มีอายุความเรียกร้อง 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ 1 คัน ชำระราคาในวันทำสัญญาแล้ว 10,000 บาท ที่เหลือจะชำระให้เป็นงวด ๆ ละเดือน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยปฏิบัติตามสัญญาเพียง 2 งวดแล้วไม่ชำระให้อีกเลย คงค้างอีก 93,000 บาท โจทก์ทวงเตือนจำเลยทั้งสองให้ชำระแล้วหลายครั้งก็ไม่ชำระให้ ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินที่ค้างและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องกับดอกเบี้ยต่อไปจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า ทำสัญญาเช่าซื้อชำระเงินให้โจทก์ไปตามจำนวนและระยะเวลา และทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องจริงในระหว่างเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ยินยอมส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้กับตัวแทนของโจทก์รับมอบคืนไปแล้ว และจำเลยที่ 1 แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อนับแต่วันส่งมอบรถยนต์แล้ว สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นอันเลิกแล้วต่อกันแต่นั้นมา จำเลยที่ 2 ย่อมพ้นภาระที่จะต้องรับผิดใด ๆ ต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยเพราะไม่มีมูลหนี้ต่อกันแล้ว มูลหนี้ตามสัญญาเกิดจากการให้เช่าสังหาริมทรัพย์เพื่อเอาค่าเช่า อายุความฟ้องร้องมีเพียง 2 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

วันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็น 3 ข้อ คือ 1. สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีอยู่หรือเลิกไปแล้ว 2. จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อพร้อมทั้งดอกเบี้ยดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ 3.คดีขาดอายุความหรือยังและโจทก์แถลงรับว่า โจทก์ได้รับรถยนต์รายพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2507 อันถือว่าได้เลิกสัญญาเช่าซื้อกันแต่วันนั้น โจทก์คงขอเรียกร้องเฉพาะค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนส่งมอบรถดังกล่าวเป็นเวลา 7 เดือนเดือนละ 5,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยบรรดาค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหาย รวมทั้งดอกเบี้ยภายหลังวันที่ 24 สิงหาคม 2507 ขอสละทั้งหมด แล้วโจทก์จำเลยไม่สืบพยาน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้อ 7 เดือน พร้อมทั้งดอกเบี้ย แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6) ซึ่งมีอายุความเพียง 2 ปีพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ว่า ต้องใช้อายุความตามมาตรา 164 คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีโจทก์เข้ามาตรา 166 ตอนท้าย จึงยังไม่ขาดอายุความ พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินและดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีเมื่อมีการผิดสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อมีสิทธิเพียงริบค่าเช่าซื้อที่รับไว้กับเรียกร้องทรัพย์ที่เช่าซื้อคืน จะเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างอีกมิได้จะเรียกอีกได้ก็แต่เพียงค่าที่ผู้เช่าซื้อได้ใช้ทรัพย์ของผู้ให้เช่าซื้อมาตลอดระยะเวลาที่ผู้เช่าซื้อครอบครองทรัพย์ของผู้ให้เช่าซื้ออยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรค 3 และหากทรัพย์ที่คืนมาเสียหายเพราะเหตุอื่นอันผู้เช่าซื้อต้องรับผิดนอกเหนือไปจากค่าเสียหายอันเกิดแต่การใช้ทรัพย์โดยชอบ ผู้ให้เช่าซื้อยังเรียกได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1195/2511 คดีระหว่าง บริษัท ร.ส.พ.ยานยนต์ จำกัด โดยพลโทจิตต์ สุนทานนท์ กรรมการผู้จัดการ กับพวก โจทก์ นายสุผลิต อ่ำพันธ์ กับพวก จำเลย ปัญหาเรื่องอายุความเรียกร้องค่าเช่าซื้อตามที่จำเลยฎีกามาจึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องเสียแล้ว

แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะเรียกร้องมาเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างไม่ได้เรียกร้องเป็นค่าเสียหายฐานผิดสัญญา แต่ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์กล่าวว่า โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โดยเป็นฝ่ายผิดนัดโจทก์ได้รับความเสียหาย จึงพอถือได้ว่าโจทก์ได้เรียกค่าเสียหายฐานใช้รถอันเป็นทรัพย์ของโจทก์มาตลอดเวลาที่จำเลยยังครอบครองรถของโจทก์อยู่ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายได้ โดยเฉพาะคดีนี้ศาลเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้อัตราเดือนละ 3,000 บาท

การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ภายในอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

พิพากษายืน

Share