คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานจับคนเพื่อสินไถ่ ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา270 แก้ไขเมื่อ พ.ศ.2477 ย่อมสำเร็จบริบูรณ์ตั้งแต่ขณะที่จำเลยจับกุมพาบุคคลไปโดยใช้กำลังขู่เข็ญให้ไปด้วยความกลัว แม้ยังมิได้รับเงินค่าไถ่เลยก็ตาม
คำวิเคราะห์ศัพท์ว่าสินไถ่ในกฎหมายลักษณะอาญานั้น เป็นคำหมายแสดงลักษณะของคำว่าสินไถ่มิใช่องค์บัญญัติแห่งความผิด
สินไถ่หรือสินจ้างไม่จำเป็นว่าต้องให้ตอบแทนทันทีในขณะที่ปล่อยคนที่ถูกจับเสมอจะให้ก่อนปล่อยหรือภายหลังการปล่อยก็ได้ ความหมายอันสำคัญเพียงว่าเป็นสินจ้างหรือสินไถ่ เพื่อแลกเปลี่ยนกับคนที่ถูกจับกลับคืนมาเท่านั้น

ย่อยาว

คดีทั้ง 4 สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นได้พิจารณารวมกัน ได้ความตามฟ้องว่า จำเลยสมคบกับพวกที่ยังจับตัวไม่ได้ มีปืนเป็นศาสตราวุธจับตัวนายโน๊ะ นายแป้น นายแหม่ม นายริด และบังคับขู่เข็ญทำร้ายร่างกาย และกักขังและเรียกค่าไถ่จากคนทั้ง 4 คน ๆ รับว่าจะนำเงินไปให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยกับพวกจึงปล่อยตัวไป แล้วคนทั้ง 4 นั้นได้นำเงินจำนวน 3,300 บาทไปให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นสิ้นไถ่ขอให้ลงโทษ

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 270และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2477 (ฉบับที่ 4)มาตรา 3 จำคุกจำเลย 15 ปี

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 พยานโจทก์เบิกความมีเหตุสงสัย ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลย คดีส่วนตัวจำเลยที่ 1 นั้นแม้จำเลยจะได้รับเงิน 3,300 บาทจากคนทั้ง 4 ก็ดีไม่ใช่สินไถ่ตามกฎหมาย เพราะจำเลยกับพวกได้บังคับให้คนทั้ง 4 รับสัญญา และปล่อยตัวไปก่อนรับเงิน ความผิดของจำเลยต้องด้วยกฎหมายบทอื่น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 3 พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์

ศาลฎีกาเห็นว่าความผิดฐานจับคนเพื่อสินไถ่ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 270 แก้ไขเมื่อ พ.ศ. 2477 ย่อมสำเร็จบริบูรณ์ในขณะที่จำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือพาผู้เสียหายไป ไม่ใช่ขณะที่รับเงินสินไถ่สินจ้างหรือสินไถ่ ไม่จำเป็นว่าต้องให้ตอบแทนทันทีในขณะที่ปล่อยคนถูกจับเสมอ จะให้ก่อนปล่อยหรือภายหลังการปล่อยก็ได้ ความหมายอันสำคัญเพียงว่าเป็นสินจ้างหรือสินไถ่เพื่อแลกเปลี่ยนคนที่ถูกจับกลับคืนมา จำเลยคดีนี้ได้ปล่อยผู้เสียหายก่อนได้รับสินไถ่ แต่ได้เรียกร้องหรือตกลงเรื่องสินไถ่กันไว้ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยรับเงินของผู้เสียหายก็รับในฐานสินจ้าง เพื่อแลกเปลี่ยนกับคนที่ถูกจับกลับคืนมานั่นเอง ความผิดของจำเลยจึงต้องด้วยมาตรา 270 วรรค 2 และ มาตรา 272 ทวิ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำคุกจำเลยคนละ 15 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 ตามมาตรา 272 ตรีคงจำคุกคนละ 10 ปี

Share