คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2340/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยนำแถบบันทึกเสียงที่ผู้ชายพูดกับผู้หญิงในลักษณะของการให้สัมภาษณ์เป็นใจความว่าผู้เสียหายได้ลักลอบได้เสียกับพระภิกษุ ช. เจ้าอาวาสวัดจอมบึงซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอ มาเปิดให้บุคคลอื่นฟังที่บ้าน อ.และส. ซึ่งมิใช่ที่สาธารณสถาน เป็นทำนองปรึกษาหารือกันว่าควรจะดำเนินการอย่างใดเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ต่อพระพุทธศาสนา และหาทางขจัดความมัวหมองในพระพุทธศาสนาให้สิ้นไป หากพระภิกษุ ช. กระทำผิดจริงก็ควรจะสึกออกไป หากไม่จริงก็เอาผิดกับผู้พูดเรื่องนี้และต่อมา ได้มีการร้องเรียนต่อศึกษาธิการอำเภอจอมบึงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของพระภิกษุ ช. และได้มีบันทึกเสนอต่อตามลำดับจนกระทั่งถึงเจ้าคณะภาคฝ่ายมหานิกาย จังหวัดราชบุรีเพื่อสอบหาข้อเท็จจริง จึงถือได้ว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาใส่ความผู้เสียหายให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชังหรือเสียหายแต่เป็นการกระทำในการแสดงข้อความโดยสุจริตด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำตามป.อ. มาตรา 329(3) ทั้งนี้เพื่อขจัดข่าวลือในทางที่จะทำให้พุทธศาสนาเสื่อมหมดสิ้นไป จำเลยไม่มีความผิด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ประกอบมาตรา 328 จำคุกสำนวนละ 6 เดือน และปรับ 1,500บาท รวม 2 สำนวน จำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาท รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่ตามฟ้อง จำเลยได้นำแถบบันทึกเสียงที่ผู้ชายพูดกับผู้หญิงในลักษณะของการให้สัมภาษณ์เป็นใจความว่า ผู้เสียหายได้ลักลอบได้เสียกับพระภิกษุชมเจ้าอาวาสวัดจอมบึงซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอมาเปิดให้นางแอ๊ด มหาทรัพย์ นางละออ จันทร และนางอำฟังที่บ้าน นางละออและเปิดให้นางละม่อม ศิริเอก กับนางเฟื้อ อัมพรสินธุ์ ฟังที่บ้านนายสนอง ยอดครู มีปัญหาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่เห็นว่าจำเลยนับถือศาสนาพุทธ มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอจอมบึง เป็นรองประธานลูกเสือชาวบ้าน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาตำบลจอมบึงด้านการก่อสร้างถนนและพัฒนาท้องที่ และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายหรือพระภิกษุชม ทั้งลักษณะของการเปิดแถบบันทึกเสียงของจำเลยก็ไม่ได้เปิดในที่สาธารณสถาน แต่เปิดที่บ้านนางละออและนายสนองเป็นทำนองปรึกษาหารือกันว่าควรจะดำเนินการอย่างใดเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ต่อพระพุทธศาสนาและหาทางขจัดความมัวหมองในพระพุทธศาสนาให้สิ้นไป จนกระทั่งจำเลยได้รับคำแนะนำจากนายลอยซึ่งเป็นครูว่าหากพระภิกษุชมกระทำผิดจริงก็ควรจะสึกออกไปหากไม่เป็นความจริงก็เอาผิดกับนางสาคร มหาทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้พูดเรื่องนี้ ต่อมาวันที่ 6สิงหาคม 2529 ซึ่งเป็นเวลาหลังเกิดเหตุเพียง 3 วัน นางสาครมหาทรัพย์ ซึ่งเป็นเจ้าของเสียงในแถบบันทึกเสียงได้ไปร้องเรียนด้วยวาจาต่อนายจเร มาลาวงศ์ ศึกษาธิการ อำเภอจอมบึงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของพระภิกษุชมไปในทำนองชู้สาว นายจเรได้ทำบันทึกตามคำร้องเรียนเสนอนายอำเภอจอมบึงผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี แล้วเสนอต่อเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะภาค จนกระทั่งถึงเจ้าคณะภาคฝ่ายมหานิกายจังหวัดราชบุรีเพื่อสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป จึงถือได้ว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาใส่ความผู้เสียหายให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชังหรือเสียหาย แต่เป็นการกระทำในการแสดงข้อความโดยสุจริตด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน ย่อมกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (3) ทั้งนี้เพื่อขจัดข่าวลือในทางที่จะทำให้พุทธศาสนาเสื่อมหมดสิ้นไปจำเลยไม่มีความผิด…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share