คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6004/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ปรากฏว่าการย้ายภาระจำยอมจากทางพิพาทเดิมไปยังที่ดินในโฉนดเลขที่ 24612 ของจำเลยที่ 5ทำให้ความสะดวกของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ลดน้อยลงประการใดบ้าง เพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ ว่าการย้ายภาระจำยอมดังกล่าวทำให้ความสะดวกของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ลดน้อยลงเท่านั้น และทางที่เปิดเป็นภาระจำยอมขึ้นใหม่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 24612 ก็ปรากฏว่าเป็นทางเชื่อมต่อกับที่ดินว่างเปล่าพื้นเทคอนกรีตในที่ดินโฉนดเลขที่ 1157 ของจำเลยที่ 1 ออกสู่ถนนโดยสะดวก ทั้งจำเลยที่ 1ก็ดำเนินการปลูกสร้างตึกแถวรุกล้ำเข้ามาในทางพิพาทเดิมตั้งแต่ปี 2525 หากทางพิพาทเป็นทางที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ผ่านเข้าออกโดยสะดวกอยู่ก่อนแล้วโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ก็น่าจะรีบดำเนินการฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 ระงับการก่อสร้างตึกแถวรุกล้ำทางพิพาทในเวลาอันสมควร แต่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ก็เพิ่งมาฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2527 โดยมีโจทก์ที่ 3 ร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม และโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยที่ 5ถึงที่ 10 มาเป็นจำเลยร่วมในภายหลังซึ่งเป็นเวลาหลังจากเริ่มทำการก่อสร้างตึกแถวนานถึง 2 ปี และเป็นเวลาหลังจากทำการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งเป็นเวลาหลังจากโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ไปแล้วอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าทางพิพาทที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ผ่านเข้าออกมาแต่เดิมนั้นไม่ใช่ทางที่ผ่านเข้าออกโดยสะดวก ถือได้ว่าการย้ายภาระจำยอมจากทางพิพาทเดิมไปยังที่ดินในโฉนดเลขที่ 24612 ของจำเลยที่ 5 ไม่ทำให้ความสะดวกของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ลดน้อยลง นอกจากนี้ก็ปรากฏว่าตึกแถวที่รุกล้ำเข้ามาในทางพิพาทกว้างประมาณ 3 ถึง 4 เมตร จำนวนตึกแถวที่รุกล้ำเข้ามาก็มีถึง 12 คูหา ซึ่งเห็นได้ว่าหากมีการรื้อตึกแถวในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาทุกคูหาย่อมเกิดความเสียหายมากการย้ายภาระจำยอมดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 และเป็นการเหมาะสมแก่พฤติการณ์อีกด้วย

Share