คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6000/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 (ก) ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 ฟ้องข้อ 2 (ข) ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267 และ พ.ร.บ.บัตรประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ฟ้องข้อ 2 (ค) ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (3) โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตามกฎหมายและบทมาตราดังกล่าวด้วย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องทุกข้อหา แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267 เท่านั้น จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง การปรับบทลงโทษจำเลยเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจพิพากษาปรับบทลงโทษครบถ้วนและถูกต้องโดยมิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 137, 267, 91 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 พระราชบัญญัติประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ลงโทษจำคุก 6 เดือน ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ลงโทษจำคุก 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ 2 (ก) เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 (ที่ถูก มาตรา 50 วรรคสอง) ซึ่งเป็นความผิดสำเร็จในวันดังกล่าวแล้วกรรมหนึ่ง ตามฟ้องข้อ 2 (ข) เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกรรมเดียวกันต้องลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) และตามฟ้องขอ 2 (ค) เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (3) ซึ่งตามมาตรา 14 วรรคสอง ให้ลงโทษตาม (3) แต่กระทงเดียว กรณีไม่อาจลงโทษจำเลยตามฟ้องเพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) และ (3) วรรคสองอีกด้วยการกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ 2 (ข) (ค) ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติบัตรประชาชน จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า…ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองมีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 (ก) ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 ฟ้องข้อ 2 (ข) ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ฟ้องข้อ 2 (ค) ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (3) โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตามกฎหมายและบทมาตราดังกล่าวด้วย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องทุกข้อหาแต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 เท่านั้น จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสองการปรับบทลงโทษจำเลยเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีอำนาจพิพากษาปรับบทลงโทษครบถ้วนและถูกต้อง โดยมิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share